คอลัมนิสต์

ทิศทางพัฒนา สายตาหมอพลเดช “ปฏิรูปต่อไป สาธารณสุขไทย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในระหว่างเส้นทางการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขนั้น มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในด้านแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานเกิดขึ้นเป็นระยะ มาถึงตอนนี้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าของสาธารณสุขไทย ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

 

ระบบสาธารณสุขไทยมีการพัฒนาก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องและมั่นคงเรื่อยมา นับตั้งแต่ ร.5 ทรงจัดตั้ง รพ.ศิริราชเป็นจุดเริ่มระบบการแพทย์สมัยใหม่เมื่อ 130 ปีก่อน และตั้งกรมสาธารณสุขเพื่อพัฒนาระบบงานสุขภาพอนามัยในภาพรวมในอีก 30 ปีถัดมา


ในระหว่างเส้นทางการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขนั้น มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในด้านแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานเกิดขึ้นเป็นระยะ อาทิ งานสาธารณสุขมูลฐาน  งานส่งเสริมสุขภาพ  งานปฏิรูประบบบริการสุขภาพ งานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  งานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ งานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ  ฯลฯ


ในยุคปัจจุบัน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี มี 5 แผนย่อยประกอบด้วย

 

1) การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ ป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ

 

 2) การใช้ชุมชนเป็นฐานสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี

 

 3) พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัย สนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี  

 

4) การกระจายบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ  5) การพัฒนาและสร้างระบบรับมือและปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำซาก

 

ส่วนแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เน้นประเด็นปฏิรูปเป็นกระบวนการภายใน 10 ประเด็น ได้แก่

 

1) ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ

2) ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศด้านสุขภาพ

3) กำลังคนด้านสุขภาพ

4) ระบบบริการปฐมภูมิ

5) การแพทย์แผนไทย

6) การแพทย์ฉุกเฉิน

7) การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

8) ความรอบรู้ด้านสุขภาพ

9) การคุ้มครองผู้บริโภค

10) ระบบหลักประกันสุขภาพ

 

สำหรับประเด็น big rock และเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบมาก  มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ประชาชนควรติดตาม ดังนี้


1.การจัดการภาวะฉุกเฉิน โรคระบาดและโรคอุบัติใหม่

 

- เป้าหมายคือ ประเทศมีระบบงานความมั่นคงด้านสุขภาพและระบบจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ครบวงจรและบูรณาการ สามารถตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทุกภัย รวมถึงโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่

 

- กรณีการระบาดของโควิด 19 เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นทั้งความท้าทายและเป็นตัวเร่งให้กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลต้องประกาศใช้ พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉินฯ โดยจัดตั้งกลไก ศบค.ขึ้นเพื่อรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจและบริหารจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้มีระบบรับมือโควิดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีผลงานในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดโควิดที่ประชาคมโลกยอมรับ ประชาชนทั่วไปพึงพอใจ  มีระดับความรอบรู้และตื่นตัวด้านสุขภาพสูงขึ้นเป็นผลพลอยได้ตามสถานการณ์  แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองที่แตกแยกมาอย่างยาวนานทำให้มีประชาชนในบางส่วนไม่ยอมรับและใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อบรรลุผลทางการเมืองของฝ่ายตน

 

2.เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเสริมสร้างสุขภาพ ความรอบรู้ด้านสุขภาพและดูแลโรคไม่ติดต่อ

 

- เป้าหมายคือ ประชาชน(โดยเฉพาะ ผู้ป่วยและคนวัยทำงาน)ที่เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ ได้รับบริการทางการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่อย่างบูรณาการ กล่าวคือเป็นระบบรักษาและป้องกันควบคู่ไปด้วยกัน 

 

3.บริการผู้สูงอายุ ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน ระบบสุขภาพปฐมภูมิเชิงนวัตกรรม

 

- ตัวชี้วัดที่ประชาชนอยากรู้ คือ จำนวนพื้นที่และหน่วยงานที่ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ (สามารถระบุรายชื่อได้)

 

4.ระบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ ยั่งยืนด้านการคลัง

 

- เป้าหมาย คือ มีกลไกบริหารจัดการทางการคลังสุขภาพระดับชาติ ดูแลสิทธิประโยชน์หลัก การจ่ายร่วม และระบบฐานข้อมูลการเบิกจ่ายกองทุนของรัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน (ทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค บริการปฐมภูมิ  การดูแลที่บ้าน และผู้ป่วยใน) 

 

5.ปฏิรูปเขตสุขภาพให้มีการจัดการแบบบูรณาการ

 

-เป้าหมาย คือ มีเขตสุขภาพแบบบูรณาการ มีกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพ และทดลองพัฒนาระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพมิติใหม่ในระดับเขต จำนวน 4 พื้นที่

- ร่าง พรบ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ...

.......................................................
Key Message
 

“ปฏิรูปต่อไป สาธารณสุขไทย”

- บทเรียนรู้จากการจัดการปัญหาโควิด 19 ได้รับการต่อยอดเป็นระบบงานความมั่นคงด้านสุขภาพและจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ครบวงจรและบูรณาการ 

- ประชาชนได้รับบริการรักษาและป้องกันควบคู่ไปด้วยกัน 

- รายชื่อพื้นที่และหน่วยงานที่ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิทั่วประเทศที่ใกล้บ้าน
- เกิดกลไกบริหารจัดการทางการคลังสุขภาพระดับชาติ ดูแลสิทธิประโยชน์หลัก การจ่ายร่วม และระบบฐานข้อมูลการเบิกจ่ายกองทุนของรัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน 

- มีเขตสุขภาพแบบบูรณาการ กลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพ และระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต 

- ร่าง พรบ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ