ข่าว

ยกฟ้องทักษิณคดีป.ป.ช.ฟ้องแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอ(ฉบับเต็ม)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้อง"ทักษิณ"คดีแรกมติเสียงข้างมาก"ทักษิณ"พ้นข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ฟ้องตั้งคลังแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอ ชี้พยานหลักฐานอ่อนไม่พบเจตนาพิเศษ 

 

           29 สิงหาคม 2561 ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้อง"ทักษิณ"คดีแรกมติเสียงข้างมาก"ทักษิณ"พ้นข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ฟ้องตั้งคลังแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอ ชี้พยานหลักฐานอ่อนไม่พบเจตนาพิเศษ 

 

 

           ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะ 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.40/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

           กรณีเมื่อระหว่างปี 2546 นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ และจำเลยร่วมกับ ร.อ.สุชาติ ยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน โดยเมื่อจำเลยได้รับทราบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนแล้วก็ไม่สั่งการยับยั้งแก้ไขให้กระทรวงการคลังปฏิเสธการทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำที่มิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

 

           คดีนี้ศาลได้ส่งหมายแจ้งให้จำเลยทราบนัดโดยชอบด้วยการปิดหมายแล้ว จำเลยไม่มาศาล โดยศาลได้ออกหมายจับจำเลยไว้แล้วแต่ไม่สามารถจับกุมจำเลยได้ภายในกำหนด ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ซึ่งนัดพิจารณาคดีครั้งแรกจำเลยไม่มาศาล ถือว่าให้การปฏิเสธ ตามขั้นตอน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28, 33, 59 วันนี้จึงมีเพียงผู้แทน ป.ป.ช.โจทก์ เดินทางมาศาล ซึ่งศาลอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังและถือว่าจำเลยรับทราบคำพิพากษา

 

         องค์คณะไต่สวนบุคคลและเอกสารประกอบรายงานการไต่สวนของโจทก์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพบว่าเมื่อปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประกาศปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้ใช้ค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงตามภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศ โดยให้ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นแบบลอยตัว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อการเงินและเศรษฐกิจในประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ และทำให้กลุ่มธุรกิจที่มีเงินกู้จากต่างประเทศมีมูลค่าหนี้สูงขึ้น  

 

           โดยบริษัททีพีไอก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีดังกล่าวด้วย เพราะมีมูลหนี้กู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศ เดิมมีมูลหนี้อยู่ 65,211 ล้านบาท แต่เมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้หนี้เพิ่มเป็น 130,000 ล้านบาทภายในข้ามคืน โดยเมื่อปี 2543 ทีพีไอก็ได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากผู้บริหารเดิมได้ประกาศหยุดพักการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ไว้ก่อน เพราะไม่สามารถบริหารหนี้ได้ ซึ่งผลดังกล่าวก็จะกระทบกับพนักงานกว่า 7,000 คน ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลล้มละลายกลาง กระทั่งตั้งบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน แต่ภายหลังพบว่าการบริหารไม่โปร่งใส ศาลจึงมีคำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูดังกล่าวไป กระทั่งปี 2546 ได้มีการเสนอแผนฟื้นฟูใหม่ แต่เมื่อมีการหารือพูดคุยในกลุ่มของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วไม่เห็นด้วย จนมีการเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยดูแล 

 

           ช่วงเดือน มี.ค. 2546 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ซึ่งการจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาจะต้องมีหนังสือยินยอมจากกระทรวงการคลังก่อน ต่อมาปี 2546 ช่วงที่จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เรียกให้ธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้และลูกหนี้มาพูดคุยที่บ้านพิษณุโลกเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูทีพีไอ โดยให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ส่งตัวแทนแต่ละฝ่ายรวม 15 คนแล้วเลือกให้เหลือ 7 ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 1 คน จากนั้น พ.ค. 2546 ร.อ.สุชาติ รมว.คลัง ได้หารือกับที่ปรึกษากระทรวงการคลังแล้ว จึงได้มีหนังสือยินยอมร่วมกันแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกำกับและแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสภาพโดยรวมของประเทศ

 

            โดยปัญหากิจการของทีพีไอนั้นก็สืบเนื่องมาจากนโยบายแก้ปัญหาค่าเงินบาทของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ใช่เกิดจากการบริหารงานของบริษัทเองที่เกิดเป็นผลขาดทุน อีกทั้งกิจการของทีพีไอก็เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจโดยรวม และความมั่นคงของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีพนักงานกว่า 7,000 คนที่อาจจะได้รับผลกระทบ หากบริษัทอยู่ในสถานะล้มละลาย ดังนั้น เพื่อการแก้ปัญหาที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อไม่ให้ลุกลามก่อให้เกิดความเสียหายระยะยาว กระทรวงการคลังจึงมีเหตุผลจำเป็นในการเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้กระทรวงการคลังเข้ามาบริหารแผน ขณะนั้นผู้ที่เสนอชื่อให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนก็มีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานบริหารบริษัททีพีไอ รวมทั้งธนาคารเจ้าหนี้ก็ไม่ได้คัดค้าน 

 

           นอกจากนี้ สหภาพแรงงานโดยพนักงานยังได้เคยยื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผน จึงสืบเนื่องมาจากเจ้าหนี้มีมติพิเศษเลือกให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนกลาง โดยที่ทีพีไอ ลูกหนี้ก็เป็นผู้เสนอเรื่องนี้เช่นเดียวกัน จึงถือว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ความยินยอมในการตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน กระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้

 

            ซึ่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/68 วรรคสี่, 90/52, 90/17 วรรคสอง ก็ให้ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจใช้ดุลยพินิจแต่งตั้งบุคคลใดๆ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกให้เป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามความเหมาะสมหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังเข้ามาบริหารแผนจึงเกิดจากความตกลงยินยอมของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ประกอบดุลยพินิจของศาลล้มละลายกลางเฉพาะคดี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การเข้าไปล่วงสิทธิของเอกชน และไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงครอบงำกิจการของเอกชน

         

            ส่วนที่นายประชัยเคยไปพบกับ ร.อ.สุชาติ รมว.คลัง เพื่อจะเข้ามาบริหารบริษัทอีกครั้ง โดยอ้างว่า ร.อ.สุชาติ ตอบว่าไม่ได้  เพราะ My boss want it. นั้น คำเบิกความดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีเอกสารประกอบ แม้จะฟังได้ว่า My boss คือจำเลย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปบริหารกิจการของทีพีไอที่เข้าสู่แผนการฟื้นฟู หรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนเพื่อรับเอาประโยชน์มาเป็นของตนเองและผู้อื่น คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย 

 

            ส่วนที่มีการตั้ง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา และคณะอีก 2 คนเป็นผู้บริหารแผนนั้น แม้จำเลยจะเห็นพ้องให้ตั้งคณะผู้บริหารจากกระทรวงการคลังตามที่ ร.อ.สุชาติ ได้มาหารือ ก็ไม่พบว่าบุคคลทั้ง 5 มีความเกี่ยวพันกับจำเลย ที่จำเลยจะได้ร่วมรับผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการบริหารแผนฟื้นฟูของคณะดังกล่าว หรือทำให้แผนการฟื้นฟูเป็นไปโดยไม่สุจริต ซึ่งการแต่งตั้งอยู่ในดุลยพินิจของ รมว.คลัง ที่กำหนดบุคคลได้เอง และในกรณีนี้เจ้าหนี้ลูกหนี้ไม่มีใครโต้แย้ง แม้ต่อมา ร.อ.สุชาติ จะแจ้งรายชื่อผู้บริหารแผนทีพีไอเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้ทราบโดยที่จำเลยไม่ได้ทักท้วงนั้น

 

            ประเด็นดังกล่าวได้ความจากรองเลขาธิการ ครม.ที่จะต้องนำวาระเข้าสู่ ครม.ว่า เรื่องนี้จัดอยู่ในเรื่องที่ต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม เรื่องดังกล่าวจึงไม่ต้องผ่านการอนุมัติของจำเลย ขณะที่เรื่องค่าตอบแทนเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูในส่วนของบริษัทซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ศาลฎีกาเคยมีคำสั่งให้คืนเงินค่าตอบแทน 224 ล้านบาทแล้วเมื่อปี 2557  ข้อกล่าวหาในประเด็นฟ้องของโจทก์จึงไกลเกินกว่าเหตุ 

 

            สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัททีพีไอ ในราคา 3.30 บาท โดยไม่ขายให้กับนายประชัยและบุคคลทั่วไปนั้น ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่าเป็นการขายหุ้นโดยชอบตามแผนฟื้นฟู และศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบแล้ว ส่วนที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น ธนาคารออมสิน ปตท. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนวายุภักษ์ นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น หรือได้รับประโยชน์จากองค์กรมหาชนที่รับซื้อหุ้น หรือกระทำการใดที่จะเข้าไปครอบงำกิจการ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่าหน่วยงานดังกล่าวที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังมีศักยภาพในการฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ไม่ให้ตกไปเป็นของต่างชาติ ทั้งเจ้าหนี้ลูกหนี้ ทุกฝ่ายยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้ามาฟื้นฟู หากการบริหารเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นความผิดภายหลังก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากันเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครองต่อไป ที่ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย

 

           พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษตามที่โจทก์กล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเสียงข้างมากพิพากษาให้ยกฟ้อง

 

            ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนในคดีนี้ ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา , นายไสลเกษ วัฒนพันธ์ุ รองประธานศาลฏีกา , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฏีกา , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฏีกา , นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฏีกา , นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา , นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา , นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และนายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา


            ด้านนายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้อำนวยการสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้อง นายทักษิณ ว่า หลังจากนี้จะรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนคดีและข้อกฎหมาย เพื่อให้พิจารณาว่าจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ซึ่งเราจะต้องดูทั้งพิพากษากลาง และคำพิพากษาส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ก่อนเสนอคณะกรรมการป.ป.ช.อีกครั้งว่าจะเห็นควรดำเนินการต่อไปอย่างไร  ตามขั้นตอนถ้าหากคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นสมควรจะอุทธรณ์ ก็จะต้องดำเนินการภายในกำหนด 30 วัน

 

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีของนายทักษิณ ปัจจุบันยังเหลืออยู่ในการพิจารณาไต่สวนลับหลังจำเลยอีก 4 สำนวน ที่อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2550-2551 ประกอบด้วย คดีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจเครือชินคอร์ปฯ , คดีกล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร , คดีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ให้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มชินคอร์ป และคดีกล่าวหาดำเนินโครงการออกสลากพิเศษหวยบนดินโดยมิชอบ

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ