คอลัมนิสต์

ใกล้สิ้นสุด... 12 ปี กับมหากาพย์ฟ้อง 8 คดีทักษิณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใกล้สิ้นสุด... 12 ปี กับมหากาพย์ฟ้อง 8 คดีทักษิณ ยกฟ้อง 2 จำคุก 3  ริบทรัพย์ 1 รอลุ้นอีก 2 คดี

       เกศินี แตงเขียว

          พิพากษาไปอีกสำนวน!!! กับคดี “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ที่ถูกฟ้องคดี อม.3/2555 ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อองค์คณะ 9 คนพิจารณาคดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยให้กับกลุ่มธุรกิจเครือกฤษดามหานครกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ยกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา แต่ยังมีเวลา 30 วันในรอลุ้นว่าอัยการสูงสุด จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯใหม่ ปี 2560 มาตรา 195 และมาตรา 60 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่เรียกว่า วิ อม.ใหม่ ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือไม่

     

       ส่วนกลุ่มผู้บริหารธนาคารและเอกชนกลุ่มกฤษดามหานครนั้น ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 ให้จำคุก จำเลย 19 คน เป็นเวลา 12-18 ปีและปรับนิติบุคคล 5 ราย โดยยกฟ้องเพียง 2 คนระดับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ซึ่งคดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยชุดแรกนั้น ผลคดียุติแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯ เพราะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 278 และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ.2551

          ซึ่งนับตั้งแต่การยึดอำนาจรัฐประหารปี 2549 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ 2 โดย คปค.ซึ่งก่อให้เกิด “คณะตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.” ที่ให้มีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐาน เกี่ยวกับการกระทำที่ส่อว่าจะมีการทุจริตในการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลยุคทักษิณ กระทั่ง คตส.ได้ทยอยส่งหลักฐานให้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ หลายสำนวน และเมื่อ คตส. สิ้นสุดวาระลงจากการพ้นเวลาการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารปี 2549 แล้ว ได้ส่งต่อพยานหลักฐานต่างๆ ที่เคยทำไว้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีหน้าที่ไต่สวนรวบรวมหลักฐานกล่าวหานักการเมืองและข้าราชการการเมืองระดับสูง ทำสำนวนต่อจนเสร็จและฟ้องคดีในศาลทั้งที่ใช้อำนาจฟ้องเองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 เพราะอัยการสูงสุดเห็นต่างไม่ฟ้อง กับส่วนที่ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วส่งฟ้องในนามอัยการ

          ซึ่งในยุคที่มี คตส. คดีแรก ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง “อดีตนายกฯทักษิณ” คือ อม.1/2550 คดีการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 4 แปลง มูลค่า 772 ล้านบาท ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูกิจการและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในนามคุณหญิงพจมาน คู่สมรสในขณะนั้นโดยมิชอบ ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.4 , 100 , 122 ที่เรียกว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน โดยการตัดสินในปี 2551 องค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุนฯ มีความผิดที่ได้ให้บัตรประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงนามยินยอมให้คุณหญิงพจมาน คู่สมรสขณะนั้น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ที่ถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเอง จึงเป็นความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม. 100 (1)วรรคสาม และต้องรับโทษตาม ม.122 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกนายทักษิณ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ขณะที่เสียงข้างมากให้ยกฟ้อง คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 เพราะใน ม.100 ไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับคู่สมรสที่กระทำความผิด มีแต่บทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อาจลงโทษได้ โดยผลคดีเป็นอันยุติไปเพราะไม่มีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขณะที่คดีนี้ล่วงเลยระยะเวลาการลงโทษ ตามประมวลกฎหมาย 98 แล้ว คือโทษจำคุก 1-7 ปี กำหนดเวลาการลงโทษที่ 10 ปีนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับจากวันที่ผู้กระทำผิดหลบหนี หากเกิน 10 ปีแล้วลงโทษไม่ได้ ก็ปรากฏว่า “อดีตนายกฯ ทักษิณ” หลบหนีคดีไปต่างประเทศตั้งแต่ชั้นพิจารณาคดี จนเวลาล่วงเลยเวลาการรับโทษไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ต.ค.61

         คดีที่ 2 อม.14/2551 อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องเดือน พ.ค.51 เป็นคดีแพ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ”ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผล (เงินที่ได้มาจากการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็กสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อหุ้นเป็นจำนวนเงินสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม  69,722,880,932.05 บาท และเงินปันผลตามหุ้นรวมเป็นเงิน 6,898,722,129 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติโดยให้ครอบครัวถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ แทน และได้ทรัพย์นั้นมาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม “องค์คณะฯ” ได้มีมติ 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 วินิจฉัยว่า นายทักษิณใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกนโยบาย 5 มาตรการ เอื้อประโยชน์ บมจ.ชินคอร์ป ฯ ที่ครอบครัวถือหุ้นทำให้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ ขณะที่ทำให้รัฐเสียหาย ซึ่ง 1 ในนั้นคือการปล่อยกู้รัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK)

        โดยศาลมีมติ 7 ต่อ 2 พิพากษาให้ทรัพย์สินในชื่ออดีตนายกฯ, คุณหญิงพจมาน คู่สมรส , นายพานทองแท้ – นางพิณทองทา บุตร , น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว และนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม ที่เป็นเงินที่ได้จากการขายหุ้น และเงินปันผลหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปฯ จำนวน 46,373,687,454.70 บาท พร้อมดอกผลที่เป็นดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากนับตั้งแต่วันฝากเงิน จนถึงวันที่ธนาคารส่งเงินจำนวนดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน (เสียงข้างน้อยให้ยึดหมด 7.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ในประเด็นให้ไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม แต่สุดท้ายไม่รับคำอุทธรณ์เพราะไม่ใช่กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 278 วรรคสาม และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์อุทธรณ์ฯ ข้อ 3-6 กำหนดไว้

      และเมื่อ คตส. สิ้นสุดวาระลง ป.ป.ช.ก็เข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบคดีนักการเมือง ได้ฟ้องคดี อม.3/2553 ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัย อดีตนายกฯ ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จฯ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ม.263 และพ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.119 แต่ระหว่างฟ้องนั้นนายทักษิณหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.53 ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว พร้อมออกหมายจับตามตัวมาดำเนินคดีชั้นศาลต่อไป

        ซึ่งระหว่างปี 2551 – 2555 อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ก็ได้ยื่นฟ้อง อดีตนายกฯ ทักษิณในศาลฎีกาฯโดยไม่มีตัวจำเลย อีก 4 สำนวน คือ คดีที่ 3 อม.1/2551 “ป.ป.ช.” ยื่นฟ้องนายทักษิณ , คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน กรณีดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 ขัดต่อกฎหมายเพราะเป็นมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกา

     - คดีที่ 4 อม.3/2551 “ป.ป.ช.” ยื่นฟ้องกรณีอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาทในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บ.ชินแซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร

    -คดีที่ 5 อม.9/2551 “อัยการสูงสุด” ยื่นฟ้องกรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจ บมจ.ชินคอร์ปฯ ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

    - คดีที่ 6 อม.3/2555 “อัยการสูงสุด” ยื่นฟ้องนายทักษิณ , นายวิโรจน์ นวลแข อดีต กก.ผจก.ธ.กรุงไทยฯ และบริษัทในเครือของกฤษดามหานคร กับพวกรวม 27 ราย

      จนเมื่อปี 2560 วิ อม. ออกมาใหม่ ในมาตรา 28 บทบัญญัติให้อำนาจศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีที่ฟ้องและออกหมายจับจำเลยแล้วได้ใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ฝ่ายโจทก์ จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีทั้ง 4 สำนวนมาพิจารณาใหม่ โดยปี 2561 เป็นต้นมา ศาลฎีกาฯ ก็ทยอยไต่สวนและมีคำพิพากษาทั้ง 4 คดีออกมา

     เริ่มต้นที่คดีปล่อยกู้ เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) วันที่ 23 เม.ย.62 องค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

   ต่อด้วย “คดีหวยบนดิน” วันที่ 6 มิ.ย.62 พิพากษาจำคุก “อดีตนายกฯทักษิณ” 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ด้วยมติเสียงข้างมากเช่นเดียว

   ซึ่งทั้ง 2 คดีศาลให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อไป โดยโทษจำคุกของนายทักษิณในคดีหวยบนดินและเอ็กซิมแบงก์นี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่ยังสงสัยกันว่าคดีที่ฟ้องในระหว่างปี 2551-2555 แล้วมามีผลตัดสินถึงที่สุดในศาลฎีกาฯ ปี 2562 นี้ โดยไมมีการอุทธรณ์ตามกฎหมายใหม่ เช่นนี้จะมีการนับช่วงเวลาลงโทษตามคำพิพากษาในเวลา 10 ปีเหมือนเช่นคดีซื้อ-ขายที่ดินรัชดาฯหรือไม่ หรือจะเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 74/1 ที่ออกมาในปี 2558 และ วิ อม.ใหม่ มาตรา 25 วรรคสอง ที่ออกมาปี 2560 ที่ไม่ให้นำเรื่องการนับระยะเวลาการลงโทษในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้ ซึ่งหากเป็นตามกฎหมายใหม่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษานั้นหนีคดี จะต้องหลบหนีไปตลอดชีวิต

        ส่วนคดีที่ 7ป.ป.ช. ยื่นฟ้องใหม่ อม.40/2561 เมื่อปี 2561 กล่าวหานายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2546 ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ TPI มิชอบนั้น องค์คณะฯ ก็มีคำพิพากษาวันที่ 29 ส.ค.61 ด้วยมติเสียงข้างมาก ให้ยกฟ้อง เพราะการที่กระทรวงการคลังเข้ามาบริหารแผนเกิดจากความตกลงยินยอมของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ประกอบดุลยพินิจของศาลล้มละลายกลางเฉพาะคดีเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การเข้าไปล่วงสิทธิของเอกชน และไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงครอบงำกิจการของเอกชน และก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปบริหารกิจการของทีพีไอที่เข้าสู่แผนการฟื้นฟู หรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนเพื่อรับเอาประโยชน์มาเป็นของตนเองและผู้อื่น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษ แต่ ป.ป.ช.ก็ยังใช้สิทธิอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นคดี อม.อธ.4/2561 ที่ยังต้องรอผลอุทธรณ์ว่าจะยืน หรือจะยก

        และสุดท้าย คดีที่ 8 ยังรอพิจารณา คือ อม.9/2551 อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องกรณีออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจ บมจ.ชินคอร์ปฯ ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ศาลฎีกาฯ กำลังรอไต่สวนพยาน ในเดือน ต.ค.62 นี้ อาจเป็นได้ว่าอย่างเร็วที่สุดภายในสิ้นปีจะไต่สวนพยานเสร็จ แล้วรอลุ้นพิพากษาในปีหน้า 2563 ก็ได้ 

        กับตอนจบมหากาพย์คดี “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ที่ต่อเนื่องมานานร่วม 12 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจปี 2549 นำมาสู่การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบายของนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัว

          ข่าวที่เกี่ยวข้อง   : ยกฟ้อง ทักษิณไม่ผิดปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย-กฤษดา

                                     "ทักษิณ" เจอคุกอีก 2 ปี ม.157 ออกสลากหวยบนดินไม่ชอบ

                                      "ทักษิณ" อ่วมเจอพิพากษาอีกคดี

                                      ยกฟ้องทักษิณคดีป.ป.ช.ฟ้องแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอ

                                    

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ