ข่าว

'ซีพี' ขานรับ นายกฯ เทียบเชิญหารือช่วยเหลือ ปท.วิกฤต'โควิด-19 '

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศุภชัย" ประธานคณะผู้บริหาร ซีพี ขานรับ ชมนายกฯ เป็นความหลักแหลม ที่ทำหนังสือเชิญผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มาร่วมหารือ จะส่งผลให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ โควิด-19  มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

       นายศุภชัย เจียรวนนท์ ระธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์( ซีพี) ซึ่งติดอันดับ 1 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2563 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์และในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าว ถึงกรณีจดหมายเปิดผนึกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า  นับว่าเป็นความหลักแหลมของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ทำหนังสือเชิญผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เปรียบรัฐบาลเสมือนเป็นฝ่าย “หยิน” เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดูแลกฎระเบียบ กำกับและออกนโยบายมาช่วยแก้ปัญหา
       ขณะที่ภาคเอกชนเป็นเหมือน “หยาง” เนื่องจากภาคเอกชนมีกลไกครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่รายย่อย ซึ่งเป็นเครือข่ายทางการค้า ไล่มาจนถึงเอสเอ็มอี และผู้ร่วมทุนรายใหญ่ จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสะท้อนปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     "ดังนั้น เมื่อระดมความเห็นทั้ง 2 ด้านมาช่วยแก้ปัญหา จะส่งผลให้การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สามารถทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
 

     นายศุภชัย กล่าวว่า หลังจากนี้นายกรัฐมนตรีได้เตรียมพร้อมหารือร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้แทนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้แทนจากนักวิชาการ การประชาสังคมอีกหลายเวที เพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาร่วมสังเคราะห์ข้อมูล และร่วมกันตัดสินใจนำพาประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ก้าวไปในทางดีที่สุด ซึ่งการเริ่มใช้เวลารับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายครั้งนี้นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก
      นอกจากนี้ นายศุภชัย ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลจัดทำยุทธศาสตร์ เสนอรัฐบาลเพื่อสร้าง BigData ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับเป็นทางเลือกให้แต่ละโรงพยาบาลนำข้อมูลใช้รักษาผู้ป่วย การร่วมกันจัดทำระบบทดสอบไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดย้อนกลับมา สร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจ การพัฒนาวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ประชาชนและภาคธุรกิจ
    สำหรับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ กทม.และการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้หลายหน่วยงานต้องทำงานจากที่บ้าน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการประชุมงาน จัดประชุมตามข้อกำหนดของบริษัทจดทะเบียนหรือประชุมด้านต่างๆเดินหน้าต่อไป โดยไม่ติดขัดและถูกกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเสนอให้การทำสัญญา การลงนามลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสาร E-Document เป็นเอกสารหลักแทนกระดาษเนื่องจากปัจจุบันเอกสารกระดาษเป็นเอกสารหลักในการทำสัญญา หลังจากวิกฤตโควิด-19 ควรกลับด้านให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร E-Document เป็นเอกสารหลักแทนกระดาษ  รวมทั้งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลอีกหลายด้านต้องให้การคุ้มครอง เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอีกหลายด้าน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ