"นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี" เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกถึงความพร้อมในการดำเนินตามนโยบายยกระดับ "30 บาทรักษาทุกโรค" ของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" ว่า รมว.สธ.ได้มอบนโยบายการใช้ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" (รักษาทุกที่) เป็น 1 ในนโยบาย Quick Win ที่สามารถดำเนินการได้ในไม่ช้า หรืออาจเร็วกว่า 100 วันแรก
นโยบายรักษาทุกที่โดยอาจมีการนำร่องในบางพื้นที่ก่อน หากยังไม่สามารถดำเนินการได้พร้อมกันในทั่วประเทศ
ทั้งนี้ นโยบายรักษาทุกที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมระหว่างระบบบริการ กับระบบการสนับสนุนงบประมาณของ สปสช. และสิ่งสำคัญคือการบูรณาการระบบฐานข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลการเข้ารับบริการ เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการที่ใดแล้ว ข้อมูลก็จะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบ ทำให้เมื่อประชาชนเข้าใช้บริการครั้งต่อไปในหน่วยบริการอื่นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ ขณะที่ สปสช. ก็จะนำข้อมูลมาประมวลในส่วนที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อเร่งดำเนินการให้โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยนั้นเกิดความมั่นใจ
"นพ.จเด็จ" บอกต่อว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการนำร่องการเข้ารับบริการรักษาได้ทุกที่ในระบบปฐมภูมิมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบริการปฐมภูมิด้วยเช่นกัน โดยจากข้อมูลย้อนหลังพบว่ามีประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเขตจังหวัดประมาณร้อยละ 20 หรือที่ออกไปนอกเขตสุขภาพเลยนั้นมีเพียงร้อยละ 4
"ข้อกังวลรักษาทุกที่ที่บอกว่า หากเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ แล้วประชาชนจะไปโรงพยาบาลใหญ่กันทุกคน เราค่อนข้างมั่นใจว่าความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีประเด็นเรื่องของค่าเดินทาง ที่บางครั้งอาจยังสูงกว่าค่ารักษาพยาบาล เชื่อว่าทุกคนคงไม่ได้อยากไปโรงพยาบาลไกลๆ หากไม่ใช่อาการที่หนักจริงจนต้องการส่งต่อ" "นพ.จเด็จ" ระบุ
"นพ.จเด็จ" อธิบายว่า นัยยะอีกด้านหนึ่งของนโยบายการรักษาทุกที่ ยังเป็นไปเพื่อพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้านให้ดีขึ้นด้วย หากสามารถทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในหน่วยบริการใกล้บ้าน เชื่อว่าประชาชนจะออกไปรับบริการนอกเขตพื้นที่น้อยลง
ในส่วนของฐานข้อมูลที่ต่อไปจะขึ้นไปอยู่ในระบบคลาวด์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้น ปัจจุบันมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว รวมทั้ง องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล การละเมิดสิทธิผู้ป่วย เป็นต้น
"เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้สามารถจัดการได้ทั้งหมด รอเพียงความชัดเจนทางนโยบายเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ในเร็ววัน เชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีระบบคลาวด์ ยังอาจช่วยให้ค่าใช้จ่ายนั้นถูกลงจากระบบที่ใช้อยู่เดิม และคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมา" "นพ.จเด็จ" ระบุ
"นพ.จเด็จ" ยังกล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทของหมอครอบครัว เชื่อว่าจะมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นจากทิศทางของนโยบายรักษาทุกที่ที่มุ่งเน้นไปยังบริการปฐมภูมิ ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ไปถึงการรักษาโรคในเบื้องต้น แน่นอนว่าหมอครอบครัวจะมีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ส่วนแพทย์ในโรงพยาบาลก็จะมีภาระงานที่ลดลงจากบริการต่างๆ ทั้งการรับยาใกล้บ้าน ส่งยาทางไปรษณีย์ หรือการเจาะเลือดตรวจแล็บใกล้บ้าน จึงเชื่อว่านโยบายต่างๆ ที่ถูกคิดออกมานั้นมีความรอบคอบ ในการสร้างสมดุลระหว่างภาระงานของบุคลากร กับบริการที่ประชาชนจะได้รับ
"การยกระดับครั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนจะรับรู้ถึงความสะดวกสบายที่ได้รับจากบริการมากขึ้น บางคนที่ไม่เคยได้รับ ก็อาจเข้าถึงบริการมากขึ้นด้วยเทเลเมดิซีน ซึ่งโชคดีที่เรามีบทเรียนนำร่องมาพอสมควรจากโควิด-19 และเมื่อเป็นนโยบายแล้วก็จะสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงเชื่อว่าหลายนโยบายที่เป็น Quick Win ถ้ามีการประกาศออกมาแล้วจะสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว" "นพ.จเด็จ" กล่าวในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง