ข่าว

ไทยตายจากโควิด ต่ำกว่าทั่วโลก 4 เท่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรค เผย สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น และไทยมีอัตราการตายจากไวรัสมรณะนี้ ต่ำกว่าทั่วโลกถึง 4 เท่า ชี้ตลาดถือเป็นหนึ่งจุดเสี่ยงแพร่โรค ย้ำต้องใส่หน้ากากฯ ล้างมือบ่อยๆ กินร้อนช้อนกลาง และเว้นระยะห่างทางสังคม

 

                   วันที่ 17 เม.ย. 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง สถานการณ์โควิด-19 ในไทย อยู่ในระดับที่ดีขึ้นเล็กน้อย

                   อ่านข่าว ไทยติดเชื้อเพิ่ม 28 ราย ติดเชื้อสะสม 2,700 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาในโรงพยาบาลไม่ถึงพัน

 

 

 

                   ส่วนผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับ อัตราการป่วยตายจากโรคโควิด-19 ในไทย สะสม 47 ราย สัดส่วนการป่วยเสียชีวิต เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ถึง 4 เท่า โดยอัตราการป่วยตาย ของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ขณะที่อัตราการป่วยตายของนานาชาติ อยู่ที่ร้อยละ 6 ซึ่งสูงกว่าไทยถึง 4 เท่า

                   หากแยกกลุ่มอายุ พบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 70 ขึ้นไป มีอัตราการป่วยตาย ร้อยละ 12.1 ถือเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแล ปกป้อง หากเกิดการติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง ร้อยละ 4 ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 3.7 กลุ่มอายุ 60-69 ปี ร้อยละ1 กลุ่มอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 0.6 กลุ่มอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 0.2 กลุ่มอายุ 20-29 ปี

                   สำหรับผู้ป่วยที่รักษาหาย เบื้องต้นแพทย์จะทำการรักษาอาการก่อน 7 วัน หากอาการดีขึ้น แต่ยังมีเชื้อ จะย้ายไปยังรพ.สนาม เพื่อเฝ้าสังเกตอาการต่อจนครบ 14 วัน หรือจนกว่าจะไม่พบเชื้อ หากหายดี สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ แต่เมื่อออกไปยังภายนอก ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยฯ ปฏิบัติตามมาตราการต่างๆ จนครบ 1 เดือน

                   ส่วนกรณีการติดเชื้อโควิด-19 จากถุงพลาสติกหิ้วของนั้น นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุว่า มีความเป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อสัมผัสแล้วต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันที เช่นเดียวกับการสัมผัสพื้นผิวอื่นๆ

                   ขณะที่การติดเชื้อจากบุคลากรทางการแพทย์ ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 99 ราย มีสาเหตุจากการติดเชื้อในการดูแลผู้ป่วย 28 ราย หรือร้อยละ 73.68 จากการสัมผัสเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาล 6 ราย หรือร้อยละ 15.79 จากการซักประวัติคัดกรองผู้ป่วย 1 คน หรือร้อยละ 2.63 และไม่สามารถระบุสาเหตุได้ 3 ราย หรือรายละ 7.89

 

 

 

                   ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ 2 ทางซึ่งมากกว่าประชาชนทั่วไป คือ มาจาการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยที่ไม่ระบุว่ามีความเสี่ยงหรือมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสม และเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ต้องคำนึงถึงเหมือนประชาชนทั่วไป เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ และงดการทานอาหารร่วมกัน

                   ขณะนี้ มีผู้ที่ถูกให้อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดไว้ให้ ขณะนี้มีอยู่ 598 ราย แบ่งเป็น กทม. 462 ราย ต่างจังหวัด 136 ราย

                   ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย ยังคงยืนยันที่ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยฯ และวันนี้ถือเป็นแรก ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำกว่า 1,000 รายในโรงพยาบาล

                   นอกจากนี้ยังได้มีการทำข้อมูลจากการสำรวจผู้ที่ไปตลาด ส่วนใหญ่คนที่ไปจ่ายตลาด มีประมาณร้อยละ 41.22 อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี โดยตลาดถือเป็นหนึ่งจุดเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรค

                   ซึ่งจากการสำรวจตลาด 300 แห่ง พบว่ามีมาตรการในการควบคุมโรค เช่น ให้ทุกคนที่จะเข้าตลาดต้องสวมหน้ากากอนามัยฯ และขอย้ำ เราคนไทย ต้องตั้งการ์ดให้เป็นนิสัย คือ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อนช้อนกลาง เน้นมาตรการระยะห่างทางสังคม จะเป็นการ์ดคุมโรคชั้นดีของสังคมไทย

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ