ข่าว

ส่อง 'มรส.' ในอีก 5 ปี ต้องก้าวสู่ 'วิศวกรสังคมมืออาชีพ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่อง ‘มรส.’ในอีก 5 ปี ต้องก้าวสู่ ‘วิศวกรสังคมมืออาชีพ’ แนะปรับมายเซ็ททั้งระบบ ครู หลักสูตร อุปกรณ์การสอน กระตุกจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อร่วมพัฒนาสังคม ให้มีความสุขที่ยั่งยืน อย่าลืม ครูไม่เก่งเด็กไม่เก่ง

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หรือ มรส. สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนระดับฐานรากมากที่สุด ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จะผลิตบัณฑิตในอนาคตอย่างไรให้ตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านกินดีอยู่ดีและมีความสุขที่ยั่งยืน 

 

‘คมชัดลึก’ พาไปไขปริศนาจากหลากหลายคำถาม ที่ได้รับคำตอบจาก นายธีรพล ขุนเมือง หนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) และ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน(รง.)

 

ถาม : มรส.มีอัตลักษณ์สำคัญด้านไหน

ตอบ: ด้านที่สำคัญคือวิศวกรสังคม และในอนาคต มุ่งสู่วิศวกรสังคมมืออาชีพ หมายความว่า ต่อไปมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นความคาดหวังของสังคมโดยเฉพาะชาวใต้ในการสร้างคนที่มีคุณภาพ ให้มีความรู้แล้วสามารถออกไปทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา ซึ่งสิ่งนี้

เป็นสิ่งจำเป็นของทุกมหาวิทยาลัย เพราะมีศักยภาพเพียงพอและมีความพร้อมมาก ๆ ซึ่งคิดว่าเป็นที่คาดหวังของชาวใต้ และถ้าเกิดภาคอื่นเห็นว่ามาเรียนที่นี้แล้วมีคุณภาพจะทำให้คนภาคอื่น ๆ ก็อยากมาเรียนส่งผลให้มีนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น

 

ถาม: อีก 5 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยควรปรับตัวอย่างไรให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง

ตอบ: ต้องใช้ตลาดนำในการเรียน เมื่อเรียนแล้วมีงานทำ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ เมื่อนักศึกษาจบไปแล้วไม่ตกงาน ดังนั้นมรส.จึงจำเป็นผลิตบัณฑิตให้เป็นวิศวกรสังคมมืออาชีพ คือปฏิบัติได้ คิดเก่ง สื่อสารเยี่ยม ประสานงานดีและมีคุณธรรม และ มหาวิทยาลัยนี้มีจุดเด่นสำคัญคือมีการเปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ซึ่งเป็นความโดดเด่นที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ มีโครงการ กศ.บท. ข้อนี้สำคัญเพราะมหาวิทยาลัยต้องอยู่คู่กับชุมชนท้องถิ่น ดังนั้นมรส.ต้องพัฒนาคนในชุมชนให้มีคุณภาพ

นายธีรพล ขุนเมือง หนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมรส.

ส่อง 'มรส.' ในอีก 5 ปี ต้องก้าวสู่ 'วิศวกรสังคมมืออาชีพ'

ถาม: ข้อกังวลของมหาวิทยาลัยในสถานการณ์ปัจจุบันคือ อะไร

ตอบ: จำนวนนักศึกษาจะลดน้อยลง ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรไม่ให้นักศึกษาลดน้อยลงมากกว่าเดิม ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัย โดยต้องปรับ Mindset ในทุกด้าน

 

‘ครู’ ต้องเน้นด้านจิตวิญญาณของความเป็นครู เน้นการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อให้เมื่อนักศึกษาจบไปแล้วสามารถปฏิบัติงานได้ 

 

‘หลักสูตร’ ต้องปรับให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด "

 

‘เครื่องมือ-อุปกรณ์’ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน โดยการสร้างเครือข่ายกับสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือจากสถานประกอบการจริง และต้องนำวิธีการสหกิจศึกษาเข้ามาใช้อย่างเข้มข้นเพราะเราต้องเน้นปฏิบัติจริงทำงานจริง เพราะบางคนเน้นแต่ทฤษฎี อาจต้องมีการปรับ ในเชิงปฏิบัติ 70 เปอร์เซ็นต์ และ ทฤษฎี 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องไปเรียนยังสถานประกอบการ เช่น โรงงาน เพราะเมื่อจบออกมาถ้ามีผลงานดีอาจได้ทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ ได้เลย

 

‘นักศึกษา’ การพัฒนาทักษะให้แก่นักศึกษาต้องเน้นการมีทักษะที่หลากหลาย (Multi skill) มหาวิทยาลัยต้องมีวิธีที่ทำให้ในแต่ละคณะสามารถเรียนโดยใช้หลักสูตรร่วมกันได้ เช่น เป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์แต่ก็สามารถเรียนรู้วิชาของคณะนิติศาสตร์ไปได้ด้วย เพราะในชีวิตจริงไม่ได้ใช้แค่ด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสังคมสมัยใหม่ และสถานประกอบการส่วนใหญ่จะยอมรับนักศึกษาที่มีความสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะทักษะทางด้านภาษาต้องเน้น ภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยว และทักษะทางด้านเทคโนโลยีต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและให้นักศึกษาใช้งานได้จริง

 

‘การวิจัย’ มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไรให้การวิจัยมีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริงสามารถจับต้องได้ เช่น ไปช่วยเหลือทำผลิตภัณฑ์ชุมชนวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มชาวบ้านต่างๆ ไปช่วยชุมชนโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าของการจำหน่ายจากทุนเดิมและสามารถเพิ่มผลกำไรและลดต้นทุนให้ชาวบ้านเป็นต้น และต้องแสวงหาความร่วมมือทุนของการวิจัยจากภายนอกด้วย

 

‘บริการวิชาการ’ จากพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี มรส.ต้องทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่า มรส. ทำให้ชาวบ้านกินดีอยู่ดี ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์และให้แต่ละคณะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการเพื่อสร้างมูลค่าหรือเพิ่มมูลค่าของศิลปวัฒนธรรมให้มากขึ้น

 

‘การพัฒนาบุคลากร’ ข้อนี้สำคัญมาก เพราะมหาวิทยาลัยจะก้าวเดินไม่ได้เลยถ้าบุคลากรขาดขวัญและกำลังใจ เพราะฉะนั้นมรส.ต้องมีการพัฒนาการเรียนการสนับสนุนทุกสายงาน ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาการหรือสายสนับสนุนในด้านการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นรวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะสวัสดิการต้องดีและเหมาะสม 

 

‘การรับนักศึกษา’ หากมีการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะจะทำให้นักศึกษาได้เตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย เหมือนเป็นการปูพื้นฐานไปในตัว ที่สำคัญที่สุดบุคลากรครูต้องพัฒนาตนเองก่อนเพื่อจะไปสอนเด็กนักศึกษาให้เก่ง “ถ้าครูไม่เก่งเด็กไม่เก่ง” เรื่องนี้สำคัญมากครูต้องได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

 

“ครูไม่ใช่สอนแบบเดิมๆ 10 ปีที่ผ่านมา สอนแบบไหนก็แบบนั้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักศึกษาได้ และมหาวิทยาลัยทุกแห่งก็ต้องเน้นเรื่องนี้ มิใช่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เล่นพรรคเล่นพวกไม่มองถึงบุคลากรที่มีความรู้เป็นสำคัญ”

 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หรือ มรส. ตั้งอยู่ที่ 272 ถนนสุราษฎร์-นาสาร ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84100 

 

มีนักศึกษาจำนวน กว่า 14,000 คน อาจารย์ 509 คน บุคลากรสายสนับสนุน 300 คน

ส่อง 'มรส.' ในอีก 5 ปี ต้องก้าวสู่ 'วิศวกรสังคมมืออาชีพ'

ส่อง 'มรส.' ในอีก 5 ปี ต้องก้าวสู่ 'วิศวกรสังคมมืออาชีพ'

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

....กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง

logoline