ข่าว

"ทักษิณ" อ่วมเจอพิพากษาอีกคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ทักษิณ" อ่วม ผิดอีกคดี ศาลฎีกาฯ พิพากษาไม่รอลงอาญา พร้อมให้ออกหมายจับ

 

               ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันที่ 23 เม.ย. 62 เมื่อช่วงบ่าย ที่ผ่านมา  องค์คณะคดีการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีนี้

 

 

 

               ที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 157 ที่เห็นชอบให้ เอ็กซิมแบงก์ อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้กับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (เมียนมา) วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และเพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ที่เป็นบริษัทในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร ซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลังด้วย จำนวน 189,125,644.55 บาท

               โดยคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 51 องค์คณะฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.3/2551 แล้วนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อจะสอบคำให้การ “นายทักษิณ” ในวันที่ 16 ก.ย. 51 แต่ปรากฏว่าขณะนั้น “นายทักษิณ” ไม่มาศาลเนื่องจากหลบหนีไปต่างประเทศในคดีอื่นแล้ว องค์คณะฯ จึงออกมายจับให้ตามตัวมาดำเนินคดีนับตั้งแต่นั้น กระทั่งปี 2561 ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้นำคดีดังกล่าว ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจาก “นายทักษิณ” จำเลย หลบหนีไปพำนักต่างประเทศ ให้นำขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 28 บัญญัติสาระสำคัญว่า “ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตาม มาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล และมีการออกหมายจับจำเลยแล้วยังไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา”

 

 

 

               วันที่ 4 ก.ค. 61 องค์คณะได้พิจารณาคดีครั้งแรกนี้ใหม่ โดย “นายทักษิณ” จำเลย ไม่แต่งตั้งผู้ใดรับมอบอำนาจ มาศาลแทน เมื่อนัดพิจารณาครั้งแรก “นายทักษิณ” จำเลย ไม่มาศาล ศาลถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม วิ อม. มาตรา 33 (บัญญัติว่าในวันพิจารณาครั้งแรก ในกรณีที่จําเลยมิได้มาศาล ในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธ) โดย “องค์คณะฯ” ได้ดำเนินการไต่สวนพยานของ ป.ป.ช. โจทก์ โดยไม่มีตัวจำเลยมาตลอดกระทั่งนัดฟังคำพิพากษาวันนี้

               "องค์คณะ" วินิจฉัยในประเด็นสำคัญ 1. ปัญหาตามคำร้องของจำเลยว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 31 ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ "องค์คณะ" เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัย ที่ 5/2561 ว่า ไม่ว่าบทมาตราใดประกาศ คปค. และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  ดังนั้น จึงไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก และ คตส. มีอำนาจตรวจสอบ ไต่สวน และฟ้องจำเลยคดีนี้ 2. ปัญหาว่า "นายทักษิณ" จำเลยกระทำผิดหรือไม่ "องค์คณะ" เห็นว่า ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยและคู่สมรสยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยการอำพรางให้บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ถือแทน และ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกินครึ่งหนึ่งในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคมในสหภาพพม่า 

 

 

 

               โดยระหว่างที่จำเลย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลกิจการ Exim Bank ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ควบคู่กับธุรกิจ โดยอาศัยโอกาสที่พบปะผู้นำของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าดำเนินเรื่องจนคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประมาณ 1,000 ล้านบาท ผ่าน Exim Bank ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน นอกเหนือจากกรอบเจรจาปฏิญญาพุกาม เพื่อประโยชน์แก่ บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ที่ตนเองและครอบครัวถือหุ้น จนกระทรวงการคลัง ต้องจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินประจำปีชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ Exim Bank จึงเป็นการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152

               "องค์คณะ" เสียงข้างมาก จึงพิพากษาให้จำคุก "นายทักษิณ" เป็นเวลา 3 ปี และให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อไป ส่วนที่ "ป.ป.ช." โจทก์ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายนั้น "องค์คณะ" เห็นว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ คตส. โจทก์ ในขณะนั้น (ปี 2551) ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแทนกระทรวงการคลัง ดังนั้น จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” นั้น ปัจจุบันคงเหลือคดีที่กำลังคดีพิจารณา ไต่สวนโดยไม่มีตัวจำเลยตามกฎหมายใหม่ รวม 3 สำนวน ประกอบด้วย 1. คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 กล่าวหา เห็นชอบออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท 2. คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 กล่าวหา ร่วมผู้บริหารธนาคาร - เอกชนทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร กว่า 9.9 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 คดีอัยการสูงสุดยื่นฟ้องเมื่อปี 2551 และ 2555

 

 

 

               3. คดีหมายเลขดำ อม.1/2551 ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องตั้งแต่ 2551 กล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลออกนโยบายออกสลากเลขท้าย 3 และ 2 ตัว (หวยบนดิน) โดยมิชอบ ก่อนหน้านี้มีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง "นายทักษิณ" เพียงคดีเดียว คือ คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีเมื่อปี 2546 นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ และจำเลยร่วมกับ ร.อ.สุชาติ ยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน โดยเมื่อจำเลยได้รับทราบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนแล้วก็ไม่สั่งการยับยั้งแก้ไขให้กระทรวงการคลังปฏิเสธการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของ ป.ป.ช. โจทก์ ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า "นายทักษิณ" จำเลย มีเจตนาพิเศษตามที่กล่าวหา "องค์คณะ" จึงมีมติเสียงข้างมากให้ยกฟ้อง

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ