ข่าว

สุขภาพจิตทรุด ราคาที่ศิลปินเคป๊อปต้องจ่ายแลกชื่อเสียงเงินทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การจากไปอย่างกะทันหันของซอลลี ฉายภาพซ้ำถึงปัญหาสุขภาพจิตของศิลปินในวงการบันเทิงเกาหลี เพราะอะไรที่ทำให้สุขภาพจิตของไอดอลมาถึงจุดนี้

 

เมื่อวานนี้ ( 16 ต.ค. ) ตำรวจเกาหลีใต้ สรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ ซอลลี นักร้องนักแสดงและนางแบบชื่อดัง หลังเสร็จสิ้นการชันสูตรว่า เธอจบชีวิตตนเอง ซึ่งเป็นการยืนยันข่าวไม่เป็นทางการก่อนหน้า โดยขณะที่ตำรวจไปถึงบ้านของเธอในเมืองซองนัม จ.คยองคี ใกล้กับกรุงโซลเมื่อบ่ายวันจันทร์นั้น ซอลลีสิ้นลมแล้ว ไม่พบเงื่อนงำหรือเหตุต้องสงสัยใดๆ 


การจากไปอย่างกะทันหันของซอลลี ในวัยเพียง 25 ปี  นอกจากจุดประเด็นทบทวนผลที่ตามมาจากการแสดงความเห็นเชิงเกลียดชัง การว่าร้ายในโลกไซเบอร์ต่อตัวศิลปินอย่างไม่บันยะบันยัง ยังเป็นอีกครั้งของการฉายภาพซ้ำถึงปัญหาสุขภาพจิตของศิลปินในวงการบันเทิงเกาหลี ที่มีเส้นทางสู่ความสำเร็จ และการรักษาความสำเร็จที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูงมาก และต้นสังกัดมักตกเป็นจำเลยไปด้วยแทบทุกครั้ง 

 


คิม ดอง วอน สมาชิกรุ่นแรกของบอยแบนด์ดัง ชินฮวา เขียนบนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันอังคาร ( 15 ต.ค.) ว่าชื่อเสียงและเงินทองของไอดอลเค-ป๊อป ต้องแลกมาด้วยสุขภาพจิต 

 


 “ศิลปินดังทำงานภายใต้แรงกดดันมหาศาล ระดับความเครียดที่พวกเขาต้องเผชิญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการแข่งขันที่ทวีความดุเดือด  โดยเฉพาะไอดอลเคป็อปอายุยังน้อย ไม่ได้กินหรือนอนหลับเต็มที่ ด้วยตารางงานรัดตัว แต่พวกเขาได้รับการร้องขอ ให้เก็บซ่อนอารมณ์  ยิ้มและแสดงแต่ทัศนคติเชิงบวกต่อหน้าแฟนๆในที่สาธาณะ  พวกเขาต้องเซ็กซี่ แต่ต้องไม่มีเซ็กส์ ต้องเข้มแข็งแต่ต้องไม่ต่อสู้เพื่ออะไรก็ตาม”  

 

 

กว่าจะเป็นไอดอลต้องผ่านการฝึกเคี่ยวกรำหลายปี หลังเปิดตัวเป็นศิลปินแล้ว พวกเขาก็จะต้องอยู่ตารางงานอย่างโหด ต้องทำงานยาวนานหลายชม. ไม่ต้องถามถึงความเป็นส่วนตัว และการรับรู้ความเห็นร้ายกาจในโลกออนไลน์ จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เปิดเผยตัวตน คุกคามเหล่านักร้องนักแสดง ลงท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล(anxiety disorder)

 


มินะ สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป ทไวซ์ (TWICE ) ต้องหยุดเส้นทางบันเทิงไว้ชั่วคราว เนื่องจากความเครียดระดับสูงและโรควิตกกังวล จนไม่สามารถเข้าร่วมทำอัลบัมล่าสุดกับวง 

 


แทมิน จากบอยแบนด์ SHINee  เคยสารภาพว่า เขารู้สึกกดดันมากกับการตอบสนองความคาดหวังของแฟน “ผมต้องบริหารจัดการตนเองให้ดี เพราะชีวิตไม่มีความเป็นส่วนตัว และต้องระวังตัวว่าจะไม่สร้างปัญหาใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องยาก” 

 


ศิลปินเกาหลีจำนวนมากเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุยังน้อย จึงมักเชื่อฟังต้นสังกัดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แทบไม่มีเวลาว่างทบทวนชีวิตตัวเอง พวกเขาเครียดมากแต่ไม่มีเวลาพอที่จะไปขอรับการบำบัด หรือเพราะเกรงว่าการไปโรงพยาบาลอาจนำไปสู่ข่าวลือ  


ซอลลี สะท้อนปัญหาเหล่านี้ทุกอย่าง 

 

สุขภาพจิตทรุด ราคาที่ศิลปินเคป๊อปต้องจ่ายแลกชื่อเสียงเงินทอง

 


ปี 2548 เธอเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงตั้งแต่ 11 ขวบ ผ่านออดิชันเป็นศิลปินฝึกหัดของ เอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ อยู่หอพักกับว่าที่ศิลปินรุ่นพี่  


ปี 2552  เข้าเป็นสมาชิกวง f(x)  ในวัย 15 


ปี 2557 ประกาศลาวงการชั่วคราว เพราะเบื่อข่าวลือไม่มีมูลและความเห็นเกลียดชัง แต่ต่อมากลายเป็นถอนตัวจากวงถาวร เมื่อกลับเข้าวงการอีกครั้ง หันไปเป็นศิลปินเดี่ยวและเอาดีทางการแสดง 

 

การออกจากวง f(x)  อาจเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือครั้งแรกของเธอก็เป็นได้  

 


พัค จอง ซ็อก หัวหน้าแพทย์คลินิกจิตเวช ยนเซ บอม ในกรุงโซล กล่าวว่า  ศิลปินดังหลายคนเปิดตัวในวงการตั้งแต่อายุยังน้อย พวกเขาก้าวเข้าสู่วัยรุ่นโดยขาดประสบการณ์มิตรภาพที่แท้จริงและความมั่นคงกับกลุ่มเพื่อน การใช้ชีวิตอยู่ในสายตาผู้คน และตกเป็นเป้าความสนใจมากเกินไป อาจทำให้พวกเขาเปราะบาง นำไปสู่อาการเช่น ขาดความมั่นใจ ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ขาดความสามารถปรับตัว ความลุ่มหลงประสบความสำเร็จและการอยู่รอดในการแข่งขันสุดโต่ง อาจนำไปสู่ความรู้สึกว่าเป็นปมด้อย นอกจากนี้ ยังอาจรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกกีดกัน เพราะไม่มีเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อน 

 


เมื่อตอนที่  คิม จง ฮย็อน อดีตสมาชิกวงชายนี และเพื่อนศิลปินสังกัดเดียวกัน กับซอลลี ฆ่าตัวตายในธันวาคม 2560  เอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก็ถูกวิจารณ์หนักมาครั้งหนึ่งเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของศิลปิน ( อ่านต่อ “จงฮยอน”ทิ้งข้อความอำลาเผยความทรมานจากซึมเศร้า  ) 

 


แท้จริงแล้ว บริษัทใหญ่ๆมีโครงการดูแลสุขภาพจิตร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่แพทย์กล่าวว่าไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติ เพราะตารางงานของพวกเขายุ่งมาก “โรคซึมเศร้าส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเหนื่อยล้ารุนแรง การให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนไข้ และวินิจฉัยอาการตั้งแต่เนิ่นๆก่อนอาการแย่ลง มีความสำคัญยิ่งกว่า” 

 

 

ขณะที่คัง มูน นักวิจารณ์ดนตรี แสดงความเห็นว่า เอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คือผู้บุกเบิกสร้างวัฒนธรรมไอดอลเกาหลี ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ต่อมา ระบบของเอสเอ็ม ได้กลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมเคป๊อปในภาพรวม  “นักร้องฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เอเจนซีทั้งหลายจะต้องทบทวนระบบของตนเองว่าจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายและใส่ใจสุขภาพจิตของศิลปินในค่ายมากขึ้น 

 


อ้างอิง http://www.koreatimes.co.kr/www/art/2019/10/732_277216.html

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ