คอลัมนิสต์

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปี่กลอง "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." ดังขึ้นแล้วเมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ รมว.มหาดไทย รายงานต่อ ครม.ถึงไทม์ไลน์ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ราว ๆ พฤษภาคม.. มามองย้อนดูว่า ว่าที่ผู้สมัครฯมีใครบ้าง ใครนำ ใครตาม และผู้สมัครอิสระกับสังกัดพรรคการเมือง คนกรุงชอบแบบไหนมากกว่ากัน

ตามไทม์ไลน์ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." น่าจะมีขึ้นประมาณพฤษภาคมนี้

 

ด้วยเหตุนี้การเปิดตัวของ "ว่าที่ผู้สมัครฯผู้ว่า กทม." จึงมีให้เห็นและมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนบางคนเป็นเพียงกระแส หรือคาดการณ์ว่าจะลงแข่งเลือกตั้งสนามนี้แต่ยังไม่เปิดตัวเป็นทางการ

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

                                                             ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ที่เปิดตัวมาช้านานแล้วก็  ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  อดีต รมว.คมนาคม  ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ที่จะลงสมัครอิสระ

 

ชัชชาติ ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยในช่วงปลายปี 2562 หลังจบการเลือกตั้งใหญ่ โดยเปิดตัวกิจกรรมเป็นครั้งแรกในธีม ชัชชาติ ชวนคุย คนกรุงเทพฯช่วยคิด เพื่อต่อยอดเป็นนโยบายการพัฒนากรุงเทพฯ ในการลงเลือกตั้งผู้สมัครอิสระในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พร้อมกับฟอร์มทีมและขับเคลื่อนภายใต้ชื่อ กลุ่มเพื่อนชัชชาติ


ในโลกออนไลน์ ชัชชาติ  ได้ความนิยมจากรูปภาพที่เขาเดินเข้าไปทำบุญใส่บาตรภายในวัดแห่งหนึ่งที่ จ.สุรินทร์ โดยสวมเสื้อแขนกุดหิ้วถุงอาหารและเดินด้วยเท้าเปล่า ภาพดังกล่าวมีการแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว 


จากนั้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชัชชาติ  ตระเวนลงพื้นที่หลายเขตของกรุงเทพฯ เพื่อเก็บข้อมูลจัดทำนโยบายเตรียมลงเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเปิดตัว ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ดร.ยุ้ย มาเป็นทีมนโยบายเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า  มาช่วยสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

 

และยังมีการดึง ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. มาเป็นที่ปรึกษา มาเป็นทีมงานในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

 

นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังได้นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ บุตรชาย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มาช่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม 
 

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

                                                               สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

 

คนต่อมา ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือที่รู้จักกันในนาม ดร.เอ้ ที่ลาออกจากตำแหน่ง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)เพื่อก้าวเข้าสู่สนามการเมือง ในฐานะว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวจากพรรคการเมืองคนแรกในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้


ดร.เอ้  ถือว่าไม่ธรรมดาคนหนึ่งเลยทีเดียว  พรรคประชาธิปัตย์ สรุปจุดขายของ ดร.เอ้  ในการสัประยุทธ์ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะมีขึ้นหลังจากนี้ว่า เป็นศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของไทยเมื่ออายุเพียง 37 ปี เป็นอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศด้วยวัยเพียง 43 ปี รวมทั้งผลงานจากโปรเจกต์จบปริญญาตรีเรื่องงานวิจัยออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของไทย สู่การเป็น 1 ในทีมผู้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของไทย นอกจากนี้เคยเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 7 สมัย และเป็นชาวอาเซียนเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลระดับโลก Eisenhower Fellows 2013 ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำยุคใหม่ของโลก

 

ขณะเดียวกันยังเป็นผู้นำทีมก่อสร้างโครงการ แก้มลิงใต้ดิน แห่งแรกในไทย ณ วัดมังกรกมลาวาส แก้ปัญหาน้ำท่วมเพื่อคนกรุงเทพฯ รวมทั้งยังได้รับฉายาว่า The Disruptor เมืองไทย มีแฮชแท็กประจำตัว #จะทำก็ทำได้


 

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

                                                                         สกลธี ภัททิยกุล

 - สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  อดีตแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่งของ กปปส. ซึ่งเพิ่งยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2564  และให้สัมภาษณ์ว่ามีความพร้อมที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยจะตัดสินใจลาออกจากรองผู้ว่าฯกทม.ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม 2565 และจะมีแกนนำ กปปส. เข้ามาช่วยเขาหาเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ด้วย


ตอนนี้ สกลธี กำลังเริ่มเตรียมเซ็ตทีมเลือกตั้งไว้บ้างเช่นกันโดยมีสองสามีภรรยา ณัฎฐพลและทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. คอยเป็นกุนซือให้ ข่าวบางกระแสว่า สกลธี จะลงอิสระ แต่บางกระแสบอกว่า จะสังกัดพรรคตั้งใหม่ 


ขณะที่ ทยา ทีปสุวรรณ  อดีตแกนนำ กปปส.ที่ตั้งใจลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ แต่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเสียก่อนจากคดีที่เธอตกเป็นจำเลยในคดีแกนนำ กปปส. ถูกดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก ว่า สกลธี มาแล้ว…พร้อมสู้เพื่อ กทม.  หากน้องชายลงผู้ว่าฯกทม. ขอออกตัวเลยว่า จะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้น้องทุกทางที่ทำได้

 

จริงๆ แล้ว จั้ม(ชื่อเล่นสกลธี ) กับเราเตรียมนโยบายสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจั้มคือ 1 ในทีมงานหลักที่ทำงานด้วยกันมาตลอด แต่เมื่อเรา(หมายถึงทยา) โดนตัดสิทธิทางการเมือง  เราเลยคุยกันว่า จั้มพร้อมมาก ทั้งความสด ความเป็นคนรุ่นใหม่ ขยันทำงาน และรู้งานกทม.เป็นอย่างดี เพราะทำหน้าที่รองผู้ว่ามาเป็นปีที่ 4 แล้ว

 

ที่สำคัญ น้องเป็นคนดี ซื่อสัตย์ รักชาติ รักสถาบัน ก็น่าจะลุยไปเลย เป็นตัวแทน คนรุ่นใหม่ ที่มีอุดมการณ์ทำงานเพื่อประเทศชาติ มีประสบการณ์ทางการเมือง มีความสามารถ มีผลงานที่จับต้องได้ รู้จักพื้นที่กรุงเทพแบบทะลุปรุโปร่งเพราะลงพื้นที่ตลอด รู้จักข้าราชการและกลไกการทำงานในทุกสำนักเป็นอย่างดี

 

หากได้รับเลือกตั้งก็สามารถเริ่มงานได้ทันที ไม่ต้องมาเริ่มเรียนรู้ระบบใหม่ พร้อมดูแล กทม.ด้วยนโยบายที่ทันสมัย ลดคอร์รัปชั่น ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ ทำกรุงเทพให้น่าอยู่…เชื่อว่าจั้ม จะเป็นขุนพลที่นำทีมงานมืออาชีพ มีความรู้จากทุกสายงานมาเป็นteamwork ที่เข้มแข็ง…คนกรุงจะได้ผู้นำและทีมงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแน่นอน  

 

สำหรับ สกลธี จะได้คะแนนหนุนจากกลุ่ม กปปส. และ ส.ก. บางส่วน 

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

                                                                    รสนา โตสิตระกูล

อีกคน  น.ส.รสนา โตสิตระกูล  อดีต ส.ว.กทม. ที่ได้รับคะแนนการเลือกตั้งมากที่สุดจาก ส.ว.ทั่วประเทศในปี 2551 อยู่ที่ 743,397 คะแนน

 

ที่ผ่านมาบทบาท รสนา  เป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิประชาชน เคยดำรงตำแหน่งหลากหลาย อาทิ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กรรมการอิสระ แกนนำเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้บริโภค กรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง และยกร่างแผนแม่บทพัฒนาการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

รสนา เคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (2 สมัย)

 

โดยเฉพาะในปี 2547 เป็นหนึ่งในแกนนำเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นตรวจสอบการทุจริตยาของกระทรวงสาธารณสุข จนเป็นเหตุให้นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี และถูกยึดทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 233.8 ล้านบาท 

 

สำหรับเส้นทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นั้น  รสนา  เปิดตัวเมื่อ 13 ธ.ค. 2562 ประกาศจะลงสู้ศึกในนามผู้สมัครอิสระ "ตัวจริง" ใช้สโลแกนหาเสียงว่า กทม.มีทางออก บอกรสนา  โดยใช้ยุทธศาสตร์หาเสียงเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

                                                          พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง
 
- พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง  ผู้ว่า กทม.คนปัจจุบัน  ถึงไม่เปิดตัวเป็นทางการ แต่กระแสข่าวบอกว่า จัดกำลังหนุนไว้พร้อมแล้วเพื่อจะได้กลับมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง และลือกันไปทั่วว่า พล.ต.อ.อัศวิน ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐทราบแล้ว จะขอลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยไม่สังกัดพรรค แต่มี กลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ เป็นกองหนุน

 

สำหรับกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ เปิดตัวมา 2 ปีกว่าแล้ว เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีจิตอาสาอยากช่วยเหลือสังคมและรับใช้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยมี กิติภูมิ นีละไพจิตร์ ผู้จัดการตลาดทุ่งครุพลาซ่า เป็นประธานกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ

 

ก่อนหน้านี้  กลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ  ได้ประกาศชัดเจนว่า หาก พล.ต.อ.อัศวิน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน

 

เมื่อจัดทัพไว้พร้อมสรรพ พล.ต.อ.อัศวิน จึงไม่สนใจว่า พลังประชารัฐจะหนุนหรือไม่ เพราะกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ลุยทำงานเพาะเป้าสร้างแกนในชุมชนจนฐานแน่นปึ้ก 

 

ขณะนี้กลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ พร้อมที่จะส่งคนลงสนามเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ถึง 30 เขต

 

ด้านพรรคกล้า ฟังจากนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคฯ ยืนยันว่า พรรคกล้าเตรียมคนไว้แล้วสำหรับการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รอเพียงความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อไหร่เท่านั้น จะได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครฯ

 

ส่วนพรรคไทยศรีวิไลย์ มีการแถลงเปิดตัว ดร.ประยูร ครองยศ ลงผู้สมัครชิงเก้าอี้ ผู้ว่า กทม. โดยนายมงคลกิตติ์  หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ บอกว่า พรรคจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กระจายอำนาจ คัดสรรและแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ให้อำนาจแขวงในการบริหารงาน หาบเร่แผงลอยขายได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด และปฏิรูปกรุงเทพมหานคร 

 

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ถ้าพรรคพลังประชารัฐส่งคนลงแข่ง (แต่ไม่ได้ส่ง พล.ต.อ.อัศวิน) ก็อาจไปตัดคะแนนกันเองกับ พล.ต.อ.อัศวิน และ นายสกลธี เพราะส่วนหนึ่งใช้ฐานเสียง ส.ก.เดียวกัน  

 

แต่พรรคเพื่อไทยชัดเจนแล้วว่าจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคเพื่อไทยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า ขณะนี้เสมือนมีตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยที่อาสาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อยู่แล้ว ถ้าพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครในนามของพรรค อาจมีปัญหาในการตัดคะแนนกันเอง จึงมีข้อสรุปชัดเจนว่า จะไม่ส่งตัวแทนของพรรคเพื่อไทยเนื่องจากต้องการส่งเสริมคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

 

และพรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนนายชัชชาติ แต่การจะประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการต้องรอจังหวะ โอกาส และเวลาที่เหมาะสมเพราะมีผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะตัวผู้สมัครเอง โดยยินดีใช้กลไกของพรรคสนับสนุน

เทียบฟอร์ม ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครเหนือใคร

                                                                         วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

ส่วนพรรคก้าวไกล ก็เพิ่งเปิดตัว  นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และในวันพรุ่งนี้ ( 3  ก.พ. )นายวิโรจน์ จะเดินทางไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นส.ส.ที่สภาผู้แทนฯโดยให้มีผลในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

 

สำหรับนายวิโรจน์ เป็น ส.ส.ที่มีความโดดเด่นระดับดาวสภาคนหนึ่ง เนื่องจากมีลีลาในการอภิปรายที่ดุดัน เข้มข้น พุ่งชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล  

 

แต่ก็มีคำถามว่า การที่นายวิโรจน์ จะมานั่งในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มีความเหมาะสมแค่ไหน เพราะผู้ว่าฯกทม. เป็นตำแหน่งบริหาร และเมื่อเทียบชื่อชั้นกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์  ก็ยังเป็นรอง


และการที่พรรคก้าวไกล ส่งคนลงแข่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อาจส่งผลในการไปตัดคะแนนกันเองกับนายชัชชาติในหมู่คนรุ่นใหม่และคนเสื้อแดง

 

เช่นเดียวกับที่ ชัชชาติ ดึง ดร.พิจิตต มาเสริมทีม  ก็อาจส่งผลในการดึงคะแนนเสียงคนสนับสนุน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ จากประชาธิธัตย์ เพราะดร.พิจิตต เคยอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนและเคยช่วย ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ฯ เมื่อปี 2552


และอีกคนดังที่เริ่มมีข่าวว่าสนใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เช่นกัน คือ  ปนัดดา วงศ์ผู้ดี หรือบุ๋ม พิธีกร นักแสดง  อดีตนางสาวไทยปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการทำงานด้านสังคมในนาม องค์กรทำดี ที่ทำงานด้านช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและเป็นแกนนำในการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิดคดีข่มขืนให้ได้รับบทลงโทษที่สูงขึ้นจนได้เข้าไปมีบทบาทในสภาฯ เป็นอนุกรรมาธิการศึกษากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดปัจจุบัน และพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ต้องการส่งคนลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ก็กำลังมอง บุ๋ม ปนัดดา อยู่ และมีข่าวว่ากำลังเจรจากันอยู่

 

สำหรับผลโพลของหลายสำนัก ล่าสุด นายชัชชาติ ยังคะแนนนำอยู่ ตามมาด้วย ดร.สุชัชวีร์  พล.ต.อ. อัศวิน และ น.ส. รสนา


สวนดุสิตโพล เคยสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ  ระหว่าง 13-16 ธันวาคม 2564 หัวข้อ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาคนกรุงเทพฯ 


ผลออกมาว่า คน กทม. สนใจเลือกผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง

 

ในกรณีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนกรุงเทพฯ จะเลือก

อันดับ 1 ผู้สมัครอิสระ 38.65%

อันดับ 2 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ 20.52%

อันดับ 3 ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล 16.06%

อันดับ 4 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย 13.58%

อันดับ 5 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ 9.43%

 

อย่างไรก็ตามยังมีตัวแปรอีกมากเนื่องจากหลายคนยังไม่ได้เปิดตัวเป็นทางการและมีคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครอีกจำนวนมาก 


นับจากนี้ไป การออกแบบกลยุทธ์เพื่อเอาชนะใจคน กทม. ที่ส่วนใหญ่มีความต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจึงเป็นเรื่องสำคัญ  


และที่ผ่านมาคน กทม. จะลงคะแนนเลือกตามกระแสที่มาแรงในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ใครมาแรงตอนนั้นก็มักเข้าวิน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ