ข่าว

เปิด 10 วิธี ดู เพจ 'ที่พัก' ปลอม ก่อนตกเป็นเหยื่อ 'มิจฉาชีพออนไลน์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำรวจไซเบอร์ เปิด 10 วิธี ป้องกัน เพจ 'ที่พัก' ปลอม ก่อนตกเป็นเหยื่อ 'มิจฉาชีพออนไลน์' จุดบอดคือ เหยื่อส่วนใหญ่จะตรวจสอบก็ต่อเมื่อ โอนเงินไปแล้ว

ปัจจุบันมิจฉาชีพออนไลน์ มักมีกลยุทธ์ การหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ เพื่อหลอกล่อเหยื่อ ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน หลอกลวงขายสินค้า หรือแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ ล่าสุด ก็มาในรูปแบบสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม ลอกเลียนแบบเพจโรงแรม หรือที่พัก ให้ประชาชนโอนเงินค่ามัดจำ ซึ่งพบมีประชาชนตกเป็นเหยื่อเป็นจำนวนมาก ทางตำรวจไซเบอร์ จึงแนะ 10 วิธี ดู “เพจที่พักปลอม” เพื่อป้องกันตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

วิธีป้องกันเพจที่พักปลอม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพออนไลน์ สร้างเพจที่พักปลอม ลอกเลียนแบบเพจโรงแรม หรือที่พักจริงในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินค่ามัดจำที่พัก และค่าประกันทรัพย์สินเสียหาย นั้น

 

 

ที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายราย ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบแผนประทุษกรรมของมิจฉาชีพที่นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบเดิมๆ จำนวน 2 วิธี คือ

 

 

  1. การสร้างเพจปลอม โดยการตั้งชื่อเพจ หรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจที่พักจริง คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา กิจกรรม และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้ และใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการที่พักได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการซื้อ หรือใช้เพจอื่นที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นเพจที่พักปลอมดังกล่าว
  2. ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตาร โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือเป็นลูกค้าทั่วไปแล้วทำการแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม กลุ่มท่องเที่ยว หรือกลุ่มที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความขายบัตรกำนัล (voucher) ของที่พักในราคาถูก หรือในลักษณะว่ามีห้องพักหลุดจองราคาด่วน ราคาดี กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อพูดคุย ติดต่อโอนเงินค่ามัดจำ ค่าประกันทรัพย์สินเสียหายไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้อีก

 

โฆษกตำรวจไซเบอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการสำรองที่พัก หรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จะตรวจสอบก็ต่อเมื่อได้ทำการโอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพแล้ว ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง และรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจที่พักเหมือนที่พักจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป พบเจอในกลุ่มท่องเที่ยว หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น

 

 

10 วิธีป้องกันตกเป็นเหยื่อเพจที่พักปลอม

 

 

  1. หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดาเพื่อมัดจำค่าที่พัก บัญชีที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น
  2. สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking, Agoda Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
  3. หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ หากมีหลายเพจชื่อซ้ำกันต้องตรวจสอบให้ละเอียด
  4. เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
  5. โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ ชื่อและเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
  6. เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง
  7. เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
  8. ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
  9. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด            
  10. หมั่นตรวจสอบข่าวสารจากทางราชการอยู่เสมอ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ