ข่าว

“เศรษฐา” ถึงเชียงใหม่ นั่งหัวโต๊ะ ถกแก้ “หมอกควัน-ไฟป่า-PM2.5" ภาคเหนือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงเชียงใหม่ เตรียมตรวจติดตามการปฏิบัติการป้องกันและดับไฟป่า นัดถกแก้ปัญหา “หมอกควัน-ไฟป่า-ฝุ่น PM2.5” ภาคเหนือ ตั้งเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ป่า เหลือร้อยละ 50

เมื่อเวลา 17.20 น.วันที่ 10 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมลงพื้นที่มอบนโยบาย แก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ในวันที่ 11 มกราคม 2566 นี้

 

“เศรษฐา” ถึงเชียงใหม่ นั่งหัวโต๊ะ ถกแก้ “หมอกควัน-ไฟป่า-PM2.5" ภาคเหนือ

โดยการดำเนินงานป้องกันไฟป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี2567 ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี เน้นแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าจากการเผาต้องลดน้อยลงควบคุมกิจกรรมที่ก่อมลพิษทางอากาศในทุกมิติเพื่อคืนอากาศที่สะอาดให้กับประชาชน 

 

 

และ ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2566 ให้บูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนทั้งทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ในการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี2567

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงสนามบินเชียงใหม่

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นนโยบายแก้ปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า ต้อง "แม่นยำรวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ” และเน้นย้ำมาตรการ “ตรึงพื้นที่” มีรายละเอียดดังนี้

 

1.เน้นการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และไฟป่า

 

2.ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครือข่ายอาสาสมัครดับไฟป่า ร่วมกันลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา

 

3.ห้ามเผาในที่โล่ง และบูรณาการหน่วยงานร่วมกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

 

“เศรษฐา” ถึงเชียงใหม่ นั่งหัวโต๊ะ ถกแก้ “หมอกควัน-ไฟป่า-PM2.5" ภาคเหนือ

 

แนวทางการจัดการไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี พ.ศ. 2567

 

1.จัดการเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟป่า ลดปริมาณและความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง ลดโอกาสในการเกิดไฟป่า หรือลดความรุนแรงและอันตรายของไฟ และ และป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าไปในพื้นที่ หรือเป็นแนวเส้นทางตรวจการณ์ระวังไฟป่า

 

2.ตรึงพื้นที่กำหนดจุดเฝ้าระวัง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะต้องมีจุดตรวจ/จุดสกัด และจุดเฝ้าระวังไฟป่า เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบเผาป่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันไฟป่า เน้นการทำงานเชิงรุก โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดจุดตรวจ/จุดสกัด จำนวน 1,311 จุด และจุดเฝ้าระวัง จำนวน 2,582 จุด (ทั้งประเทศ 3,893 จุด)

 

“เศรษฐา” ถึงเชียงใหม่ นั่งหัวโต๊ะ ถกแก้ “หมอกควัน-ไฟป่า-PM2.5" ภาคเหนือ

 

 

3.จัดตั้ง WAR ROOM ระดับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ บูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในสังกัด โดยมีหัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ รวมทั้งประสานงานระดับจังหวัด กรม และระดับกระทรวง ในการเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีภาคประชาชนในท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการจัดตั้ง WAR ROOM สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และ WAR ROOM พื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้งสิ้น 400 แห่ง

 

 

4.เตรียมพร้อมกำลังพลเพื่อดับไฟป่า บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยหัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในลักษณะ Single Command โดยมีกำลังจากชุดเสือไฟ 15 ศูนย์ 225 คน สถานีควบคุมไฟป่า 148 สถานี 1,776 คน เจ้าหน้าที่ป่าอนุรักษ์ 427 แห่ง และเครือข่าย อส.อส. จำนวน 1,690 เครือข่าย

 

 

5.เฝ้าระวังควบคุมพื้นที่ตลอดห้วงฤดูไฟป่า ภายใต้หลักการ “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุมและดับได้ไว”ประสานการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการในพื้นที่ รวมถึงเครือข่าย อส.อส. วางแผนป้องกันเชิงรุก โดยการเดินลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่า และช่วยกันแจ้งเหตุอย่างรวดเร็ว โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าและชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (เสือไฟ) ช่วยสนับสนุนการดับไฟเพื่อจำกัดการลุกลามและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไฟป่า

 

 

6.จัดระเบียบการเผาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า ใช้เทคโนโลยีควบคุมการเผา (BurnCheck / FireD) ซึ่งได้กำหนดให้มีการขออนุญาตทุกครั้งและห้ามเผาในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานและประกาศห้ามเผา เน้นปฏิบัติตามนโยบายไม่เผาและแปรรูปวัสดุทางการเกษตรให้มากขึ้น ส่งเสริมเรื่องคาร์บอนเครดิต การเกษตรแบบผสมผสาน การใช้เทคโนโลยีจัดระเบียบการเผาและการจัดพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนช่วงเกิด PM2.5 เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ

 

 

7.กำหนดแผนการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ ตามระดับสถานการณ์ความรุนแรงของไฟป่า ดำเนินการจัดทำแผนระดมพลดับไฟป่าขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดและความรุนแรงของไฟ รวมทั้งต้องมีการติดตามการเฝ้าระวังในแต่ละพื้นที่จนกว่าสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ

 

 

8.จัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการลงทะเบียนประชาชนที่เข้าออกพื้นที่ป่า ขอความร่วมมือประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณป่าอนุรักษ์ขึ้นทะเบียนการเข้าพื้นที่ป่าในการใช้ประโยชน์ก่อนถึงฤดูไฟป่า เพื่อเฝ้าระวังการเข้าออกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

 

 

9.ควบคุมการเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์ โดยกำหนดพื้นที่ให้เก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ถึงผลกระทบของการเก็บหาของป่าซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศ

 

 

10.รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เคาะประตูบ้าน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่าให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกาะติดราษฎรกลุ่มเผาป่ากระจายกำลังเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจ “ห้ามเผาป่า”

 

 

จากนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงกำหนดเป้าหมาย คือ“ลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ลง 50% จากปี 2566”

 

ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ทั้งประเทศ จำนวน 175,127 จุด แบ่งเป็น อยู่ใน

  • พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 70,511 จุด
  • พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 49,671 จุด
  • นอกพื้นที่ป่า จำนวน 54,945 จุด

 

พื้นที่เผาไหม้ ทั้งประเทศ จำนวน 20,596,127 ไร่ แยกเป็น

  •  พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 12,782,479 ไร่
  • พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 4,371,048 ไร่
  • นอกพื้นที่ป่า จำนวน 3,442,600 ไร่

 

โดย  วสันต์ ปัญญาเรือน ศูนย์เหนือ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ