ข่าว

“ศ.ดร.กนก” แนะร่างรธน.เปิดช่องเลือก “รมว.ศึกษาฯ” ไม่สังกัดพรรคการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ศ.ดร.กนก” เปิดข้อมูลรอบ 20 ปี นักศึกษาเวียตนามเข้าศึกษา ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกถึง 150,000 คน มากกว่าหลายประเทศรวมกัน แต่ไทยติดกับดักความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้ขีดความสามารถต่ำ-ความหลื่อมล้ำรุนแรง แนะแก้รธน.เปิดช่องเลือก “รมว.ศึกษาฯ” รับผิดชอบการศึกษาชาติ

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(รมว.พม.)โพสต์ข้อความผ่าน แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และ แพลตฟอร์มเอ็กซ์X หรือทวิตเตอร์ มีใจความระบุว่า 

เวียตนามแซงหน้าไทยด้วยการศึกษา

Nikkei Asia ตีพิมพ์บทความเมื่อ 16 ก.พ. 67 พาดหัวว่า “บัณฑิตจากฮาร์วาร์ด อ๊อกฟอร์ด เติมพลังขับเคลื่อน Tech Start Up ของเวียตนาม”

 

จำนวนนักศึกษาเวียตนามในต่างประเทศจำนวนเกือบ 150,000 คนมากกว่าจำนวนนักศึกษาอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยในต่างประเทศรวมกัน

 

 

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานักศึกษาเวียตนามเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น ฮาร์วาร์ด อ๊อกฟอร์ด เคมบริดจ์ เป็นต้น เมื่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจำนวนนับแสนกลับเวียตนาม พวกเขาคือกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเวียตนามให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา

 

 

ช่วงเวลาเพียง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศเวียตนามพลิกประเทศจากสงครามมาเป็นประเทศแนวหน้าของอาเซียนได้สำเร็จ

 

ตรงกันข้าม 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดกับดักความขัดแย้งภายในทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ส่งผลให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแข่งขันได้น้อยลง และติดกับดับประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมทั้งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง

 

“ศ.ดร.กนก” แนะร่างรธน.เปิดช่องเลือก “รมว.ศึกษาฯ” ไม่สังกัดพรรคการเมือง

 

ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาไทยที่ทำท่าจะยกระดับได้ด้วยการเปิดโอกาสการศึกษาให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ แต่ระบบบริหารการศึกษากลับติดหล่มอยู่กับวงจรการปกป้องผลประโยชน์ของบุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมุ่งแต่รักษาอำนาจมากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 

 

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนตัวนับครั้งไม่ถ้วน ในช่วงเวลาที่บริหารกระทรวงจึงไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ หลายท่านอาจจะบอกว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นไม่มีใจที่จะบริหารเพื่อคุณภาพการศึกษา จนส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่พรรคการเมืองไม่ค่อยอยากได้

 

 

เมื่อการศึกษาสำคัญต่ออนาคตประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบกับพรรคการเมืองไม่ค่อยอยากได้กระทรวงศึกษาธิการเท่าไรเพราะสร้างผลงานให้คนเห็นได้ช้า งานยาก ความสลับซับซ้อนภายในยากแก่การจัดการ ประกอบกับนักการศึกษาคุณภาพสูงที่อยู่ในพรรคการเมืองมีน้อย ทำให้เราคาดหวังได้ยากที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนจากระบบการเมืองและพรรคการเมืองปัจจุบัน

 

 

ถ้าผมขอคิดนอกกรอบระบบการเมืองปัจจุบัน รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะร่างหรือแก้ไขกันก็ตาม น่าจะกำหนดไปเลยว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันเลือก“บุคคลที่มีคุณภาพและภาวะผู้นำตลอดจนมีประสบการณ์ทางการศึกษาสูง”ให้มารับผิดชอบบริหารคุณภาพการศึกษาของประเทศ

 

 

ผมมั่นใจว่าด้วยคุณภาพและคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเช่นนี้ ประเทศไทยจะกลับมาแซงหน้าเวียตนามอีกครั้งได้แน่นอนครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ