คอลัมนิสต์

ขอเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเสี่ยงจิกปีกพวกกันเอง โดย รามจักร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการพิจารณาพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษว่าจะให้มีการอภัยโทษทุกข้อหาความผิดหรือจะยกเว้นข้อหาความผิดใดก็ได้ ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดยรามจักร

 

ได้อ่านร่างคำร้องที่กำลังจะเข้าชื่อกันยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว มีข้อกล่าวหา 2 ข้อ


(1) กล่าวหาว่าพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่ปี 2560 ทุกฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญ


(2) กล่าวหาว่าการกำหนดนักโทษว่าคนไหนจะเป็นนักโทษชั้นใดไม่ชอบและขัดกับรัฐธรรมนูญ


ข้อกล่าวหาตาม (2) เป็นข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบ เป็นความผิดทางอาญาที่ต้องร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วแต่กรณี ไม่ใช่เป็นกรณีขัดรัฐธรรมนูญ
 

 

คงเหลือข้อกล่าวหาว่าพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับตั้งแต่ปี 2560 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งบทมาตราที่อ้างนั้นไม่ใช่กฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินอาจไม่รับคำขอหรือถ้ารับคำขอส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจยกคำขอเสียตั้งแต่ชั้นแรกหรือจะวินิจฉัยยกคำขอก็ได้

 

ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาตามที่กล่าวหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบนั่นคือคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาและบัญชีความผิดที่จะให้มีการอภัยโทษ การที่คณะรัฐมนตรีทำผิดรัฐธรรมนูญจะมีผลประการใดก็ดูรัฐธรรมนูญกันเอาเอง


คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการพิจารณาพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษว่าจะให้มีการอภัยโทษทุกข้อหาความผิดหรือจะยกเว้นข้อหาความผิดใดก็ได้ ดังเช่นก่อนการยึดอำนาจ 2557 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษจะมีบทมาตราระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ไม่มีผลต่อคดีความผิดฐานผิด พ.ร.บ.ยาเสพติดหรือความผิดในคดีทุจริตหรือความผิดในคดีข่มขืนแล้วฆ่าเป็นต้น

 

ถ้าพระราชกฤษฎีกามีเจตนารมณ์เช่นนั้น นักโทษที่ต้องคดีความผิดดังกล่าวก็จะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่ว่าจะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมหรือชั้นไหนก็ตาม


พระราชกฤษฎีกาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นได้ตราขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น

 

เมื่อไม่มีบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกายกเว้นว่าผู้กระทำความผิดฐานความผิดใดจะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษก็ต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีมีเจตนาให้มีการอภัยโทษทุกข้อหาความผิดรวมทั้งคดีทุจริตเกี่ยวกับการจำนำข้าวด้วย


และในพระราชกฤษฎีกานั้นก็ได้บัญญัติไว้ด้วยว่านักโทษชั้นใดจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในอัตราส่วนเท่าใดของโทษที่จะต้องได้รับ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น
 

เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับแล้วทางเรือนจำก็ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานั้น คือ ตรวจดูว่านักโทษชั้นใดจะได้รับพระราชทานอภัยโทษเท่าใด คงเหลือโทษเท่าใด ก็เป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรมที่ตราขึ้นในปี 2562
 

ถ้าหากมีกรณีที่มีการกำหนดชั้นนักโทษที่เป็นนักโทษชั้นดีหรือชั้นเยี่ยมเร็วเกินไปหรือไม่ ปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับปัญหากฎหมาย แต่เป็นปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ราชการในการประเมินผลนักโทษแต่ละระยะว่าจะได้รับเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นหรือไม่อย่างไร

 

ถ้าการพิจารณาจัดชั้นเป็นไปโดยทุจริตหรือโดยไม่ชอบก็เป็นความผิดทางอาญาเฉพาะตัวของเจ้าพนักงานนั้น ๆ ไม่มีผลกระทบต่อพระราชกฤษฎีกาให้ต้องถูกเพิกถอนแต่ประการใด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ