ข่าว

‘สืบพงษ์’ แถลงกลับนั่งเก้าอี้ ‘อธิการ ม.ร.’ หลังศาลสั่งคุ้มครอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' นำทีมผู้บริหารแถลงกลับนั่งเก้าอี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง หลังศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองระงับมติ สภา ม.ร.ปลดพ้นตำแหน่ง ศาลชี้ไม่เปิดโอกาสชี้แจง อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

14 ก.พ. 2566 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ม.ร.) ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แถลงข่าวศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากเหตุการณ์ที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง(สภา ม.ร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ด้วยข้อกล่าวหาว่าประพฤติผิดจริยธรรมและ

 

จรรยาบรรณในพฤติการณ์ กรณี คือ 1.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ให้ความช่วยเหลือนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการรับโอนที่ดินจากนายสุพจน์ จำนวน 2 แปลง และกล่าวอ้างว่าเงินของนายสุพจน์ที่ถูกยึดเป็นของกลางส่วนหนึ่ง คือเงินจำนวน 4,500,000 บาทนั้นเป็นเงินของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ 

 

เมื่อมีคำพิพากษาให้ที่ดินและเงินของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ ตกเป็นของแผ่นดิน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ไม่ได้รายงานให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นต้นสังกัดทราบ สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าเป็นการประพฤติผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2562 และเข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยจรรยาบรรณข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้าง ม.ร. รวมถึง ผิดพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ.2547

 

2.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ใช้คุณวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. มาสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่มีฐานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาแต่แรก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดจริยธรรม และ

 

 3.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ขาดไร้จริยธรรมและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

ผศ.ดร. สืบพงษ์ ปราบใหญ่ นำทีมผู้บริหารแถลงกลับนั่งเก้าอี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง

ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ พร้อมทีมผู้บริหารแถลงกลับนั่งเก้าอี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ในการประชุมครั้งนั้นมีมติถอดถอนอธิการบดี และแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีอุปนายกสภามหาวิทยาลัย (ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย ลงนามหนังสือแต่งตั้งดังกล่าว และได้เพิกถอนสัญญาจ้าง ผศ.ดร.สืบพงษ์ จากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามมา

 

ศาลมีความเห็นว่า กรณีสภามีมติถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่ง ควรต้องให้โอกาสเจ้าตัวได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน จึงเป็นการกระทำที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากมีมติพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข ผศ.ดร.สืบพงษ์ จะเสียโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง การทุเลาการบังคับของศาลในกรณีนี้จะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือแก่บริการสาธารณะ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย

 

นอกจากนี้ศาลยังมีความเห็นว่า การแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี น่าจะไม่ขอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ ผศ.ดร.สืบพงษ์ โดยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี อีกทั้งศาลเห็นว่า ผศ.ดร.สืบพงษ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีได้ต่อไป

 

ศาลจึงได้มีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี และแต่งตั้งผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งทุเลาการบังคับคำสั่งการถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ผศ.ดร.สืบพงษ์ ระบุว่า ภายหลังศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฎบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ม.รามคำแหง จึงได้นำคำสั่งศาลดังกล่าวแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทราบแล้ว รวมถึงแจ้งให้ที่ประชุมสภา ม.ร.ทราบ เพื่อกลับมาปฎบัติหน้าที่อธิการบดี ม.ร.ตามเดิม 

 

แต่ปรากฎว่า สภา ม.ร. ได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่าไม่สามารถปฎิบัติตามคำสั่งศาลได้เนื่องจากก่อนหน้านี้สภา ม.ร.ได้มีมติเลิกจ้างตนเองจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้วเป็นเหตุให้ตนเองไม่สามารถเป็น อธิการบดี ม.ร. ได้ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครอง จึงได้แจ้งไปยังศาลปกครองทราบเพื่อมีคำสั่งต่อไป

 

“การที่ สภา ม.ร. ไม่ปฎบัติตามคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครอง ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเสียหาย ถ้าไม่ยอมรับคำสั่งศาลก็ควรไปใช้กระบวนการศาลในการยื่นอุทธรณ์ ผมยืนยันจะกลับมาปฎิบัติหน้าที่พร้อมกับรองอธิการและผู้บริหาร ม.รามคำแหง ที่ผมแต่งตั้งขึ้น เพื่อเดินหน้าพัฒนาองค์กรต่อไป” ผศ.ดร.สืบพงษ์ กล่าว

 

ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ