คอลัมนิสต์

จับตาก้าวย่าง ว่าที่ผู้สมัครฯ ชิง "ผู้ว่าฯ กทม."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปี่กลองโหมโรงเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม."ดังขึ้นแล้ว หลังจากมีไทม์ไลน์ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ว่าที่ผู้สมัครฯแต่ละคนขยับตัวมากขึ้นในการลงพื้นที่พบปะประชาชน บางคนก็งานเข้าโดนตรวจสอบ...มาดูกันว่าความเคลื่อนไหวของว่าที่ผู้สมัครฯ แต่ละคนเป็นอย่างไร

เริ่มจาก  "ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม." คนแรก  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชูนโยบายหลักตั้งแต่แรกใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

 

1.People เรื่องคน เน้นระบบเส้นเลือดฝอยและคุณภาพชีวิต 2 .Digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอน  3.Green เรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยะ ควันพิษ ฝุ่น 4.Economy เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ

 

และปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะแถลงนโยบาย 18 เรื่องอย่างเป็นทางการ ซึ่งขยายผลมาจากนโยบายหลัก 4 ด้าน คือ เรื่องของคน เทคโนโลยีดีจิทัล สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน  โดยนโยบายทำหลายด้าน เป็นรายเขตทั้ง 50 เขต เพราะพื้นที่แต่ละเขตจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน


ในมุมมองของ ชัชชาติ การทำงานคงไม่เลือกทำเฉพาะเรื่อง ต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องมายด์เซต เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฝุ่น การระบายน้ำ น้ำเสีย การเดินทาง ความปลอดภัยการใช้ถนน ทางเดินเท้า ทางม้าลาย ความโปร่งใส การเพิ่มประสิทธิภาพ การศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาคนไร้บ้าน ต้องทำพร้อม ๆ กัน จะโฟกัสเรื่องเดียวคงไม่ได้ เพราะคือคุณภาพชีวิตคน 


ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ชัชชาติ จัดกิจกรรมเปิดแคมเปญ #สภากาแฟเพื่อนชัชชาติ โดยที่มาของการตั้งสภากาแฟ คือต้องการให้คนในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงมานั่งพูดคุยกันถึงปัญหาและนำมาสร้างนโยบายในอนาคต และเพื่อนำไปคิดวางแผน หาทางออก พร้อมกับลงมือทำ เพื่อช่วยกันสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เพราะมองว่าหากจะจัดพื้นที่ที่เป็นทางการอาจจะไม่มีใครกล้ามานั่งหารือกัน และคนที่มาเจอกันในสภากาแฟไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน แต่เป็นคนที่ต้องการเห็นกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาเหมือนกัน 

 

นอกจากนี้ยังได้ทำป้ายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยการใช้สติกเกอร์ติดในช่องข้อความที่ต้องการเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยตั้งเป้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะต้องมีสภากาแฟ 1,000 ร้าน ใน 50 เขต และจะติดตั้งป้ายดังกล่าวไว้ให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย รวมถึงจะมี QR Code สำหรับให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นเพื่อนในกลุ่มชัชชาติและเพื่อแจ้งปัญหามายังนายชัชชาติเองโดยตรงได้ หรือสามารถสะท้อนปัญหาผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Traffy Fondue ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวจะคัดแยกหมวดหมู่ปัญหา และสามารถติดตามการแก้ปัญหาได้ โดยมองว่าแอปพลิเคชันนี้จะช่วยวัดผลงานของผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคตได้ 

 

ส่วน "ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อีกคน" ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ค่ายประชาธิปัตย์ ที่ชูสโลแกน เปลี่ยนกรุงเทพทำได้ทันที ตอนนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งมั่นใจเพราะทีมงานในพื้นที่มีความเข้มแข็งและขยันขันแข็งมาก 

 

ดร.เอ้ บอกว่า อยากเป็น "ผู้ว่าฯ กทม." ก่อนที่ฝนจะมา เพราะประกาศว่าต้องจัดการน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จ และมีความพร้อมเรื่องนี้มากที่สุด เพราะน้ำคือชีวิต คืนคลอง คืนชีวิต ให้คนกรุงเทพ ก็อยากขอเป็น "ผู้ว่าฯ กทม." ก่อนที่คนกรุงเทพฯ จะจมน้ำท่วมอีกรอบในปี 65

แต่ตอนนี้งานเข้าเมื่อมีผู้ไปร้องต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบว่า  ดร.เอ้ กระทำการทุจริตต่อหน้าที่และมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สลจ.)


สำหรับ  ดร. เอ้-สุชัชวีร์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี สจล. ตั้งแต่ปี 2558 ก่อนลาออกจากตำแหน่ง แล้วเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อ 9 ธ.ค. 2564

 

ดร.เอ้ บอกว่า  ยินดี พร้อมรับการตรวจสอบและมีความมั่นใจว่าในการปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี สจล. ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และที่ผ่านมา ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็มีการตรวจสอบตลอดเวลาอยู่แล้ว และเชื่อว่าที่ตนเองถูกร้องตรวจสอบนี้คงไม่เกี่ยวกับการเมือง

 

อีกคน คือ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า ฯ กทม. คนปัจจุบัน แม้ยังไม่เปิดตัวเป็นทางการ โดยบอกว่าถึงเวลาก็จะบอกเองว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." หรือไม่แต่แนวโน้มที่จะลงสมัครอิสระชิงตำแหน่ง "ผู้ว่าฯ กทม." ก็มีสูง โดยมี กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ซึ่งมีถึง 30 เขตใน กทม. พร้อมสนับสนุน และมีนายสุชัย พงษ์เพียรชอบ เลขาธิการและประธานกลุ่มรักษ์กรุงเทพ เขตคลองเตย เป็นกำลังสำคัญ

 

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน  โพสต์เฟซบุ๊ก #กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว  โชว์ภาพการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารบนถนนนานาเหนือลงใต้ดิน สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามมากขึ้น และบอกว่า  กทม.นำสายไฟฟ้า-สื่อสารลงใต้ดินแล้วจำนวน 21 เส้นทางโดยระบุข้อความว่า สายสื่อสารบนถนนนานาเหนือ เปลี่ยนไปแล้ว

 

หลายคนเคยขับรถผ่านบริเวณซอยสุขุมวิท 3 หรือซอยนานาเหนือในเขตคลองเตย จะเห็นว่าในซอยนี้จะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ริมถนนสร้างความร่มรื่น เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพมหานคร

 

นอกจากความร่มรื่นของต้นไม้ของสองฝั่งถนนที่มีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่มีเสาไฟฟ้าที่พ่วงด้วยสายสื่อสารมากมายพาดผ่านแนวต้นไม้ด้วย ซึ่ง กทม.ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ตลอดแนวถนนนานาเหนือทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ ถ.สุขุมวิท - คลองแสนแสบ

 

นอกจากจะเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามของท้องถนน ดูสบายตา ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดปัญหาอุบัติเหตุของผู้สัญจรทางเท้าและการขับขี่ หรือกรณีที่มีฝนฟ้าคะนอง ต้นไม้หักล้มพาดเสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุนี้ลงได้

 

ที่ผ่านมา กทม.ได้นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วจำนวน 21 เส้นทาง ระยะทางรวม133,050 เมตร เช่น ถนนราชปรารภ ถนนพหลโยธินและถนนลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระราม 9 และถนนรัชดาภิเษกถึงถนนอโศก ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 3 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนวิทยุ ถนนนานาเหนือ ถนนชิดลม

 

และเดินหน้านำไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินอีกมากกว่า 20 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 250 กิโลเมตร ปรับเปลี่ยนระบบสายสื่อสารของกรุงเทพมหานครแบบแขวนอากาศเพิ่มเติมอีกภายใน 3 ปี โดยให้กรุงเทพธนาคมช่วยดำเนินการอีก 2,228.07 กิโลเมตร จะทำให้ กทม.เป็นเมืองที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพิ่มความปลอดภัยจากสายไฟและสื่อสารในภาพรวมมากขึ้น

 

ส่วน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครฯชิง "ผู้ว่าฯ กทม." ที่พรรคก้าวไกล เปิดตัวเป็นทางการไปแล้วนั้น ล่าสุด นายวิโรจน์ ได้ ชู ส.ก.-ส.ส. ว่าเป็นลมใต้ปีกหนุนผู้ว่าฯกทม.แก้ปัญหาคนกรุง คือ ถ้าขาดการสนับสนุนจาก ส.ส. ส.ก. "ผู้ว่าฯกทม." ก็ยากที่จะทำงานสำเร็จและเตรียมลงพื้นที่ให้ครบ 50 เขตในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

โดยเมื่อ6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายวิโรจน์ พร้อมทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคก้าวไกลทั้ง 50 เขต ร่วมประชุมเพื่อประกาศความพร้อมการรณรงค์หาเสียงและมอบนโยบายการทำงานในพื้นที่


นายวิโรจน์ บอกด้วยว่า การทำงานของผู้ว่าฯกทม.ไม่สามารถขาด ส.ก.ได้ ต่อให้ผู้ว่าฯเก่งแค่ไหน ถ้าไม่มี ส.ก.ที่เป็นทีมเดียวกันก็ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ หน้าที่สำคัญที่สุดของ ส.ก.มี 2 เรื่องคือ การจัดสรรงบประมาณ และทำงานกับประชาชนในพื้นที่ 

 

ส.ก.คือคนที่ดูแลงบประมาณของกรุงเทพฯ ถ้า ส.ก.ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์คนกรุงเทพฯ การขับเคลื่อนนโยบายมีปัญหาแน่นอน และจะเต็มไปด้วยการต่อรองผลประโยชน์จนผู้ว่าฯไม่สามารถทำนโยบายได้


นายวิโรจน์ มองว่า ผู้ว่าฯมีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน ติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหา และรายงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ว่าฯต้องประสานการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในกรุงเทพฯ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ ไม่ปล่อยให้คนกรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาตามยถากรรม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณและการดำเนินการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการคอร์รัปชั่น ไม่ปล่อยให้นายทุนเอารัดเอาเปรียบคนกรุงเทพฯ

 

นอกจากนี้ ในฐานะที่พรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครผู้ว่าฯในนามพรรค จึงมีจุดแข็งคือมี ส.ส. มีหน้าที่ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร และมอบอำนาจให้กับผู้ว่าฯกทม. เพื่อทำงานรับใช้คนกรุงเทพฯได้อย่างเต็มที่มากขึ้น


การทำงานร่วมกันระหว่าง ส.ส.-ส.ก.-ผู้ว่าฯกทม. คือหัวใจในการแก้ปัญหากรุงเทพฯ ต่อให้ได้ผู้ว่าฯที่เก่งแค่ไหน ถ้าไม่มีลมใต้ปีกจาก ส.ก.-ส.ส. เชื่อว่า"ผู้ว่าฯกทม." ไม่สามารถชนเพื่อแก้ปัญหาอะไรใน กทม.ได้

 

ส่วนอีก 2 ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. น.ส.รสนา โตสิตระกูล และ สกลธี ภัททิยกุล  ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ มากมายในระยะนี้  


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ