ชีวิตดีสังคมดี

ส่ง 'พลายศักดิ์สุรินทร์' ไปต่างแดนทารุณหรือสานสัมพันธ์ หลังต้องพากลับไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่งช้างไปต่างแดนทารุณหรือเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์ หลังจากไทยต้องควักเงิน 19 ล้านพา 'พลายศักดิ์สุรินทร์' บินกลับไทยเพราะป่วย สะท้อนไร้ระบบติดตามความเป็นอยู่ เพราะให้แล้วให้เลย

จากการนำตัว "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับจาก ศรีลังกา หลังจากที่เดินทางไปทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรี พร้อมกับทำหน้าที่ในการแห่พระธาตุนานกว่า 20 ปีจน "พลายศักดิ์สุรินทร์" เกิดอาการป่วย และมีภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้ทางการไทยต้องขอตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่บ้านเกิด โดยในการรับตัวช้างพลายเชือกนี้กลับมาใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 19 ล้าน   หากมองตามหลักมนุษยธรรมการช่วยเหลือสัตว์ป่วย หรือการนำตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านถือว่าเป็นการเห็นคุณค่าของหนึ่งชีวิต 

 

 

แต่จะดีกว่าหรือไม่หากเราไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อนำตัวช้างกลับบ้าน แต่ควรจะมีระบบการติดตามสภาพความเป็นอยู่ อาหารการกินที่เหมาะสม สถานที่ที่ส่งช้างไปเป็นทูตสันถวไมตรี ด้วยการทำข้อตกลงตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทารุณกรรม หรือการใช้งานสัตว์ที่เป็นเสมือนตัวแทนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

นายภานุเดช เกิดมะลิ หรือ บอย เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ที่ทำงานกับมูลนิธิมายาวนานกว่า 16 ปี  อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องส่งสัตว์ ส่งช้างของประเทศไทยให้กับประเทศอื่น ว่า  ไม่ว่าจะด้วยการเป็นไปเพื่อการสานความสัมพันธ์ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย ในความเป็นจริงแล้วจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไข หรือข้อตกลงที่ชัดเจนก่อน รวมทั้งจะต้องสามารถติดตามได้ว่า หลังจากส่งไปให้แล้วประเทศปลายทางปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ เพื่อให้ไม่ให้เกิดการใช้งาน หรือนำสัตว์ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น จนส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่นการส่งหมีแพนด้ามาให้ไทยที่มีการกำหนดข้อตกลง อย่างรัดกุม รวมถึงการชำระค่าเสียหายหาหมีแพนด้าป่วย หรือล้มตาย 

 

ส่วนตัวมองว่าการส่งสัตว์ไม่ว่าจะเป็นช้าง หรือสัตว์อื่นๆ ของประเทศไทยไปให้อีกหนึ่งประเทศยังคงมีความจำเป็นอยู่ในแง่การทำการศึกษา และวิจัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่จะทำให้ประเทศต้นทางรู้ได้ว่าเอาไปใช้อย่างถูกวิธีหรือไม่จึงหนีไม่พ้นการมีระบบการติดตามที่ดี เพราะอย่าลืมว่า สัตว์ไม่สามารถพูดได้ หรือตอบโต้ได้ว่าอยากไปหรือไม่อยากไป ดังนั้นการคุ้มครอง ดูแลคุณภาพชีวิต ตลอดจนกว่าเขาจะสิ้นอายุขัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่ดูแลไม่ควรละเลยเช่นกัน คำบอกเล่าจาก เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

 

 

ย้อนกลับมาที่การพา  "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับบ้าน กรณีค่อนข้างชัดเจนว่าหลังจากที่ไทยได้ส่งช้างไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกานานกว่า 20 ปีแทบจะไม่ได้มีการติดต่อ หรือติดตามความเป็นอยู่ของช้างที่ส่งไปอย่างต่อเนื่อง  จนทำให้สุดท้ายเกิดปัญหาด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของ "พลายศักดิ์สุรินทร์" จนท้ายที่สุดรัฐบาลต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศ  จริงอยู่ว่าการดำเนินการเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและการช่วยเหลือชีวิต แต่ดูเหมือนว่าเรากำลังลืมไปว่ายังมีสัตว์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช้าง กอริล่า ที่รอคอยความช่วยเหลือ หรือการดูแลให้สัวต์เหล่านี้มีชีวิตที่ดีและยืนยาวเช่นกัน  

 

 

สำหรับทางออกและการแก้ปัญหาในกรณีนี้ รวมไปถึงการถกเถียงกันว่ายังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะต้องส่งช้างไทยไปต่างแดน โดย ภานุเดช ระบุว่า ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าหากส่งไปตามเงื่อนไข หรือเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัย ส่งไประหว่างองค์กรสวนสัตว์ต่อองค์กรสวนสัตว์ ไม่ได้ส่งไปในนามส่วนบุคคล การส่งสัตว์ไปต่างแดนก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่ ที่สำคัญคนที่ดูแลจะต้องเคารพในตัวสัตว์ด้วย เพราะอย่าลืมว่าสัตว์ไม่สามารถคัดค้านได้ว่าอยากไปหรือไม่  ที่สำคัญจำเป็นจะต้องประเมินจำนวนประชากรสัตว์ก่อนว่าจะต้องไม่เป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์   

 

 

ที่ผ่านมาก่อนรับตัว "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีนโยบายการนำช้างส่งออกไปนอกราชอาณาจักรอแบบในอดีต  แต่หากมีประเทศต้องการแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างกัน ก็จะต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียด เงื่อนไขให้รัดกุมว่าสัตว์ที่ถูกส่งออกไปจะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม และไม่เข้าข่ายการทรมานสัตว์

 

 

สำหรับข้อมูลการส่งช้างไทยไปต่างแดนจากกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช ระบุว่า ที่ผ่านมาไทยมีการส่งช้างไปต่างประเทศเพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีมากกว่า 20 เชือก ในปีประเทศ โดยแบ่งเป็นดังนี้ 

  • ก่อนปี 2544 ส่งออกช้าง 1 เชือก คือ พลายประตูผาไปประเทศศรีลังกา 
  • ปี 2544 ส่งออกช้าง 2 เชือก คือ พลายศักดิ์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์  ไปประเทศศรีลังกา
  • ปี 2544 ส่งออกช้าง 3 เชือก ไปประเทศเดนมาร์ก
  • ปี 2545 ส่งออกช้าง 2 เชือก คือ ฮานาโกะ อีกเชือกไม่ได้ระบุชื่อ ไปยังประเทศญี่ปุ่น
  • ปี 2547ส่งช้าง 2 เชือกไปประเทศสวีเดน
  • ปี 2548 ส่งออกช้าง 2 เชือก คือ พลายอาทิตย์ และ พังอุทัย ไปประเทศญี่ปุ่น 
  • ปี 2559 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งออกช้าง 8 เชือก คือ พลายกุ้ง, พังทองดี, พังน้ำอ้อย, พังดอกคูณ, พังพรทิพย์, พังผักบุ้ง, พังแตงโม ไปประเทศออสเตรเลีย 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ