วันนี้ (1 ตุลาคม 2564) "บิ๊กป้อม" พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และลุ่มน้ำลำเชียงไกร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย
โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ บริเวณก่อสร้างอาคารบังคับน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง
"พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโดยเร่งด่วน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบภัยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วม จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.โชคชัย และ อ.ด่านขุนทด และ อ.เมือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนัก ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง จ.นครราชสีมา
โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งครอบคลุมเขตพื้นที่ อ.ด่านขุนทด อ.พระทองคำ อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง ที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างลำเชียงไกรตอนล่างซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเพิ่มเติมจากเดิม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ข้อมูล 30 ก.ย.64) อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 90.7% ของความจุ ลดลงจากเมื่อวาน โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและทางระบายน้ำล้นรวม 4.3 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.87 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24.82% ของปริมาณความจุ มีระดับน้ำลดลง โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 5.75 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออก 13.8 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำจะลดลง และพื้นที่ท้ายอ่างฯ ที่ได้รับผลกระทบก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 5 วัน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ซึ่งกรมชลประทานยืนยันว่า ก่อนสิ้นสุดฤดูฝนนี้จะสามารถเก็บกักน้ำที่ยังไหลมาจากอ่างฯ ลำเชียงไกรตอนบนได้อีกไม่น้อยกว่า 60% ของความจุหรือคิดเป็น 18 ล้าน ลบ.ม.
ที่สำคัญยังสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเร่งสำรวจผลกระทบและความเสียหายเพื่อเร่งจ่ายค่าชดเชยโดยเร็ว
สำหรับ จ.นครราชสีมา อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบน ซึ่งสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำมีความลาดชันสูง เสี่ยงทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมทันที เนื่องจากลำน้ำรับปริมาณน้ำได้จำกัด
อีกทั้งมีการตื้นเขินของลำน้ำตลอดจนการบุกรุกลำน้ำและสภาพการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป
ในส่วนปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เงาฝนใน อ.ประทาย อ.โนนแดง อ.สีดา อ.บัวลาย อ.พระทองคำ อ.ขามสะแกแสง อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.พระทองคำ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง