คอลัมนิสต์

เบื้องลึก "สมศักดิ์ พันธ์เกษม" ไม่ขอเป็นกบฏ พบสัมพันธ์ซับซ้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มติอำพรางยังไม่จบ "สมศักดิ์ พันธ์เกษม" เสี่ยใหญ่ปักธงชัย ขอบิ๊กป้อมทบทวนมติ ส่องสนามโคราช พบความเคลื่อนไหวกลุ่มหนุนประยุทธ์ ไม่เอาธรรมนัส คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ไม่รู้เรื่องกบฏ 19 มกรา “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” ส.ส.นครราชสีมา 5 สมัย ลุกขึ้นมาร่างจดหมายขอให้ทบทวนมติขับ ส.ส.ออกจากพรรค ย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา

 

สะเทือนบ้านป่ารอยต่อ “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” หรือฉายา เสี่ยเบี้ยว เมืองปัก ผู้แทนขวัญใจชาวไร่ชาวนาแถว อ.ปักธงชัย ขยับหมากเกมนี้ ต้องวัดใจลุงป้อม

 

มือขวาธรรมนัสโพสต์ถาม “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” จะไปอยู่พรรคไหน เรื่องนี้ต้องไปหาคำตอบจากวิรัช รัตนเศรษฐ

 

กรณี สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 1 ใน 21 ส.ส.ที่พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับออกจากพรรค พร้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ขอให้ทบทวนมติในการขับตนออกจากพรรค

ถัดมา ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร คนสนิท ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้สมศักดิ์ พันธ์เกษม ทำนองว่า ส.ส.สมศักดิ์รู้ทุกเรื่องทุกขั้นตอน “...พอผ่านไปสองวันคนไม่รู้เรื่องกลายเป็นคนเก่งขึ้นมาร่างจดหมายได้ยาวเหยียด..พี่ไปพบใครมารึเปล่าครับ”

 

ไผ่ กำแพงเพชร ยังถามว่า “พี่ได้ยาวิเศษอะไรเข้าไปครับเลยเปลี่ยนพี่ไปขนาดนี้ แล้วสุดท้ายพี่จะไปอยู่พรรคไหน”

 

หลังจากตกเป็นข่าวใหญ่ ส.ส.ไผ่ก็ลบโพสต์นั้นทิ้งไปเลย ซึ่งคาดหมายว่า ผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ คงไม่สบายใจ และคิดว่าเรื่องของเสี่ยเบี้ยว สามารถเคลียร์กันได้

‘เสี่ยเบี้ยว ปักธงชัย’

วิถีนักเลือกตั้ง หรือ “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” เสี่ยเบี้ยว เมืองปัก เป็นนักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นอยู่ใน อ.ปักธงชัย และเป็น ส.ส.นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2538 สังกัดพรรคชาติพัฒนา กระทั่งมีการยุบพรรคชาติพัฒนาไปรวมกับพรรคไทยรักไทย เลือกตั้งปี 2548 เสี่ยเบี้ยวจึงลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคไทยรักไทย

 

เลือกตั้งปี 2554 สมศักดิ์เจอคู่แข่งสำคัญอย่างประนอม โพธิ์คำ กำนันคนดังแห่งวังน้ำเขียว ปรากฏว่า เสี่ยเบี้ยวแพ้ เพราะชิงแต้มจากวังน้ำเขียวได้ไม่มากพอ

 

ปี 2561 สมศักดิ์ เทพสุทิน เข้ามาเคลื่อนไหวดึงตัวอดีต ส.ส.นครราชสีมา เข้าร่วมกลุ่มสามมิตร แต่วิรัช รัตนเศรษฐ ไม่ยอมร่วมงานกับสามมิตร โดยต่อสายตรงถึงบ้านป่ารอยต่อ ฉะนั้น พลังประชารัฐโคราช จึงมี 2 สายคือ สายสมศักดิ์ และสายวิรัช

 

สมศักดิ์ พันธ์เกษม จึงเลือกอยู่กับสายวิรัช เพราะต้องการให้ผู้ใหญ่เคลียร์เรื่องพื้นที่ เพราะ กกต.แบ่งเขตใหม่ โดยเขต 11 ประกอบด้วย อ.ปักธงชัย อ.เมืองนครราชสีมา (บางตำบล) อ.วังน้ำเขียว (ยกเว้นสองตำบลที่โยกไปเขต 10) และ อ.ปากช่อง (เฉพาะ ต.วังกะทะ)

 

ตอนนั้น ประนอม โพธิ์คำ อดีต ส.ส.นครราชสีมา ก็สังกัดพลังประชารัฐเช่นกัน หากกำนันประนอมต้องการลง ส.ส.เขต ก็ชนกับเสี่ยเบี้ยว สุดท้าย ผู้ใหญ่ตัดสินให้เสี่ยเบี้ยวลง ส.ส.เขต และกำนันประนอมไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

เสี่ยเบี้ยวได้รับอานิสงส์จากกำนันประนอมขยับไปอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ ชนะเลือกตั้งสบายๆ แต่กำนันดังวังน้ำเขียว ไม่ได้เป็น ส.ส.

 

‘กำนันวังน้ำเขียว’

เลือกตั้งสมัยหน้า “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” อาจต้องเจอกับคู่ปรับเดิม กำนันประนอม โพธิ์คำ ที่ลาออกจากพลังประชารัฐ ไปเป็นเลขาธิการพรรคพลังท้องถิ่นไท ของชัชวาลล์ คงอุดม

 

กติกาเลือกตั้งใหม่ บัตร 2 ใบ จ.นครราชสีมา จะมี ส.ส.ได้ 16 คน และ อ.ปักธงชัย-อ.วังน้ำเขียว ก็จะมาอยู่ในเขตเดียวกันเหมือนปี 2554

สมศักดิ์ พันธ์เกษม หรือเสี่ยเบี้ยว ปักธงชัย

 

ถ้าตามรูปการณ์นี้ สมศักดิ์-กำนันประนอม จะต้องสู้กันอีกรอบ โดยเสี่ยเบี้ยวมีจุดแข็งอยู่ที่ อ.ปักธงชัย กำนันประนอม เหนียวแน่นใน อ.วังน้ำเขียว โดยเฉพาะ ต.ไทยสามัคคี และ ต.วังน้ำเขียว

 

จริงๆแล้ว กำนันประนอมเหมือนจะวางมือ แต่ช่วงต้นปี 2564 สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำสามมิตร และชัชวาลล์ คงอุดม มาชักชวนกำนันประนอมให้กลับสู่สนามอีกครั้ง

 

ชัช เตาปูน นั้นมีจุดยืนชัดเจนหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

 

เหนืออื่นใด ชัช เตาปูน เป็นพันธมิตรกับสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ซึ่งสมศักดิ์ได้ฝากอดีตผู้สมัคร ส.ส.หลายจังหวัดมาอยู่พรรคพลังท้องถิ่นไท

 

ทางรอดสมัยหน้าของเสี่ยเบี้ยว ก็ต้องหาทางเจรจากับกำนันประนอม เพราะขืนสู้กันเอง ก็ต้องมีฝ่ายปราชัย และแนวโน้มจะออกที่เสี่ยเบี้ยวมากกว่า

 

ส.ส.ไผ่ คงรู้อะไรมาบ้าง จึงกล้าถามเสี่ยเบี้ยวว่า “พี่จะไปอยู่พรรคไหน” และตั้งข้อสังเกตว่า “พี่ไปพบใครมา” จึงลุกขึ้นมาเขียนจดหมายขอให้บิ๊กป้อมทบทวนมติเรื่องถูกขับออกจากพรรค

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ