Lifestyle

“ฮั่นป้าน”การรุกคืบทางด้าน"ภาษา"ของจีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับตั้งแต่ชูนโยบายเปิดประเทศในปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา จีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์จากการเป็นคอมมิวนิสต์แบบเดิมๆ ที่เคยปิดตัว มาเป็นการเปิดกว้างเพื่อติดต่อทำการค้ากับประเทศต่างๆ

 อย่างเสรีมากขึ้น โดยแผ่ขยายขอบเขตให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น แทรกซึมไปเกือบทั่วทุกมุมโลก ด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ไม่ธรรมดา จีนจึงผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างรวดเร็ว จนบรรดานานาประเทศต่างหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อความมาแรงของจีนกันเป็นแถว

รัฐบาลจีนมิได้มุ่งเดินหน้าพัฒนาเพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ได้เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ เพราะตระหนักดีว่าภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้าน

ฮั่นป้าน คือกลไกการรุกคืบทางด้านภาษาของจีนที่น่าจับตามองมากที่สุด ณ เวลานี้

ฮั่นป้าน (Hanban) หรือ Confucius Institute Headquarters (สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน) เป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของกระทรวงการศึกษาของจีน มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในต่างประเทศ โดยการประสานงานผ่านสถานเอกอัครราชทูตจีน และกระทรวงการศึกษาของประเทศนั้นๆ

ภารกิจที่สำคัญของฮั่นป้าน คือ จัดตั้งสถาบันการสอนภาษาจีนในต่างประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมหาวิทยาลัย เรียกว่า “สถาบันขงจื่อ” ส่วนระดับพื้นฐาน เรียกว่า “ห้องเรียนขงจื่อ” ปัจจุบัน

 ทั่วโลกมีสถาบันสอนภาษาจีนของฮั่นป้านถึง 96 ประเทศ เป็นสถาบันขงจื่อ 322 แห่ง ห้องเรียนขงจื่อ 369 แห่ง และกำลังจะขยายออกไปอีกจำนวนมาก สำหรับไทยมีสถาบันขงจื่อแล้ว 12 แห่ง ห้องเรียนขงจื่ออีก 11 แห่ง ห้องเรียนขงจื่อแห่งแรกของโลกก่อตั้งขึ้นที่เมืองไทยเมื่อปี พ.ศ.2549 ที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ย่านเยาวราชนี่เอง โดย พระเทพภาวนาวิกรม (ท่านเจ้าคุณธงชัย) รองเจ้าอาวาสวัดไตรมิตร เป็นประธาน

 ห้องเรียนขงจื่อคนแรกของโลก

หลังการจัดตั้งสถาบันดังกล่าว ฮั่นป้านคอยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อาทิ ส่งครูและอาสาสมัครจากจีนไปสอนภาษาจีนทั่วโลก ส่งผู้บริหารฝ่ายจีนไปดูแลควบคู่กับผู้บริหารฝ่ายไทย สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งด้านเอกสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ห้องเรียนคอมพิวเตอร์  อิเล็กทรอนิกส์บอร์ด เครื่องดนตรี ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนต่างชาติไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของจีน จัดประชุมผู้บริหาร “สถาบันขงจื่อ” และ “ห้องเรียนขงจื่อ” ทุกปี เชิญครูผู้สอนภาษาจีนจากประเทศต่างๆ ไปฝึกอบรมที่จีนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ทุนสนับสนุนในด้านอื่นๆ อีกมากมายทั้งด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ฯลฯ

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณสนับสนุนอย่างมหาศาลแบบไร้เทียมทาน เพื่อให้ประชากรโลกหันมาเรียนภาษาจีนและสามารถสื่อสารด้วยภาษาจีนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และจีนก็ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ในไทยจากปีแรกๆ มีผู้เรียนภาษาจีนทั่วประเทศ (ทั้งสถาบันฮั่นป้านและสถานศึกษาทั่วไปที่เปิดสอนภาษาจีน) เพียง 5 หมื่นคน เพียง 5 ปีให้หลัง มาบัดนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนคนเข้าไปแล้ว หากจีนไม่เดินสะดุดอะไรไปเสียก่อน อนาคตข้างหน้าภาษาจีนคงจะมีอิทธิพลต่อโลกสูงมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ภาษาของตน ภาษาไทยก็มีชาวต่างชาติให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเพื่อธุรกิจการค้า ในขณะที่เรากำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภูมิภาค การเผยแพร่ภาษาไทยของเราเองน่าจะมีความสำคัญด้วยเช่นกัน

0 ภัทณิดา  พันธุมเสน 0 รายงาน
 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ