ชีวิตดีสังคมดี

ปรับมาตรการแจ้งเตือน 'PM2.5' ทุกๆ 3 ชม.นำร่อง 4 พื้นที่ห้องความดันบวก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม. ปรับมาตรการแจ้งเตือน 'PM2.5' อัปเดตทุกๆ 3 ชั่วโมง นำร่อง 4 พื้นที่ห้องความดันบวกสำหรับเด็กเล็ก 4 พื้นที่ คืนสุขภาพที่ดีให้แก่เด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า สืบเนื่องจากโครงการห้องปลอดฝุ่นและสถานการณ์ฝุ่น "PM2.5" ที่จะคาดว่ากลับมาในช่วงปลายปี เรามีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล จำนวน 427 โรงเรียน 1,743 ห้องที่ต้องดูแล โดยที่ประชุมได้สรุปแนวทางมาตรการเป็น 2 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น จะเป็นเรื่องการแจ้งเตือนค่าฝุ่น ปัจจุบัน กทม. ใช้มาตรการการวัดอ้างอิงจากกรมอนามัยซึ่งใช้เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยค่าเฉลี่ยที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้บางครั้งหากฝุ่นมาในระหว่างวันเด็กจะสูดอากาศเข้าไป ด้านกระทรวงสาธารณสุขจึงได้แนะนำว่าควรใช้ค่าเฉลี่ย 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่ละเอียดขึ้น เด็กที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวไวต่อฝุ่นจะได้รับการปกป้องดีมากขึ้น โดยจะไปบูรณาการกับพื้นที่ที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว และค่าเฉลี่ยใหม่นี้จะเป็นมาตรฐานหลักที่โรงเรียนจะนำไปใช้ ทั้งนี้มาตรการหลักที่โรงเรียนใช้อยู่ในปัจจุบันอ้างอิงจากกรมอนามัยอยู่แล้วว่า หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีที่กรมอนามัยกำหนด จะต้องมีการปฏิบัติอย่างไร โดยได้มอบหมายให้ทางสำนักการศึกษาจัดการอบรมสร้างความเข้าใจให้กับผู้อำนวยการเขตและผู้อำนวยการโรงเรียนให้มีความเข้าใจตรงกัน 

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันสรุปได้ว่า ห้องความดันบวก (Positive pressure) นั้นดีที่สุด หลักการคือเป็นการนำอากาศดีเก็บไว้ในห้องดันอากาศไม่ดีออก โดยวิธีนี้ได้มีการทดลองนำร่องใน 4 พื้นที่แล้ว ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 แห่ง และโรงเรียนวัดวิมุตยาราม 1 แห่ง โดยจะมีการวัดผลหลังเปิดภาคเรียนนี้ นอกจากนี้ทางบริษัท ไพร์มโรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาทำ CSR โดย กทม. จะเลือกโรงเรียนที่มีความเสี่ยงมากเมื่อดูจากสถิติในปีที่ผ่านมา และนำแนวทางห้อง Positive pressure การปิดห้องด้วยระบบแอร์ การใช้โซลาร์เซลล์ รวมถึงวัดเรื่องค่าไฟด้วย จุดนี้จะพยายามเร่งดำเนินการให้ทันในช่วงฝุ่นนี้ ในส่วนระยะยาวจะเป็นการวัดผลกระทบด้านสุขภาพโดยการนำผลสำเร็จจากแนวทางระยะสั้นมาต่อยอดต่อไป
 

ด้านผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (SHI) กระทรวงสาธารณะสุข/มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำองค์ความรู้วิชาการและมาตรการต่างๆ ที่มี มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่เปราะบางที่สุดของประเทศ และโรงเรียนอนุบาลก็เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มประชากรเปราะบางที่ต้องร่วมกันดูแล 

 

 

ในส่วนสถานการณ์ปัจจุบันของห้องเรียนชั้นอนุบาลของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่เปิดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล จำนวน 427 โรงเรียน 1,743 ห้อง ปัจจุบันนักเรียนชั้นอนุบาล 1-2 จำนวน 36,891 คน และจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,000-10,000 คน ซึ่งสำนักการศึกษาจะเปิดชั้นเรียนอนุบาล อายุไม่น้อยกว่า 3 ปี บริบูรณ์ ในปีการศึกษา 2567 จะทำให้มีจำนวนนักเรียนชั้นอนุบาล รวมทั้งสิ้น ประมาณ 43,800-46,800 คน

 

จากการสำรวจข้อมูลทางกาพภาพห้องเรียนชั้นอนุบาล สรุปว่า 
1. โรงเรียนที่เปิดสอนชั้นอนุบาล 2-3 (4-5 ขวบ) จำนวน 427 โรงเรียน 1,743 ห้อง แบ่งเป็นห้องเรียนที่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ ประมาณ 46% และห้องเรียนที่ไม่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ ประมาณ 54%
2. โรงเรียนที่จะเปิด ห้องเรียนอนุบาล 1 (3 ขวบ) ในปีการศึกษา 2567 จำนวน 191 โรงเรียน ประมาณ 191 ห้อง
3. สำนักการศึกษาได้รับประมาณปี 2567 จัดซื้อเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ จำนวน 1,743 เครื่อง อยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะเร่งดำเนินติดตั้งให้เร็วที่สุด 
4.หลักการดำเนินการห้องเรียนปลอดฝุ่น ตามแนวทาง คู่มือ "แนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พ.ศ.2563" กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ด้วยระบบปิด ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ

 

 

ในการนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ บริษัท ไพร์มโรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย กรมควบคุมโรค กรมอนามัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  สำนักอนามัย สำนักการศึกษา
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ