ข่าว

ม.ขอนแก่น เตือนภัย เอลนีโญ ส่งผลแล้งรุนแรง ผนึกกำลังสิงห์อาสาช่วยชาวบ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เตือนภัย เอลนีโญ ส่งผลแล้งรุนแรงในประเทศไทย ผนึกกำลังสิงห์อาสา สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน

คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น เตือนปีนี้ประเทศไทยแล้งจัด เนื่องจากซีกโลกแถบประเทศไทย เข้าสู่ภูมิอากาศแบบเอลนีโญ (El Nino) ที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต ทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งขยายเป็นบริเวณกว้าง เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกจะอุ่นขึ้น นำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 63 - มี.ค. 66 โลกได้เผชิญกับลานีญา (La Nina) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ คือ ที่ทำให้ฝนตกหนัก และอากาศหนาวเย็นในแถบแปซิฟิก ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 12 - 18 เดือน แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับว่ายาวนานผิดปกติ

 

สำหรับประเทศไทยหลังจากที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 และคาดว่าในช่วงเดือนเม.ย. - มิ.ย. สถานการณ์ภัยแล้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านและเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทางคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จึงผนึกกำลังสิงห์อาสาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในช่วงหน้าแล้งและภาวะปกติ

 

 

 

ม.ขอนแก่น เตือนภัย เอลนีโญ ส่งผลแล้งรุนแรง ผนึกกำลังสิงห์อาสาช่วยชาวบ้าน

 

การทำงานในปีนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ให้ความสำคัญของการสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์ภูมิอากาศของโลกในปีนี้ ก้าวเข้าสู่ภูมิอากาศแบบเอลนีโญ่ ซึ่งจะเป็นสภาพภูมิอากาศที่แล้งรุนแรง ฝนทิ้งช่วง ต่างจาก 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแบบลานีญา หรือสภาวะฝนมากกว่าปกติ ซึ่งในปีนี้จะทำงานร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ด้วยการขุดบ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ตลอดฤดูแล้งและภาวะปกติ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน ควบคู่กับการนำรถน้ำออกให้บริการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ณ ชุมชนบ้านหนองแวงไร่ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “จากการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งขึ้นทุบสถิติในปีนี้และปีหน้า ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิก โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12 - 18 เดือน ส่งผลทำอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อประเทศที่ประสบปัญหาจากสภาพอากาศแต่เดิมอยู่แล้ว เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า คลื่นความร้อนมาเร็วกว่าปกติ ส่งผลไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคอีสานที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง

 

 

 

 

ดังนั้น การสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยพื้นที่ที่เราเลือกในครั้งนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค และทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและฤดูกาลเพาะปลูกที่ฝนทิ้งช่วง กระบวนการเติมน้ำใต้ดินจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง สามารถกักเก็บน้ำได้ ซึ่งแบ่งออกเป็นรูปแบบบ่อเปิดและบ่อปิด ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยบ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ และบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้แหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้ำที่เพียงพอให้กับคนในชุมชน”

 

นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “การสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้ชาวขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งน้ำชุมชนไว้ใช้ทั้งในยามแล้งและปกติ เมื่อมีน้ำพอกินพอใช้จึงทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2564 สิงห์อาสาได้สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านมาแล้วในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง และจะขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยก่อนนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ที่สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้าน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแท้งค์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ ทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล และสร้างแหล่งน้ำชุมชน นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องภาคอีสานได้เป็นอย่างดี”

 

ม.ขอนแก่น เตือนภัย เอลนีโญ ส่งผลแล้งรุนแรง ผนึกกำลังสิงห์อาสาช่วยชาวบ้าน

 

ทั้งนี้ สิงห์อาสา และ คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันการศึกษา 16 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น และวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม จะสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนพร้อมช่วยสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชน เพื่อขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกคนมีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ