คอลัมนิสต์

การเมืองไทยในวิกฤติโควิด 19 (1)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความพิเศษ โดย ทวี สุรฤทธิกุล

          การเมืองคือการแบ่งสรรประโยชน์สุขเพื่อสังคม

          เมื่อการเมืองฉ้อฉลด้วยการกอบโกยเอาประโยชน์ต่างๆ ไปเสียหมด และยิ่งมาฉ้อฉลในยามวิกฤติ ก็จะยิ่งทำให้ผู้คนมองเห็นแต่ภัยอันตรายของการเมือง จนถึงขั้นมองว่าการเมืองคือ “ตัวหายนะแห่งชาติ” ที่สุดสังคมก็จะเกิดกลียุค “ไม่มีใครยอมใคร” หมดสิ้นไปทั้งความเป็นชาติและชีวิตของผู้คนในชาตินั้น

 

 

         

          ข่าวฉาวโฉ่ทางการเมืองในตอนที่วิกฤติโควิด-19 เริ่มมีความรุนแรงขึ้นในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์นั้นก็คือ ข่าวผู้ใกล้ชิดนักการเมือง(ที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่าต้องมีนักการเมืองนั่นแหละเกี่ยวข้องด้วย) มีการกักตุนและค้ากำไรจากการขายหน้ากากอนามัย ตามมาด้วยข่าวมีผู้ติดเชื้อโควิดจากผับในซอยทองหล่อ และจากการจัดการแข่งขันชกมวยในสนามมวยลุมพินี ที่เรียกคนทั้งสองกลุ่มนี้ว่า “Super Spreader” จากนั้นก็เป็นข่าวที่รัฐบาลพยายามจะจัดการแก้ไขปัญหาด้วยความนุ่มนวลเป็นขั้นเป็นตอน เพราะกลัวว่าประชาชนจะแตกตื่น จนกระทั่งพวกหมอทนไม่ไหวต้องไปอ้อนวอนให้รัฐบาลใช้ความเด็ดขาด จึงเริ่มมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนกระทั่งมีการประกาศเคอร์ฟิวในที่สุด และข่าวล่าสุดที่ฉาวโฉ่มากๆ ก็คือข่าวการปล่อยตัวคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา โดยที่ข่าวทั้งหมดนี้ได้แสดงถึง “ความเลวร้ายและความไร้ประสิทธิภาพ” ของระบบการเมืองไทยนี้อย่างสิ้นเชิง

          ในข่าวที่มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกักตุนและเก็งกำไรหน้ากากอนามัย (ล่าสุดมีข่าวเรื่องกระทรวงสาธารณสุขอาจจะ “มีนอกมีใน” ในเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยอนุมัติให้แก่บริษัทที่ใกล้ชิดกับนักการเมืองและหมอในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 3 บริษัทที่สามารถนำเข้าได้ ในขณะที่มีการยื่นขอนำเข้ามากว่า 20 บริษัท) ย่อมเป็นข่าวที่ตอกย้ำถึงความเลวร้ายเน่าเหม็นของนักการเมืองและระบบการเมืองไทย แล้วยิ่งยังไม่มีใครจัดการกับเรื่องนี้ให้เป็นที่กระจ่าง ก็ยิ่งจะทำให้สังคมไทยคิดเชื่อไปอีกว่า ผู้มีอำนาจไม่กล้าที่จะจัดการอะไรกับนักการเมืองด้วยกัน เพียงเพื่อจะเลี้ยงนักการเมืองเลวๆ พวกนี้ไว้ค้ำจุนอำนาจของตนเท่านั้น (บางคนบอกว่าเดี๋ยวเขาก็จะจัดการ รอให้พ้นวิกฤติโควิดนี้ก่อน ตอนนี้ไม่ควรจะ “ฆ่าขุนพลกลางศึก” แต่บางคนก็บอกว่านักการเมืองแบบนี้ไม่เรียกว่าขุนพลหรอก แต่น่าจะเรียกว่า “ขุนไม่ขึ้น” คือเนรคุณและทรยศต่อประเทศชาติ)

          สำหรับข่าวนายทหารฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาลในการจัดชกมวยที่สนามมวยลุมพินี กระทบกระเทือนต่อสถานะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะท่านขึ้นมามีอำนาจและยังสืบทอดอำนาจมาได้นี้ก็ด้วยการค้ำจุนของกองทัพและบรรดานายทหารทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อนายทหารทำผิด แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้เอาใจใส่เร่งรัดจัดการในเรื่องนี้ ก็ทำให้มีผู้มองไปได้ว่านายกรัฐมนตรีทำงานแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” คือด้วยความเกรงอกเกรงใจคนในกองทัพ (ถึงแม้ว่าจะมีนายทหารที่รับผิดชอบบางนายป่วยอยู่ แต่ก็สามารถสอบสวนเอาผิดคนอื่นๆ ไปก่อนได้ คล้ายกับคดีอาญาทั่วๆ ไป ที่ศาลสามารถตัดสินผู้กระทำความผิดในคดีที่กระทำร่วมกันแยกเป็นรายๆ ได้) ที่สุดก็จะเข้าอีหรอบเดิม คือทำให้สังคมไทยเชื่อว่าทหารคืออภิสิทธิชน ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในเวลาต่อไปอย่างแน่นอน รวมถึงข่าวที่การปล่อยตัวคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 3 เมษายน ที่ก็เป็นการ “ขยายแผล” กระชากการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ที่กล้าละเมิดกฎหมายในภาวะวิกฤตินี้ อันเริ่มจากความไม่พอใจที่มีคนจำนวนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวไปกักกันที่บ้าน นำความไม่พอใจมาสู่คนที่เหลือนับร้อยที่ถูกกักตัวและจะต้องถูกไปกักกันยังสถานที่ต่างๆ ที่ใดก็ไม่รู้ แม้ว่าวันรุ่งขึ้นจะมีการติดตามตัวผู้คนที่ถูกปล่อยไปให้กลับมารับการกักกันได้ทั้งหมด พร้อมกับมีการสอบสวนการกระทำผิดนั้นด้วย แต่ก็มีหลายคนมองข้ามช็อตไปเลยว่า คงหาคนที่ทำความผิดไม่ได้ และสุดท้ายก็จะ “เงียบเป็นเป่าสาก” เหมือนคดีที่เกี่ยวกับคนมีสีทั้งหลาย 

 

 

       

          ผู้เขียนยกกรณีข่าวต่างๆ ขึ้นมานี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” หรือ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นประเด็นของการต่อสู้ทางการเมืองไทยที่สำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ “ความอยุติธรรมทางสังคม” (หรือความพยายามที่จะเรียกให้ดูเบาขึ้นว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม”) ซึ่งความจริงในวิกฤติโควิด-19 นี้ยังมีอีกมาก เป็นต้นว่า กรณีการเยียวยาผู้คนที่ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาท ด้วยวิธีการที่ยุ่งยากแต่หละหลวมไม่น่าเชื่อถือ ในขณะที่หลายๆ ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เขาให้อย่างเปิดเผยเผยตรงไปตรงมา หรือกรณีมาตรการในแต่ละจังหวัดที่ยังแตกต่างกัน ต่างคนต่างทำงาน รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นนั้น ซึ่งล้วนแต่แสดงถึง “ความกระพร่องกระแพร่งของอำนาจรัฐ” ที่บังคับใช้ไม่ทั่วถึง อันมีสาเหตุสำคัญมาจากความเข้าใจที่สับสน (หรือตั้งใจที่จะไม่เข้าใจก็มี) ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายนั้นตามมา

          สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเปราะบางต่อความไม่เท่าเทียมกันนี้เป็นอย่างมาก บางคนบอกว่าเป็นเพราะคนไทยมีความอิจฉาตาร้อนกันอยู่เป็นปกติ เมื่อเห็นใครได้อะไรก็อยากได้บ้าง และยิ่งถ้าหากมีใคร “ได้ดีกว่า” ก็ยิ่งจะทนไม่ได้นั่นเลยทีเดียว ดังนั้นการที่ในภาวะที่สังคมมีวิกฤติเดือดร้อน แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์หรือได้รับการยกเว้นที่จะไม่ต้องเดือดร้อนเหมือนคนอื่น ก็จะทำผู้คนหันมาจับจ้องว่า “คนพวกนี้ (คนมีสีและผู้มีอำนาจ) มีอะไรวิเศษหรือ จึงได้อยู่เหนือกฎหมายและความทุกข์ร้อนทั้งปวง” และนี่ก็คือ “ระเบิดเวลา” ที่รอปะทุ ที่อาจจะระเบิดสังคมไทยออกเป็นชิ้นๆ อีกครั้งก็ได้

          ในวิกฤติโควิด-19 ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่สะท้อนออกมาให้เห็น จนถึงขั้นว่าอาจจะต้องมีการ “พลิกโฉม” การเมืองไทย ซึ่งจะขอนำเสนอในสัปดาห์ต่อไป

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ