ข่าว

'หมอระวี' จี้นายกฯ กลางสภาสางปัญหา 'มสธ.' ไม่ต้องรอกลับเข้ามาสมัยหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘หมอระวี’ จี้นายกฯ ให้ใช้อำนาจเร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อแก้ไขปัญหา ‘มสธ.’ ไม่ต้องรอกลับเข้ามาสมัยหน้า ย้ำต้องไม่ทิ้งปัญหาธรรมาภิบาลไว้ข้างหลัง

พรรคร่วมฝ่านค้านเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.2566 ปรากฏว่าในการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ มีการสส.หยิบหยกประเด็นความไม่ชอบมาพากล ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ขึ้นมาอภิปรายฯอย่างออกรส

 

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 ถึงการบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี ที่ไร้ปัญหาความไร้ธรรมาภิบาลของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กรณี นายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา มสธ. กรรมการสภา มสธ. และคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน มสธ. มีมติเห็นชอบ และดำเนินการนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจำนวน 5,500 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน มสธ.นำเงินไปลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย, บลจ.กรุงไทย และ บลจ.บัวหลวง ไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนี้

 

1. มสธ.ไม่มีอำนาจนำเงินไปลงทุน เพราะมาตรา 11 และ 12 แห่งพระราชบัญญัติ มสธ.2521 ไม่ได้ให้อำนาจ มสธ. นำเงินไปลงทุน

 

2. มสธ.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เนื่องจาก มสธ.เองเป็นฝ่ายมีหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 และกรมบัญชีกลาง ตอบกลับมาว่า ในส่วนของการจ้างบริษัทเงินทุนจัดการเงินทุนของ มสธ. ย่อมที่จะขอความเห็นชอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก่อนดำเนินการ แต่ มสธ.กลับไม่ดำเนินการตามหนังสือของกรมบัญชีกลาง

 

3. ประวัติของประธานคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย เคยทํางานและเกี่ยวพันกับบริษัททางธุรกิจหรือสถาบันการเงินหลายแห่งจนถึงปัจจุบัน ความเกี่ยวพันนี้ อาจมีผลทําให้กระบวนการพิจารณาตัดสินใจนำเงิน มสธ. ไปลงทุนโดยไม่เป็นกลาง และอาจมีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน หรือไม่

 

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า นายกสภา มสธ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ คือ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ข้าราชการสังกัดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมสธ. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ยังคงทำงานทั้งที่จุฬาฯ และที่ มสธ. จึงมีคำถามว่า การแต่งตั้งให้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา มาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดี มสธ. ได้มีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร มีการแจ้งขอยืมตัวกับหน่วยงานใด ใครเป็นผู้ขอยืมตัว และมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร มีการกำหนดระยะเวลาในการขอยืมตัวเป็นไปตามแนวปฏิบัติการยืมตัวข้าราชการไปช่วยราชการที่ถูกต้อง หรือไม่ ที่สำคัญ ได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)แล้วหรือยัง

 

“มสธ. ที่ไม่มีอธิการบดีตัวจริง มานานกว่า 5 ปี แล้ว ทั้งๆ ที่มีการสรรหาได้ผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่เสร็จนานแล้ว แต่ทว่า สภา มสธ. ไม่ยอมเสนอชื่อส่งต่อให้อว.โดยอ้างว่า ให้รอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อน หากแต่กรณีนี้ศาลไม่คุ้มครองชั่วคราว อีกทั้งผู้ได้รับการสรรหาไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องร้องใดๆ เลย เหตุใดอว.จึงเพิกเฉย ละเลย ล่าช้า ไม่เข้าไปแก้ไขปัญหา มสธ. โดยเร็ว เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่”

 

รัฐบาลจะครบวาระ 4 ปีแล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ได้เลยกับ มสธ. ถึงแม้จะมีแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.เป็นผู้ลงนามแล้ว

 

"ผมขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจและหน้าที่ สั่งการ เร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทันที ไม่ต้องรอกลับเข้ามาสมัยหน้า แล้วค่อยมาแก้ปัญหา โดยท่านต้องไม่ทิ้งปัญหาธรรมาภิบาล มสธ.ไว้ข้างหลัง"นพ.ระวี อภิปรายฯทิ้งท้าย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ