ข่าว

เชื้อล้มล้าง ‘พิธา-ก้าวไกล’ สารตั้งต้น ‘ยุบพรรค’ ตัดสิทธิการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มติเอกฉันท์ศาลรัฐธรรมนูญฟัน พิธา-ก้าวไกล พฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง สารตั้งสู่คดียุบพรรค และผิดจริยธรรมตัดสิทธิทางการเมือง

ฉากทัศน์อันตราย พิธา-ก้าวไกล เผชิญวิบากยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง หลังศาลชี้มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง


ไฟต์บังคับผู้ถืออำนาจ เหตุก้าวไกลซ่อนกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน แม้จะมีบทเรียนอนาคตใหม่ ยิ่งตียิ่งโต แต่กลุ่มอนุรักษนิยม ก็ถอยไม่ได้


ในที่สุด องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ได้มีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการของพรรคก้าวไกล ทั้งยื่นเสนอกฎหมายแก้ไข ม.112 และรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชูนโยบายแก้ไข ม.112 ว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกกระทำ การพูด การเขียน การแสดงออกวิธีอื่นให้ยกเลิก ม.112 และไม่ให้แก้ไข ม.112 ที่ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ
 

สรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ หรือล้มล้างการปกครอง  ซึ่งขัดบท บัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง พร้อมสั่งพรรคก้าวไกลหยุดการกระทำดังกล่าว


ในมุมนักกฎหมายมหาชน พรรคก้าวไกล ยังมีอีกวิบากการเมืองที่รออยู่เบื้องหน้าอีก 2 ด่าน 


ด่านแรก ‘คดียุบพรรค’ ซึ่ง ธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความ ในฐานะผู้ร้องในคดีนี้ ยื่นคำร้องรอไว้แล้วที่ กกต.


ด่านที่สอง ‘คดีจริยธรรมร้ายแรง’ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 โดยคดีนี้จะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะเป็นผู้พิจารณา หากมีความผิดก็จะส่งศาลฎีกาพิจารณาความผิดต่อไป

ฉากทัศน์ยุบพรรค
เมื่อมติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พฤติการณ์ของพิธาและพรรคก้าวไกลในเรื่องการแก้ไข 112 เข้าข่ายเป็นการกลั่นเซาะ บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ


พรรคก้าวไกล ก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมทางการเมืองอีก 2 คดีที่ส่งสัญญาณอันตรายแก่พรรค และ สส.จำนวนหนึ่ง


1.คดียุบพรรค ฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล จะไปยื่นต่อ กกต. เพื่อให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ที่บัญญัติว่า 


“หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”


สำหรับคดีล้มล้างการปกครองที่อาจนำไปสู่การยื่นยุบพรรคก้าวไกล อาจเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีอื่นๆ 


เช่นคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า


“สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิป ไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ย่อมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย”


หรือคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563  ศาลวินิจฉัยว่า


“การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะเกินควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ”

 

ฉากทัศน์ผิดจริยธรรมร้ายแรง
2.คดีผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง มาตรา 235 


ฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล อาจจะมีการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงพฤติการณ์ของ สส.ก้าวไกล ว่า เซาะกร่อน บ่อนทำลาย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดพิธา และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ว่า กระทำการขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 


เนื่องจากมีการเขียนไว้ในข้อ 5 ที่ระบุว่า ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อ 6 ต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ 


เทียบเคียงคดีที่ พรรณิการ์ วานิช ถูกร้องกรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันฯ ก่อนที่ ป.ป.ช. จะมีมติเอกฉันท์ชี้มูลเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 ว่า  ช่อ พรรณิการ์  ผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ 


จากนั้น ป.ป.ช.ยื่นศาลฎีกาวินิจฉัยคดีดังกล่าว กระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า พรรณิการ์ ผิดฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย โดยให้ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป


 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ