ข่าว

ลุยเต็มสูบแก้แล้งซ้ำซาก อีสานกลาง ระดมสร้างแก้มลิง เขื่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลฯลุยเต็มสูบแก้ภัยแล้งซ้ำซาก อีสานกลาง ระดมสร้างแก้มลิง เขื่อน ตลอดแนวลุ่มน้ำชี หวังเพิ่มน้ำกว่า500ล้านลบ.ม.เล็งสร้างอุโมงค์ยาว22กม.ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์

 

 

25 ธันวาคม 2562 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 3 เขื่อนขนาดใหญ่ ของพื้นที่ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด อีสานกลาง คือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด  

 

 

พบว่าเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 521 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.)หรือร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ ต่ำกว่าปริมาณน้ำที่ใช้การได้ขณะนี้นำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ไปแล้วมากกว่า 60 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 47 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9.37 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ดังนั้น เขื่อนทั้ง 2 แห่ง จะส่งน้ำสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น งดปลูกพืชฤดูแล้งทุกชนิด


ในขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,527 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,427 ล้าน ลบ.ม.สนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 13 แห่ง โดยอยู่ในเขตจ.ชัยภูมิ 5 แห่ง จ.ขอนแก่น 6 แห่ง และจ.ร้อยเอ็ด 2 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ

 

ดังนั้น กรมชลประทานต้องวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้น้ำที่มีจำกัดพอใช้เฉพาะอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้น
ฤดูฝนปีหน้า ดังนี้พื้นที่จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีเป้าหมายลดปริมาณใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะส่งไปสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในอ.เมืองมหาสารคาม ด้วยการสูบน้ำย้อนกลับจากแม่น้ำชี ที่ส่งมาจากเขื่อนลำปาวมาเติมหน้าเขื่อนวังยาง พร้อมควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก. เพื่อให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

 

ทั้งนี้ จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบย้อนกลับดังกล่าว 4 เครื่อง จะสูบน้ำได้ประมาณวันละ 170,000 ลบ.ม.สูบประมาณ 35 วัน เริ่มสูบกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้หน้าเขื่อนวังยางเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 6 ล้าน ลบ.ม. เพียงพออุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563 จากแนวทางรดังกล่าว จะลดใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้วันละ 50,000 ลบ.ม. ทำให้เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเพียงพออุปโภคบริโภคในเขตจ.ขอนแก่น

 

 

อย่างไรก็ตาม หากน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเมืองมหาสารคามยังไม่พอ ได้วางแผนระบายจากเขื่อนลำปาวช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนลำปาวไม่ต้องการน้ำทำการเกษตรมาช่วยผ่านประตูระบายน้ำพนังชี มาเติมน้ำหน้าเขื่อนวังยางได้อีกประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการตระหนักรู้ร่วมกันของประชาชนช่วยประหยัดน้ำให้มากที่สุด


สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น กรมมีแผนพัฒนาปรับปรุงเพิ่มความจุแก้มลิงที่กระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชีให้เต็มศักยภาพ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีก 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 257.96 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่เพิ่มขึ้น กำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง อยู่ในจ.ชัยภูมิคือ อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ.หนองบัวแดง อ่างเก็บลำน้ำชี อ.บ้านเขว้า และอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว เก็บน้ำได้รวมกันประมาณ 160 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 127,000ไร่ และตั้งแต่ปี 2562-2565 จะสร้างอ่างเก็บน้ำใน จ.ชัยภูมิอีก 3 แห่ง เช่นกัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ
อ่างเก็บน้ำห้วยจอมแก้ว และอ่างเก็บน้ำลำเจียง มีความจุรวมกันประมาณ 74 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 49,000 ไร่
ในอนาคตเมื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนที่กำหนดไว้แล้วเสร็จ ปัญหาขาดแคลนน้ำของ“อีสานกลาง” จะบรรเทาลง

 

ขณะเดียวกัน“อีสานแห่งกาญจนบุรี”หรือ“อีสานเมืองกาญจน์”พื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ ในจ.กาญจนบุรี ได้แก่ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือและอ.พนมทวน ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเกิดขาดแคลนน้ำยาวนานถึงขั้นไม่มีน้ำเพื่ออุปโภค–บริโภค จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูงและซ้ำซาก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ที่อยู่บนสันเขาใกล้เส้นแบ่งสันปันน้ำ จึงไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้
การแก้ปัญหาปัจจุบันเป็นการแก้เฉพาะหน้าเร่งด่วน กรมชลประทานสูบน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง ที่มีน้ำท่าสมบูรณ์ไปเติมสระเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ สระเก็บน้ำหนองนาทะเลความจุ 2.5 ล้านลบ.ม. สระเก็บน้ำวัดทิพย์สุคนธารามความจุ 1.15 ล้านลบ.ม. และสระเก็บน้ำบ้านหนองมะสังข์ความจุ 400,000 ลบ.ม. รวมทั้งยังเติมให้สระเก็บน้ำอื่นๆที่มีศักยภาพด้วย แต่จะสนับสนุนเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น


อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การแก้ปัญหาอีสานแห่งกาญจนบุรีระยะยาวนั้น ล่าสุดคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเร่งศึกษา โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาแล้ง จ.กาญจนบุรี เพื่อแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากใน 5 อำเภอดังกล่าวให้แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งกรมชลประทานเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติที่จะร่วมบูรณาการขับเคลื่อนโครงการ


โดยการศึกษาเบื้องต้น แนวทางที่เป็นไปได้คือ สร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ลอดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสลักพระไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ของกรมชลประทานระยะยาว 22 กม. พร้อมระบบท่อส่งน้ำ 14 กม. และคลองส่งน้ำยาว 147 กม. หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ จะแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ