เตือน 'ผู้สมัคร สส.' เร่งเก็บ 'ป้ายหาเสียง' ก่อนฤดูฝน
จี้ 'ผู้สมัคร สส.' 50 เขต เร่งจัดเก็บ 'ป้ายหาเสียง' ขีดเส้นถึงวันที่ 19 พ.ค. 66 นี้ ก่อนมอบหมายสำนักรักษาความสะอาด เก็บกวาดแทน
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจนที่ผู้สมัคร ฯต้องดำเนินการ จัดเก็บให้แล้วเสร็จ แต่ประชาชาชนทั่วไป จะเก็บเอาไปใช้ตามใจไม่ได้ เพราะเข้าข่ายลักทรัพย์
การเก็บป้ายหาเสียงถือเป็นหน้าที่ของผู้สมัคร สส. ต้องตามเก็บป้ายของตัวเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการทำสัญญากับร้านที่ติดตั้งว่า รวมค่าจ้างถอดป้ายด้วย ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้น แต่หากผู้สมัครไม่เก็บป้าย เจ้าของพื้นที่คือ กทม. หรือเทศบาล หรือหน่วยราชการที่ดูแลในพื้นที่จะเป็นผู้จัดเก็บเรียกค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ พร้อมดำเนินคดี ตามกฎหมายรักษาความสะอาด
โดยปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการ 50 เขต แจ้งผู้สมัคร สส.ส่งทีมงาน เร่งจัดเก็บป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ออกจากต้นไม้ริมทาง และตามท้องถนนทั่วกรุงเทพฯ ภายในวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ ให้เวลา 3 วันดำเนินการให้เสร็จสิ้น ก่อนที่ กรุงเทพมหานคร จะให้เจ้าหน้าที่เขต ออกไปจัดเก็บป้ายออกเอง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยแก่ประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนน ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง สส. ที่ยังตกต้างอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ประชาชนไม่สามารถเก็บได้ เพราะถือเป็นทรัพย์สินของผู้สมัคร สส. หรือ เจ้าของป้ายหาเสียง หากผู้ใดมีพฤติกรรมการทำลายป้ายหาเสียง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มีโทษในอัตราเดียวกัน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงการเก็บป้ายหาเสียง ว่า ป้ายหาเสียงเป็นทรัพย์สินของผู้สมัคร ซาเล้ง หรือคนทั่วไปไปเก็บแทน มีข้อหาลักทรัพย์ ยกเว้นเจ้าของป้ายไม่ติดใจเอาความ
แต่หากประชาชน จะนำป้ายหาเสียงไปทำประโยชน์อื่น เช่น ทำฝาบ้าน บังแดดร้าน หรือเอาไปตัดเย็บกระเป๋า หากเจ้าของป้ายไม่ได้เป็นการสัญญาว่าจะให้ก็ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง