คอลัมนิสต์

เช็กประวัติเปิดปูม 13 สว. เทใจโหวต 'พิธา' ผลคะแนนย้ำชัดก้าวไกลไม่ได้ไปต่อ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงจาก 13 สว. ที่เทใจโหวตให้ 'พิธา' เป็นนายกฯ ตอกย้ำชัดว่า 'ก้าวไกล' ไม่ได้ไปต่อเกือบ 100% ผลการลงคะแนนเลือก 'นายกรัฐมนตรีคนที่ 30' รอบแรก จึงมีความชัดเจน และสะท้อนทิศทางการเมืองหลังจากนี้อย่างแจ่มแจ้ง และตรงไปตรงมา

 

ผลการลงคะแนนเลือก 'นายกรัฐมนตรีคนที่ 30' รอบแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ค่อนข้างแจ่มแจ้งและตรงไปตรงมา โดยเฉพาะอนาคตของ 'พิธา' และ 'พรรคก้าวไกล' ว่า สว.ไม่ให้โอกาสพรรคอันดับ 1 ได้ไปต่อ แม้พวกเขาจะไม่ยอมแพ้ แต่ผู้นำประเทศ และแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคงไม่ใช่พรรคก้าวไกล เนื่องจากได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพียง 324 คะแนน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง ซึ่งต้องลุ้นว่าจะได้สิทธิ์โหวตรอบ 2 หรือไม่

 

คลี่ผลคะแนน สว.จากทั้งหมด 249 คน (เรณู ตังคจิวางกูร ลาออกก่อนวันโหวต 1 วัน) พบว่ามี สว. เพียง 13 เสียงที่โหวตสนับสนุน "พิธา" ขณะที่คะแนนไม่เห็นชอบ 34 คน และงดออกเสียง 159 คน และมี สว.ไม่เข้าร่วมประชุมถึง 43 คน โดยเฉพาะผู้บัญชาการเหล่าทัพที่อ้างติดราชการ 

 

 

ที่น่าสังเกตมากกว่านั้นมี สว.จำนวนหนึ่งที่แสดงท่าทีจะโหวตสนับสนุน แต่เมื่อถึงเวลากลับขาดประชุม และจำนวนหนึ่งได้งดออกเสียง อาทิ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, ประมาณ สว่างญาติ, สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์, ประยูร เหล่าสายเชื้อ, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ภัทรา วรามิตร นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และทัศนา ยุวานนท์ 

 

 

เปิดประวัติปูมหลังเบื้องต้น สว.ที่โหวตสนับสนุน 'พิธา' 13 คน ประกอบด้วย ดังนี้

1) นพ.ไกสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ เกิดเมื่อปี 2487 นอกจากตำแหน่ง สว. ยังทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย เขาเองบอกว่า เป็นเด็กชนบทจากบ้านห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน คุณหมอเป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัวตันติศิรินทร์

 

 

วัยเด็กจบจากโรงเรียนวัดบ้านห้วยขะยุง สอบได้ที่ 1 ตั้งแต่เรียนชั้นป. 2 หลังจบชั้น ป.4 สามารถสอบเข้าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี กระทั่งจบ ม. 6 สามารถสอบเข้าเตรียมอุดม เพื่อเรียนต่อ ม.7 - ม.8 อีก 2 ปี โดยผลการเรียนดีได้ที่ 1 ตลอด 

 

 

ผลการเรียนที่หนึ่งของห้องต่อเนื่องทำให้เด็กชายไกรสิทธิ์ได้รางวัลตอบแทนจากคุณปู่เป็นครั้งละ 10 บาท และด้วยมีพื้นฐานรักการอ่าน ช่วงที่ไปช่วยขายหนังสือที่ร้านขายหนังสือข้างบ้านพัก จึงได้อ่านหนังสือมากมาย โดยเฉพาะการอ่านนิยาย ซึ่งคุณหมอเล่าว่า ได้อ่านนิยายที่อ่านเขียนโดย ป.อินทรปาลิต พล นิกร กิมหงวน และเรื่องอื่นๆ อีกมาก 

 

 

"พอผมเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ 5 – 6 ตอนนั้นช่วงปิดเทอม ผมมักจะเข้าห้องสมุดพยายามอ่านหนังสือในห้องสมุดจนแทบจะอ่านทุกเล่มเลยก็ได้ ตั้งแต่หนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ หนังสือภูมิศาสตร์ หนังสือเรื่องการพัฒนาตน หนังสือการพัฒนาตนที่ผมอ่านมากๆ ก็คือ หนังสือของ เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) แปลมาโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ เป็นต้น

 

 

"พอเรียน ม.7 ก็ลองสอบเทียบทางด้านอักษรศาสตร์ ผมก็สอบได้ ตอนหลังมาทราบว่าสอบได้ 78% ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนสูง ซึ่งมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด ในช่วงที่ผมเรียนชั้น ม.5 ม.6 ม.7 ม.8 เนี่ย ผมก็พยายามอ่านหนังสือเอง ซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วแนวทางความสามารถทางการเรียนก็เริ่มชัดว่า ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ผมมักจะทำคะแนนได้ดีมากๆ ทางด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพราะความที่ได้อ่าน คะแนนก็อยู่ในชั้นนำ แล้วก็ได้คะแนนที่ 1 มาตลอด..."

 

 

"...พอจบชั้น ม.8 ก่อนจะมาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมไปกวดวิชาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) นิดหนึ่ง แล้วสามารถสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ เท่าที่จำได้ปีนั้นเขาคัดเลือก 100 คน ผมได้เป็นคนที่ 51 ตอนนั้นก็รู้สึกดีใจ นี่ก็เป็นประวัติการศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย" (ที่มา: https://museum.li.mahidol.ac.th/th/MU-10th-prototype/index.php/kraisid-tontisirin-1/)


 

2) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
ก่อนจะเป็น สว. คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เคยนั่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 2 สมัยติดต่อกัน ที่ผ่านมาคนใกล้ตัวรู้ดีว่าคุณหมออำพลนั้นใครสั่งไม่ได้ ซึ่งก่อนจะโหวตนายกฯ คนที่ 30 นพ.อำพลได้โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พร้อมโหวตนายก" ระบุว่า 

 

 

"...ผมเตรียมโหวตให้คนที่พรรคการเมืองรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อ เพื่อให้เข้าไปเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากบริหารประเทศต่อไป ใช้เหตุผลเดียวกันกับที่เคยใช้ตอนโหวตเลือก นรม. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อปี 62 จะกลับกลิ้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ประวัติศาสตร์จะจารึกและบันทึกไว้ครับ

 

 

"ที่จริงผมก็ไม่อยากใช้อำนาจตามบทเฉพาะกาล ม.272 นี้ แต่เมื่อหน้าที่นี้ยังมีอยู่ ก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป เพื่อให้กลไกและกติกาตา มรธน.ที่ใช้อยู่เดินหน้าไปได้ โดยจะทำหน้าที่แบบ 'ไม่ตั้งตนเป็นใหญ่' ไม่หาเหตุผลใดๆ มาอ้างเพื่อขวางเสียงประชาชน

 

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามเสนอแก้ไขหน้าที่และอำนาจนี้ หรือที่เรียกว่า "ปิดสวิตช์ สว." ด้วยมองว่า สว. ไม่ควรมีหน้าที่และอำนาจเลือก นรม. เพราะไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง ควรเป็นหน้าที่และอำนาจของ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น ซึ่งผมเห็นด้วย

 

 

"ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการขอแก้ไข ผมจึงโหวตเห็นด้วยให้ปิดสวิตช์ สว. แต่เสียง สว. เห็นด้วยไม่ถึง 1 ใน 3 (ไม่ถึง 84 เสียง) คือเสียง สว.ส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการให้ปิดสวิตช์  มาตรา 272 จึงยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ (=สวิตช์ยังเปิดอยู่) ถ้าจะอ้างปิดสวิตช์ตอนนี้ ก็จะเท่ากับอ้างเพื่อไม่ทำหน้าที่ และกลายเป็นการขัดขาคนที่ถูกเสนอชื่อเป็น นรม. (ที่มา: https://museum.li.mahidol.ac.th/th/MU-10th-prototype/index.php/kraisid-tontisirin-1/)

 

 

3) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 
ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวม 4 คน มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เป็นเลขาธิการ กกต. คนใหม่ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 จากผู้สมัครที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ 5 คน จากนั้นจึงขยับจากรองเลขาธิการ กกต. มาทำสัญญาจ้างในฐานะเลขาธิการ กกต. ที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในปี 2561 กระทั่งถูกเลือกมาเป็น สว.

 

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2501 จบการศึกษารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2550 เป็นรองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย, สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 

 

 

4) เฉลา พวงมาลัย
"เฉลา" เป็น สว. ที่เคยอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ได้เสียหายอะไร และควรร่วมมือทำงานเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าจะดีหรือไม่ 

 

 

"ผมประทับใจและดีใจที่รัฐสภาแห่งนี้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีผู้เสนอเป็นนายกรัฐมนตรี 2 คน แต่ผมดูแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าดีที่สุด...ผมเห็นในรัฐสภาแห่งนี้ให้ร้ายและป้ายสีวุฒิสภา ผมทนไม่ได้ ผมจึงต้องลุกขึ้นมาพูดในวันนี้และประทับไว้ว่า สว. 250 คนไม่ใช่เลวร้าย 

 

 

"...ทุกคนมีความสามารถ ดูแล้วการทำงานมีประสบการณ์และเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งสิ้น และ สว.ลงพื้นที่ การทำงานของเราเป็นระบบและเป็นทีม เอาข้อมูลไปนำเสนอประชาชน และนำมาเสนอแนะรัฐบาลให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า แต่สมาชิกรัฐสภาบางคน พูดจาก้าวร้าว เสียดสี สว. 250 คน ผมคงทนไม่ได้” เฉลา กล่าวไว้ (ที่มา: https://mgronline.com/politics/detail/9650000085703)

 

 

5) ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
"ซากีย์" เป็นบุตร อาศิส พิทักษ์คุมพล ก่อนมาเป็น สว. เขาอยู่ในคณะทำงานศึกษาปัญหาชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเป็นที่ปรึกษาคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข "ซากีย์" จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเบอร์ร่า และรับราชการเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

 

 

"ซากีย์" ยังเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และเป็นรองเลขานุการจุฬาราชมนตรี โดยได้การแต่งตั้งเป็น สว. เมื่อปี 2562 ได้รับเลือกมอบหมายให้ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา และรองโฆษก กมธ. การบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา (ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3860755)

 

 

6) พีรศักดิ์ พอจิต
ประวัติ "พีระศักดิ์" แหวกกว่า สว.รายอื่น เขาเป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดอุตรดิถ์ และประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดอุตรดิตถ์ ในระดับดิวิชัน 2 โซนภาคเหนือ "พีระศักดิ์" เคยเป็น สว.อุตรดิตถ์ แต่ถูกล้มเลิก เนื่องจากเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ช่วงปี 2551-2555 และลงสมัคร สว. อุตรดิตถ์ เมื่อ 30 มี.ค. 2557 โดยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 แต่เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง 

 

 

"พีระศักดิ์" เผยเหตุผลที่โหวตให้ "พิธา" เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะยึดหลักการโหวตให้เสียงข้างมากของ สส.ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาแล้ว และย้ำว่าไม่มีใครสามารถแทรกแซงตัวเขาได้ 

 

 

ข้อกังวลเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเขามองว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นขั้นตอนหลังจากนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรี และเสียงของพรรคก้าวไกล มี 151 เสียง หากพรรคการเมืองอื่นไม่เห็นชอบด้วย กฎหมายนี้ก็จะไม่ผ่าน (ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/politic/2709351)

 

 

7) พิศาล มาณวพัฒน์
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริการายนี้เคยเป็นอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และต่อมาขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนออกไปเป็นเอกอัครราชทูตเต็มตัวในปี 2550 เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรเบลเยียม (กรุงบรัสเซลส์) ราว 4 ปี

 

 

จากนั้นย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอินเดีย (กรุงนิวเดลี) 2 ปี แล้วไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำแคนาดา (กรุงออตตาวา) อีก 2 ปี ก่อนก้าวขึ้นสู่จุดสำคัญของการเป็นทูตคือ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา (กรุงวอชิงตัน) 3 ก.พ. 2558 

 

 

บทบาทของ "พิศาล" ที่โดดเด่นเขาเคยโหวตออกเสียงร่วมกับเพื่อน สว. 3 คน รับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญของ iLaw ในนามกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน 

 

 

"...เหตุผลที่สำคัญที่สนับสนุนคิดว่าประเทศมีความแตกแยกในสังคมนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการปฏิวัติ มีการประท้วงของทั้งสองฝ่าย มีการยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนของสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเลิก ซึ่งนับว่าเป็นความสูญเสีย เป็นความอับอายของประเทศชาติ 

 

 

"...สำหรับผมที่เคยทำงานด้านการต่างประเทศ ถ้าเผื่อภายในบ้านเรายังมีความขัดแย้งต่อเนื่อง มาเป็นเวลา 10 กว่าปี มันก็จะบั่นทอนพลังของการต่างประเทศ ที่เราจะมีบทบาทในภูมิภาคก็จะบั่นทอนความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ 

 

 

"...ฉะนั้นที่ผ่านมาเป็นเวลา 10 กว่าปี มันเห็นได้ชัดว่า เราติดหล่มอันนี้ ผมก็อยากจะมีส่วนที่จะลดความขัดแย้งในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการลงโหวตให้ความเห็นชอบ คิดว่ามันชอบด้วยหลักการที่จะให้มีการพูดคุยกัน เพื่อจะแก้ไข ลดความขัดแย้ง เพื่อจะให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น..." พิศาลเคยสัมภาษณ์ไว้ (ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/politic/1058544, https://www.thairath.co.th/news/politic/2709351)

 

 

8) บุญเทียณ บุญตัน
เป็นผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด และเป็น สว.มีชื่อเสียงระดับโลก เคยดำรงตำแหน่ง สนช., นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, รองประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือซีอาร์พีดี สมัยที่ 9 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

 

"บุญเทียณ" มีบทบาทในการช่วยยกระดับสิทธิของผู้พิการ "ผมมี 4 คำ ที่พยายามปฏิบัติอยู่ และเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ได้แก่ 1. ใฝ่รู้ ต้องใฝ่รู้ตลอดชาติ เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วไปตลอด 2. ยิ้มสู้ ซึ่งน้อมนำบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ 3. รับใช้ เราไม่ใช่นายใคร แต่เป็นผู้รับใช้ และต้องอ่อนน้อมถ่อมตน และ 4. ไม่ยอมจำนน ซึ่งจะแพ้จะล้มเหลวกี่ร้อยกี่พันครั้งก็อย่าไปยอมจำนน

 

 

"ผมเป็นคนไม่เที่ยว ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน ไปกินข้าวเย็นที่บ้านตลอด" แม้จะไม่ค่อยพูดเรื่องทางบ้านเท่าไหร่ เพราะภรรยา (ยูมิ ชิราอิชิ ชาวญี่ปุ่น) ขอเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็พอพูดถึงลูกสาว (มิกะ) ว่า "ตอนนี้อยู่ชั้น ม.6 แล้ว เตรียมแอดมิสชั่นส์ปีหน้า ลูกเก่งมาก ตอนนี้พูดได้ 4 ภาษา ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีนกลาง" (ที่มา: https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_214519)

 

 

9) วันชัย สอนศิริ
สว.คนดัง "วันชัย สอนศิริ" เกิดเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2496 จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียนหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 4 สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรกฎหมายภาษีอากร สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและบัญชี รุ่นที่ 1 จากศาลภาษีอากรกลางและสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ (กระทรวงยุติธรรม) ประกอบอาชีพทนายความเป็นหลัก

 

 

"วันชัย" ยืนยันโหวตคนได้เสียงข้างมากตามที่ประกาศไว้ ไม่ว่า "พิธา" หรือใคร ก็จะโหวตในหลักการ เขาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "สว.วันชัย ไม่เปลี่ยนแปลง"... "ผม สว.วันชัย สอนศิริ มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดในความจงรักภักดีอย่างหนักแน่นมั่นคงตลอดชีวิต

 

 

"แม้ผมจะรู้ว่าผลโหวตของคุณพิธาในวันที่ 13 ก.ค.นี้จะออกมาเช่นไร จะก้าวไกลหรือไปไม่ถึง ผมพอจะรู้นะแต่ผมเคยประกาศไว้ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งว่าใครรวมเสียง สส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ผมจะเลือกพรรคนั้นคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้แต่ขณะนี้หรือในวันที่ 13 ก.ค.ก็ไม่เปลี่ยนแปลง" (ที่มา: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/200499)

 

 

10) วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 
"วุฒิพันธุ์" อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นหนึ่งใน 13 สว. ซึ่งได้แสดงจุดยืนด้วยการได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ถึง 2 ฉบับ มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า สนับสนุนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่มี สส. มากสุด

 

 

เขาย้ำว่า การแสดงความคิดเห็นในลักษณะรณรงค์ต่อต้าน ขัดขวาง การขึ้นสู่ตำแหน่งของบุคคลบางคน ด้วยการสร้างมายาคติ บนความอคติ โดยก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่เหมาะควรอย่างยิ่ง

 

 

11) ประภาศรี สุฉันทบุตร

"ประภาศรี" เป็น สว. สายนักธุรกิจ เจ้าของอาณาจักรโรงพยาบาลหลายแห่งใน "เครือนายแพทย์หาญ" ซึ่งเป็นชื่อสามีคือ นพ.หาญ สุฉันทบุตร "ประภาศรี" สกุลเดิมคือ "วิริยพันธ์" ปัจจุบันอายุ 71 ปี เป็นชาวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี "ประภาศรี" แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ก่อนเข้ารับตำแหน่ง สว. เมื่อปี 2562 มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 962,123,671 บาท ไม่มีหนี้สิน (ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/politics/1077397)

 

 

12) ดร.สุรเดช จิรัฐติเจริญ 
"สุรเดช" จบวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ประสบการณ์เป็น สจ.ปราจีนบุรี ปี 2539-2550 ฯลฯ ได้แจ้งทรัพย์สินตอนเข้ารับตำแหน่ง 286,090,589 บาท และมีหนี้สิน 16,314,385 บาท 

 

 

คนสุดท้าย 13) พล.ต.ท.ณัฎฐวัฒน์ รอดบางยาง

เดิมชื่อ พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง อดีต ผบช.ภ.2 โดยได้ลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 เป็น นรต.รุ่น 35 เกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 2562 แต่ชิงลาออกจากราชการก่อนกำหนด และจากนั้นก็ได้มาเป็น 1 ใน 250 สว. 

 

 

"พล.ต.ท.ณัฎฐวัฒน์" เป็นกรรมาธิการวิสามัญวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วุฒิสภา, กรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา แจ้งบัญชีทรัพย์สิน 376,836,382 บาท และหนี้สิน 37,493,766 บาท 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ