ชีวิตดีสังคมดี

เปิด 5 พฤติกรรม 'ภัยคุกคามทางเพศออนไลน์' มิจฉาชีพชอบให้หลอกเหยื่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Grooming พฤติกรรม 'ภัยคุกคามทางเพศออนไลน์' ที่แฝงตัวในคราบนักบุญ เปิด 5 พฤติกรรมที่มิจฉาชีพชอบหลอก เตือนสติวัยรุ่นอย่าตกหลุมพราง

“ทำไมแบบนี้ทำไม”, “ทำไมเชื่อคนง่าย”, “ทำไมไม่บอกพ่อกับแม่” ประโยคเหล่านี้เปรียบเสมือนกำแพงปิดกั้นให้เหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศไม่ยอมเปิดใจเล่าความจริงให้ครอบครัวรับฟัง หรือเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนอื่น รวมถึงการตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะคำพูดบางประโยคอาจทำให้เหยื่อรู้สึกเหมือนถูกคุกคามซ้ำ และเลือกที่จะปิดปากเงียบ ท้ายที่สุดจึงนำมาซึ่งความสูญเสีย

 

 

ข้อมูลจากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ระบุว่า เยาวชนที่ถูก "คุกคามทางเพศออนไลน์" หรือการคุกคามทาเพศในรูปแบบอื่นๆ มีการแจ้งความเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เนื่องจากกระบวนการในการแจ้งความมีความซับซ้อน เด็กไม่สามารถแจ้งความเองได้ เพราะกฎหมายระบุว่า พ่อแม่เท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้แจ้งความให้กับเด็กที่เสียหาย อีกทั้งเด็กต้องเล่าเรื่องทุกอย่างให้แก่เจ้าหน้าที่ฟัง ซึ่งบางคนไม่สะดวก และไม่สบายใจที่จะเล่า รวมไปถึงกระบวนการในการดำเนินการจะต้องมีการเก็บหลักฐาน ข้อมูลการแชตประกอบการดำเนินคดี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อ

  • กระบวนการ Grooming มิจฉาชีพที่แฝงมาในคาบนักบุญ

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย อธิบายว่า ปัญหาการ "คุกคามทางเพศออนไลน์" ส่วนใหญ่มักจะเกิดมาจากการที่มิจฉาชีพวางแผน และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเหยื่อที่เป็นเยาวชน โดยการให้ค่าขนม ช่วยเหลือครอบครัว โดยมักจะแฝงมาในรูปแบบความหวังดี สร้างตัวเองให้เป็นนักบุญ จากนั้นเมื่อเด็กไว้วางใจก็จะชวนให้มาหา และเริ่มลวนลาม กอด จูบ วิธีการลักษณะนี้เรียกว่าการ Grooming หรือการค่อยๆ สร้างภาพให้ดูดีก่อนที่จะหลอกลวง และคุกคามทางเพศ ต่อมาก็จะนำภาพหรือคลิปไปแบล็คเมล์ เพื่อให้เด็กกลับมาทำแบบเดิมซ้ำๆ หรือเรียกเงินจากเหยื่อ

  • เติมวัคซีนความรู้ให้เด็กก่อนสาย สร้างกฎหมายที่ดีคุ้มครองเยาวชน

แน่นอนกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดย่อมดีกว่า ดังนั้นกระบวนการสร้างความรู้จึงถือว่าเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่จะเติมเต็มให้เด็ก เยาวชนใช้เอาตัวรอดก่อนตกเป็นเหยื่อ โดย ดร.ศรีดา อธิบายเพิ่มเติมว่า  สิ่งสำคัญไปกว่าการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ คือการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีและถูกต้องให้แก่เด็ก และครอบครัว โดยที่ผ่านมามูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้ร่วมงานกับทรูและดีแทค ให้ความรู้เกี่ยวกับการ Grooming ผ่านโครงการ Young safe Internet Leader Hybrid Camp ปีที่ 5 ผ่านค่าย The Public Service Hackathon : ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา เพื่อให้เด็กๆ ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา และวิธีการเอาตัวรอด รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการแจ้งความเอาผิดผู้กระทำความผิด

 

เตือนภัยคุกคามทางเพศออนไลน์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระบวนการแจ้งความมีขั้นตอนมาก และเอาผิดค่อนข้างยาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กไม่กล้าเปิดใจเล่าเรื่อง ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม การแจ้งความที่ต้องรอให้เกิดเรื่อง มีเหยื่อก่อนจึงจะสามารถดำคดีได้ สุดท้ายทุกอย่างช้าเกินไป จนเกิดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก

 

            การร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เป็นพาร์ทเนอร์ อาทิ TICAC TIJ ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้จึงเป็นเสมือนทางเชื่อม และทางลัดที่จะช่วยเหลือ สร้างการตระหนักรู้ และองค์ความรู้ให้เด็กๆ ได้ โดยเฉพาะความกล้าที่จะปฏิเสธ การเชื่อสัญชาตญาณแรกหากรู้สึกว่าโดนแตะเนื้อต้องตัวจนเกิดความไม่สบายใจ และอย่ากลัวที่จะปฏิเสธ หรือการตัดสินใจเล่าเรื่องนี้กับคนอื่นทราบ

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ศรีดา กล่าวว่า การสร้างความรู้เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการช่วยเหลือเหยื่อเท่านั้น แต่การออกกกฏหมายจะช่วยให้เด็กได้รับการปกป้องที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่จะถูกลวงละเมิดทางเพศ ขณะนี้ทางมูลนิธิอยู่ระหว่างการผลักดันเสนอให้ออกกฎหมาย Grooming และได้ส่งรายละเอียดไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว เชื่อว่าหากกฎหมายสามารถประกาศใช้ได้เยาวชนไทยจะตกเป็นเหยื่อการ "คุกคามทางเพศออนไลน์" น้อยลง กระบวนการเอาผิดจะทำหน้าของตัวเองได้ดีมากขึ้น และมิจฉาชีพจะได้รับโทษที่สาสมกับการก่ออาชญากรรมทางเพศ

 

 

ด้านพ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับ (ผกก.) กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (TICAC) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายภาพความจริงที่น่ากลัวของภัยไซเบอร์ผ่านโครงการ Young safe Internet Leader Hybrid Camp ซึ่งจัดโดยทรูและดีแทค ในปีที่ 5 โดยบอกว่า  สำหรับพฤติกรรมของคนร้ายที่แฝงเข้ามาล่อลวงเหยื่อหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศมักจะใช้เงินล่อ หรือไม่ก็เชิญเด็กๆ ให้เป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า หรือท้าให้เปิดกล้อง ยกตัวอย่างเช่น

 

เตือนภัยคุกคามทางเพศออนไลน์

1.หลอกจะให้เงิน คนร้ายจะทักมาชวนเชิงให้ความช่วยเหลือก่อน จากนั้นจะชวนแลกรูปภาพกันโดยจะหลอกให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย จนท้ายที่สุดจะมีการนำภาพนั้นมาแบล็คเมลในภายหลังโดยข่มขู่ว่าหากไม่อยากให้ภาพหลุดต้องโอนเงินเพื่อแลกกัน

 

2.เชิญให้เป็นดารา ส่วนใหญ่คนที่ตกเป็นเหยื่อจะดาตาดีหรือเป็นเน็ตไอดอล โดยคนร้ายจะแฝงตัวเข้ามาเชิญไปแสดงหนัง รีวิวสินค้า เริ่มแรกจะให้โชว์สัดส่วนก่อน โดยส่วนใหญ่มักจะปลอมตัวมาในรูปแบบโมเดลลิง

 

3.ชวนให้แก้ผ้า ลักษณะนี้จะเกิดในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นแฟนกัน ซึ่งจะมีการขอถ่ายรูป ชวนวิดีโอคอลจากนั้นพอเลิกรากันก็ขู่ปล่อยคลิปปล่อยภาพเปลือย

 

4.ท้าให้เปิดกล้อง ส่วนใหญ่จะเจอบนแอปหาคู่ ซึ่งคนร้ายจะปลอมโปร์ไฟล์และหลอกล่อเด็กๆเยาวชนให้เปิดกล้อง

 

5.หลอกให้ถอดเสื้อผ้า หรือทำการอนาจารในรูปแบบอื่นๆ จะเห็นได้ว่าการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์เป็นภัยร้ายใกล้ตัวแค่เอื้อม ที่เด็กๆ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

 

เตือนภัยคุกคามทางเพศออนไลน์

 

แม้ว่าภาพรวมปัญหาการ "คุกคามทางเพศออนไลน์" ในเด็กของประเทศไทยจะยังไม่วิกฤตแต่การป้องกันการตกเป็นเหยื่อถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ