คอลัมนิสต์

นายกฯตู่ “ใจร้อน หรือใจลอย กับแรงกดดันทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับจากเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปเป็นห้วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตกอยู่ในสภาวะทางการเมืองยิ่งอีกครั้ง สัญญาณอันสะท้อนถึงแรงกดดันอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นใจลอยเดินสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า คอลัมน์เจาะประเด็นร้อน โดยนายหัวไทร

เดือนพฤศจิกายน ไม่รู้เป็นเพราะ "ใจร้อน" หรือ "ใจลอย" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงเดินสะดุดบ่อย จนเกือบหัวทิ่มมาสอง-สามครั้งแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่า "ใจร้อน" คิดโน้นคิดนี้หลายเรื่อง และยืนยันว่าสุขภาพ ร่างกายยังแข็งแรงดี
     

แต่ปมหนึ่งที่ต้องคิดคือ จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนหมดวาระของสภา 4 ปี ในเดือนมีนาคมปี 2566 หรือจะยุบสภาก่อน
     

ประเด็นยุบสภาก่อนหมดวาระมาจากการที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งใหม่ โดยกำหนดให้ ส.ส.มี 500 คน เป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิม ส.ส.เขตมี 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 150 คน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ใช้บัตรสองใบในการเลือกตั้ง คือเลือกพรรคกับเลือกคนให้แยกกัน

ปมเกี่ยวกับ "กฎหมายลูก" 2 ฉบับที่จะต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง

 

ซึ่งยังทีรายละเอียดวิธีการนับคะแนน มีรายละเอียดเกี่ยวกับเบอร์ผู้สมัคร จะใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ หรือเขตใครเขตมัน หรือจังหวัดใครจังหวัดมัน และรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณคะแนนที่แต่ละพรรคจะมี ส.ส.ควรเขียนไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ไปคิดเอง ทำเอง และที่สูตรคิดให้มีบัตรเขย่ง มี ส.ส.จากพรรคจิ๋ว ที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ เข้ามาในสภา
     

พรป.ทั้งสองฉบับ กกต.ยกร่างไว้ก่อนแล้ว เวลานี้อยู่ในขั้นตอนการทำความเห็นจากประชาชน ซึ่งเมื่อเสร็จจากทำความเห็นจากประชาชนแล้ว ก็จะส่งให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง ครม.ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาก่อนส่งให้สภาผู้แทนราษฏรให้ความเห็นชอบ

 

ส่วนพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็ยกร่างกฎหมาย พรป.ทั้งสองฉบับเสร็จแล้วเช่นเดียวกัน เตรียมเสนอเข้าประกบของ กกต. แต่ยังไม่เห็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งน่าจะยึดฉบับของ กกต.เป็นหลัก
     

ประเด็นคือ ขบวนการออกกฎหมายทั้งสองฉบับจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะแล้วเสร็จ


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลด้านกฎหมายยืนยันว่าน่าจะเรียบร้อยในเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ไม่ได้อธิบายถึงกรอบเวลาว่าต้องทำอะไร ช่วงไหนบ้าง

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าเพียง 4 เดือนก็จบแล้ว

 

หากนับจากเดือนธันวาคม 2564 ไปยังมีนาคม 2565 ก็น่าจะเรียบร้อยแล้วเท่ากับชี้ให้เห็นว่าเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 จะเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมือง


คำถามก็คือ ธงของเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ปักโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับธงของเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งขีด โดยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล อย่างไหนจะมีความเป็นไปได้กว่า

 

คำถามนี้คำตอบที่ทิ่มแทงไปนังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะจะเป็นเงื่อนเวลาในการใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้ง

 

โดยสากลเมื่อมีการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งแล้ว ก็ควรจะยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ ซึ่งอันนี้อาจเป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินสะดุดบ่อยหลังมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่ม เติม พ.ศ.2564 ออกมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นั่นเท่ากับเป็นสัญญาณอันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

 

ฝ่ายเสนาธิการ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเก่งในเรื่องการเตะถ่วง หน่วงดึงเวลาต่างๆในทางการเมือง เช่น หน่วงเหนี่ยวเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น จัดการเลือกตั้งทีละขยัก จนถึงป่านนี้ 8 ปีผ่าน กทม.ยังไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เมืองพัทยาก็เช่นกัน ไม่มีใครให้คำตอบอะไรได้เลย

 

พล.อ.ประยุทธ์ อาจเล่นบทเช่นนั้นได้ในห้วง 5 ปีแรกหลังรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557 เพราะมี ม. 44 อยู่ในมือ แต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็มิใช่แล้ว

 

นับจากเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปจึงเป็นห้วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกอยู่ในสภาวะทางการเมืองยิ่งอีกครั้ง สัญญาณอันสะท้อนถึงแรงกดดันอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นใจลอยเดินสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า


คำตอบของการเลือกตั้งจึงอยู่ที่เดือนมีนาคม-เมษายน และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ควรใช้ยุทธวิธี “ยื้อ”อีกต่อไป
 #นายหัวไทร #มากกว่าข่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ