ข่าว

10 ประเด็นร้อนบทบาท 'ประธานสภาฯ' คีย์แมนคุมเกมโหวต 'พิธา' นั่งนายกฯ คนที่ 30

10 ประเด็นร้อนบทบาท 'ประธานสภาฯ' คีย์แมนคุมเกมโหวต 'พิธา' นั่งนายกฯ คนที่ 30

21 มิ.ย. 2566

ที่ผ่านมาคนทั่วไปมักไม่ให้ความสนใจบทบาท 'ประธานสภาฯ' ว่าตำแหน่งนี้ความสำคัญอย่างไรต่อการบริหารประเทศ แต่หลังจาก พรรคก้าวไกลส่งสัญญาณขอตำแหน่ง ประมุขฝ่ายนิบัญญัติ ทำให้เก้าอี้นี้ถูกจับตามากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทหลักในการคุมเกมโหวต 'พิธา' นั่ง นายกฯ คนที่ 30

 

1) ประธานสภาฯ มาจาก สส.ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าจะต้องมาจาก สส.ฟากรัฐบาล ในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ก็จะต้องมาจาก 8 พรรคร่วม และเหตุผลที่ตำแหน่ง ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มีความสำคัญก็เพราะจะมีบทบาทหลักในกระบวนการโหวตเลือก "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" นั่ง นายกฯคนที่ 30 นั่นเอง 

 

2) ที่มาของนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องได้เสียงจากสมาชิกรัฐสภา เพราะฉะนั้นในกระบวนการนี้จะต้องมีประธานรัฐสภามาทำหน้าที่นี้ (การประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีประธานรัฐสภาทำหน้าที่) ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมาจากพรรคตัวเองเท่านั้น ซึ่ง ณ เวลานี้ดูเหมือนล่าสุด (21 มิ.ย.) การต่อรองระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ในการกำหนดตัวประธานสภาฯ ยังไม่ลงตัว

 

ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย

 

3) แม้ก่อนนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ชัด เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทยขอตำแหน่งรองประธานสภา ทั้ง 2 คน โดยมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาตอกหมุดย้ำประเด็นนี้เพื่อให้ได้ข้อยุติ และการจัดตั้งรัฐบาลจะได้เดินหน้าต่อไปได้ 

 

4) ผ่านมา 4 วัน สถานการณ์ป่วนอีก โดยการประชุม สส. 141 คน ของพรรคเพื่อไทยในหัวข้อ "เพื่อไทยเปิดใจ เพื่ออนาคตไทย"  เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ปรากฏว่า สส.ของพรรคส่วนใหญ่กว่า 90% ที่เข้าร่วม เห็นว่า เก้าอี้ประธานสภาฯ ควรอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะได้ สส.น้อยกว่าพรรคก้าวไกลเพียง 10 เสียงเท่านั้น แต่การประชุมครั้งนี้ไร้เงาของ สุชาติ ตันเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะเป็นม้ามืดคว้าเก้าอี้ประธานสภาฯ โดยมีคนนอกพรรคร่วมให้การสนับสนุน 

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ สส.พรรคก้าวไกล แคนดิเดตประธานสภาฯ

 

5) สองพรรคหลักจะต่อรองกันนานแค่ไหนก็ตาม แต่ไทม์ไลน์การเปิดประชุมสภาฯ ถูกกำหนดคร่าวๆ เพื่อเลือกประธานสภาฯ แล้ว รวมถึงวันที่จะโหวตนายกฯ คนที่ 30 โดยล่าสุดมีรายงานว่า แคนดิเดตผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกลมีอยู่ 4 คน คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อายุ 42 ปี จบการศึกษาสัตวแพทย์ จุฬาฯ คนต่อมา ธีรัจชัย พันธุมาศ อายุ 59 ปี ปริญญาโทนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง คนที่ 3 ณัฐวุฒิ บัวประทุม อายุ 46 ปี จบปริญญาโทนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง และ พริษฐ วัชรสินธุ อายุ 30 ปี จบปริญญาโทปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์จอห์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด  

 

 

6) ว่ากันตามคุณสมบัติและการทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา คนในพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจำนวนไม่น้อยเห็นว่าคนที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือ "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา ซึ่งที่ผ่านมา "หมออ๋อง" เคยสร้างเซอร์ไพรส์ในการ เลือกตั้งเมื่อปี 2562 หลังจากคว้าชัย สส.พิษณุโลก เขต 1 ด้วยคะแนนเสียง 35,579 คะแนน ล้ม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นอดีต สส. 3 สมัย ซึ่งครั้งนั้นได้ไปเพียง 18,613 คะแนน 

 

สุชาติ ตันเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

 

7) การทำหน้าที่ สส.ในสภาของ "หมออ๋อง" ถือเป็น "สตาร์" ของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะการตีแผ่โครงการกู้บ้านพักทหาร ซึ่งเป็นต้นตอของเหตุการณ์กราดยิงโคราช โศกนาฏกรรมที่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนไหนออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งยังได้อภิปรายในอีกหลายประเด็นร้อน เช่น การปฏิรูปกองทัพ

 

 

8) อย่างไรก็ตาม การโหวตเลือกประธานสภาฯ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 ก.ค. ที่จะถึงนี้ บางพรรคการเมืองได้ส่งสัญญาณว่าจะต้องฟรีโหวต ซึ่งแน่นอนว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะจะกระทบความเชื่อมั่นของรัฐบาลหรือพรรคร่วม 8 พรรค หรืออาจเกิดความหวาดระแวงต่อกัน เพราะในฐานะคนร่วมรัฐนาวาเดียวกัน อาจทำให้รัฐบาลพิธาเกิดสะดุดไม่ราบรื่นได้ (ทุกวันนี้ก็ใช่ว่าจะราบรื่น)

 

 


9) ย้อนมาส่องบทบาทของประธานสภาฯ ที่จะทำหน้าที่ประธานรัฐสภานั้นสำคัญตรงที่การโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องได้เสียงหนุนมาจาก 2 สภา หรือต้องได้เสียงจาก สว.ด้วย โดยเสียงรวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผู้ทำหน้าที่กำหนดกติกาในการโหวตอยู่ที่คนทำหน้าที่ประธาน เพราะต้องเข้าใจว่า ถึงเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า สว. 250 เสียง จะเทใจมายกมือสนับสนุนให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯ สักกี่เสียง

 

 

10) หาก "พิธา" ได้เสียงโหวตรอบแรก (สส.+สว.) ไม่มากพอ หรือไม่ถึง 376 เสียง เกมการโหวตจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ถ้าประธานสภาฯ มาจากพรรคอื่น พรรคก้าวไกลจะถูกเบี้ยวกลางสภาหรือไม่ หรือไม่มั่นใจการคุมเกมเพื่อเปิดทางให้มีการโหวต "พิธา" รอบสอง นอกจากนั้นต้องชิงไหวชิงพริบเพื่อแก้เกมไม่ให้สมาชิกป่วน ซึ่งทราบกันดีว่า การป่วนสภาของบรรดา สส.นั้นเป็นของคู่กันที่เห็นกันจนชินตา  

 

 

นอกจากประธานสภาฯ มีหน้าที่คุมเกมในสภาแล้ว บทบาทที่สำคัญมากไม่แพ้กันก็คือ การกำหนดวาระการประชุม หรือการมีอำนาจผลักดันวาระสำคัญของพรรคหรือของพรรคร่วมรัฐบาล เช่น การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นที่เร่งด่วน หรือนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่นตามที่หาเสียงไว้ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างประเทศด้านต่างๆ 

 

 

...นี่คือความสำคัญของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

 

ที่มา:
ข้อมูล : https://web.parliament.go.th/view/7/nationalassembly/TH-TH
https://www.ilaw.or.th/node/6541