ที่ปรึกษานายกฯ ชี้มีแรงกดดันให้ยุบสภาทุกวัน
“พีระพันธุ์” ชี้มีแรงกดดันให้ยุบสภาทุกวัน ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกพิจารณาเสร็จ ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบไม่มีผลต่อคะแนนเสียง หากทำงานไม่เข้าตาประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” ถึงกระแสการยุบสภาเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง หากกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายพรรคการเมือง ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในปีหน้าและนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ว่า เรื่องกดดันให้ยุบสภานี้มีอยู่แล้ว ไม่ต้องรอให้กฎหมายลูกเสร็จหรอกเพราะคนที่เขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาก็เรียกร้องให้ยุบสภาทุกวันอยู่แล้ว ฉะนั้น ถามว่าการเรียกร้องให้ยุบสภานี้ ไม่ต้องรอให้มีกฎหมายลูก แต่การมีกฎหมายลูก ก็เพื่อหยิบประเด็นเพิ่มขึ้นเท่านั้น เป็นธรรมดา ทุกยุคทุกสมัยก็เป็นเช่นนี้
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าสำหรับกติกาใหม่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ จะมีผลต่อการลงคะแนนเลือกส.ส. มากน้อยเพียงใดนั้น ตนเองเห็นว่าบัตรกี่ใบก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชน ถ้าเราทำงานไม่เข้าตา จะบัตรกี่ใบประชาชนก็ไม่เลือก ถ้าเราทำงานเข้าตาประชาชน บัตร 1 ใบ 2 ใบ หรือ 3 ใบ ประชาชนก็เลือกอยู่ดี
“สำหรับผมบัตรกี่ใบก็ช่างเถอะ ขอให้เราทำงานให้ประชาชน ให้ประชาชนเห็นถึงความเอาจริงเอาจังของเรา ในการแก้ปัญหาและรับรู้ปัญหาของประชาชน และความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน” นายพีระพันธุ์ ย้ำ
ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวตนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าหลังจากแก้ไขกฎหมายลูกแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะคิดเห็นอย่างไร หรือถ้าหลังกฎหมายลูกออกไปแล้ว ถ้าทำไพรมารีโหวต จะทำทันไหม จะสามารถบังคับใช้ได้ทันเวลาไหม หรือควรจะต้องมีบทเฉพาะกาลว่าเว้นไว้รอบหน้า หรือไม่ควรมีการทำไพรมารีโหวตเลย ก็ขึ้นอยู่ที่กรรมาธิการฯ จะพิจารณา
“เรื่องนี้มองได้ 2 ทาง สำหรับพวกโน้มเอียงไปทางวิชาการ ก็มักจะเชียร์ให้ทำไพรมารีโหวต เพราะโดยหลักการ โดยทฤษฎี ก็เหมือนกับการคัดเลือกผู้ที่จะสมัครเป็นส.ส. จะถูกคัดเลือกเป็นชั้น ๆ แต่พวกที่อยู่ในพื้นฐานความเป็นจริง จะไม่ค่อยชอบวิธีนี้ เพราะความจริงมันไม่เหมือนในตำรา แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการ และเกี่ยวข้องกับคนเยอะแยะ มันไม่ง่ายเหมือนอ่านในตำราในทฤษฎี เพราะพอทำจริงมันจะเกิดปัญหา เกิดความยุ่งยาก ซับซ้อน คนก็ไม่อยากทำ อันนี้เป็นธรรมชาติของคน ก็อยู่ที่ว่าถึงเวลานั้น จะให้น้ำหนักไปด้านไหนมากกว่ากัน” ที่ปรึกษานายกฯ กล่าว
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในอนาคต หากหลังการเลือกตั้ง แล้วพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ผลจะเป็นเช่นไร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ชี้ว่าทุกวันนี้มันมีควาชัดเจนอยู่แล้วการที่เราจะจับมือทำงานกับใคร ไม่ว่าจะแนวทางทางการเมืองหรือการทำธุรกิจ เราต้องดูองค์ประกอบดังนี้ คือ 1. แนวทางมันตรงกันไหม 2. เป้าหมายเดียวกันหรือเปล่า แต่ถ้ามันคนละแนวทางกัน มันก็ไม่ต้องคุยกันแล้ว
“ฉะนั้น ถ้าเราจะมองว่าพรรคการเมืองไหน จับมือกับใคร ก็ต้องดูแนวทางของพรรคการเมืองนั้นในช่วงที่ผ่านมา และที่จะเป็นไปในวันข้างหน้าว่ามันจะเป็นยังไง ถ้ามันไปคนละแนวทาง และยิ่งถ้าเป็นพรรคใหญ่กับพรรคใหญ่ มันยิ่งพังเลยเพราะพอเดินด้วยกันแล้ว มันไปด้วยกันไม่ได้ ฉะนั้น จะเป็นพรรคไหนกับพรรคไหน สำคัญสุดคือแนวทางของพรรคมันแนวทางเดียวกันไหม” นายพีระพันธุ์ ย้ำ