คอลัมนิสต์

สิ่งที่รัฐบาลควรระวัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะประเด็นร้อน โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

ข่าวดีในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาคือจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่แกว่งตัวอยู่ระหว่าง 25 – 34 คน โดยล่าสุดวันนี้ (19 เมษายน 2563) อยู่ที่ 32 ราย ซึ่งหากไม่มีปรากฎการณ์ที่ทำให้เกิด super spread ประชาชนยังคงให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างดี มาตรการของรัฐยังคงความเข้มข้นเหมือนเดิมเจ้าหน้าที่รัฐยังคงทำงานอย่างเต็มที่ และผู้กลับมาจากต่างประเทศไม่ติดเชื้อโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาทิตย์หน้า เราอาจจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันต่ำกว่า 20

 

แต่ทั้งนี้สิ่งที่ควรจะต้องระมัดระวังให้มากเพื่อป้องกันปรากฎการณ์ super spread ในขณะนี้มีสองประเด็น โดยประเด็นแรกคือปรากฎการณ์การแจกเงิน อาหารและสิ่งของจากผู้ใจบุญทั้งหลาย ที่อาจทำให้เกิดการรวมตัวอย่างไร้ระเบียบของผู้คนและสุดท้ายอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ super spread อีกครั้งหนึ่งก็ได้ ฉะนั้นภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจต้องขอความร่วมมือ หรือกึ่ง ๆ บังคับ ให้มีการจัดระเบียบในการแจกสิ่งของเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดของผู้คน โดยหากผู้ใจบุญท่านใดไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมความเป็นระเบียบได้ก็ให้ขอกำลังเจ้าหน้าที่รัฐมาดำเนินการจัดระเบียบให้ แต่หวังว่าคงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นออกเป็นกฎระเบียบว่าต้องขออนุญาติก่อนถึงจะแจกของได้หรือมีบทลงโทษผู้ที่ไม่สามารถจัดระเบียบในการแจกสิ่งของได้ ถ้าต้องทำถึงขั้นนี้แสดงว่าสังคมไทยกำลังมีปัญหาด้านวินัยอย่างแรง

ประเด็นที่สองที่ต้องระมัดระวังคือ การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าว ในประเด็นนี้เรามีตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นมากมายและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่รวมกันตามหอพักโดยรายงานเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 สิงคโปร์ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 942 ราย เป็นพลเมืองสิงคโปร์ หรือผู้พำนักถาวรเพียง 14 ราย ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว

สำหรับเมืองไทยนั้น ในประเด็นแรงงานต่างด้าว (รายงานในเดือนมกราคม 2563 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานประมาณ 2.9 ล้านคน)เท่าที่ดูข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)และข่าวทั่วไป ยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย นอกจากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและสภากาชาดไทย ได้ประชุมหารือกันในการเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่  (เพิ่งจะคิดได้หรือ?) โดยจะนำร่องที่จังหวัดสมุทรสาครและปทุมธานี อย่างไรก็ตาม ขอเสนอว่ากระทรวงสาธารณสุขควรสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เราจะไม่เผชิญกับสถานการณ์ shock แบบประเทศสิงคโปร์

นอกจากสองประเด็นที่จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบsuper spread อีกมุมหนึ่งที่รัฐบาลควรจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 สามารดำเนินไปได้อย่างราบรื่นคือการสื่อสารของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การได้คุณหมอ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน มาเป็นโฆษกศบค. ทำให้การแถลงข่าวประจำวันของภาครัฐชัดเจน น่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น (ดีกว่ายิ้มสวย ๆ ที่ผ่านมาแต่ไม่ช่วยอะไรเลย) คุณหมอทวีศิลป์แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ติดตามข่าวตลอดจึงสามารถจับประเด็นถกเถียงหรือคำถามสาธารณะที่ประชาชนกำลังต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน และสามารถนำประเด็นเหล่านี้มาอธิบายได้อย่างทันเวลาด้วยวิธีการพูดที่เข้าใจง่าย มีลูกล่อลูกชน และมีการวิเคราะห์ด้วยภาษาที่ปุถุชนคนธรรมดาจะเข้าใจได้ ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนฟังเพื่อนที่มีความรู้พูด มากกว่าการฟังการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของภาครัฐ

แต่บุคคลสำคัญของรัฐบาล อย่างนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ควรจะต้องสื่อสารให้ชัดเจนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแต่ละประเด็นที่สำคัญหรืออ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช่สื่อสารแบบกำกวมแล้วทำให้ถูกตีความไปในอีกความหมายหนึ่ง เปิดช่องให้พวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำที่วัน ๆ ไม่ทำอะไรนอกจากมองหาช่องว่างหรือจุดผิดพลาดของรัฐบาล หาเรื่องโจมตีรัฐบาล สร้างวาทกรรมใหม่ ๆ ติดแฮทแท็ก ยุแหย่ให้คนเกิดความไม่พอใจ

อย่างเช่นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา นายกฯ พูดว่า “...ต้องยอมรับความจริงว่าเงินที่รัฐบาลจะนำมาเยียวยานั้นมาจากงบกลางจำนวน 50,000 ล้านบาท เดิมจะเยียวยา 3 ล้านคน ซึ่งจะเยียวยาได้ 3 เดือน หรือ 15,000 บาทต่อคน แต่เมื่อจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซด์ เราไม่ทิ้งกัน.com มีจำนวนมากถึง 9 ล้านคน ทำให้รัฐบาลมีเงินเยียวยาได้เพียงเดือนเดียว เพื่อรองรับประชาชนที่เดือดร้อน 9 ล้านคน”

ถึงแม้ว่าในตอนท้ายพลเอกประยุทธ์ พูดเพิ่มเติมว่ารัฐจะเจียดเงินงบประมาณจากแต่ละกระทรวงและออก พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อจะได้มีเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่ประโยคก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นพาดหัวข่าวไปเรียบร้อยแล้วว่า รัฐมีเงินจ่าย 5,000 บาทได้แค่เดือนเดียว และผลลัพธ์คือรัฐบาลโดนด่าฟรีไปหนึ่งวันแล้ว ก่อนที่จะออกมาแก้ข่าว แต่ก็ยังมีคนตั้งคำถามต่อนะว่าหากกู้เงินไม่ทันหรือการเจียดเงินงบประมาณจากแต่ละกระทรวงไม่พอ จะทำอย่างไร

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็พูดไม่ชัดเจนอีกครั้งทำให้วันถัดมาถูกพวกฝ่ายค้าน/ฝ่ายแค้น ขาประจำโจมตีกันมันมือไปเลย รวมถึงการติดแฮทแท็ก#รัฐบาลขอทาน เพื่อยั่วยุให้ประชาชนร่วมด้วยช่วยกันประชดประชันรัฐบาล

นายกพูดว่า “...ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลาย ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศและถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผมขอให้ท่านได้มีบทบาทสำคัญ ในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา”

คำพูดแบบนี้ โดยเฉพาะการเน้นคำว่า “กลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก” อาจจะตีความได้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำลังต้องการ (รวมถึงกดดันอย่างเปิดเผย) ให้มหาเศรษฐีเหล่านี้บริจาคเงินหรือทรัพยากรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ของชาติทั้ง ๆ ที่ ในประเด็นนี้พลเอกประยุทธ์ควรจบประโยคแค่ในในตอนต้น“ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร”ซึ่งก็ชัดเจนและเพียงพอแล้วว่าต้องการความร่วมมือ ส่วนเศรษฐีทั้ง 20 ท่านจะให้ความร่วมมือแบบไหนก็ไปปรึกษากันหลังฉากให้เรียบร้อย จากนั้นค่อยแถลงให้ประชาชนทราบ

แม้กระทั่งการแถลงข่าวการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาทให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ไม่ชัดเจนขาดรายละเอียดหรือคุณสมบัติเชิงลึกของผู้มีสิทธิทำให้เกิดการเข้ามาลงทะเบียนจำนวนมาก และหลายคนก็ไม่สามารถได้สิทธิ เมื่อรายละเอียดเชิงลึกไม่มีก็ทำให้เกิดคำถามตามมา เช่น ถ้าเป็นคนทำงานแต่ก็เป็นนักศึกษาด้วย จะได้รับเงินหรือไม่ คนทำงานในเมืองที่เคยไปลงทะเบียนเป็นเกษตรกรไว้แต่ไม่ได้ทำการเกษตรเลยจะได้รับเงินหรือไม่ (ในสังคมไทยจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ลงทะเบียนเป็นเกษตรกรเพราะมีที่ดินเพื่อการเกษตรแต่ในความเป็นจริงไม่ได้ทำ) เป็นต้น การแถลงมาตรการเหล่านี้ไม่ควรจะเร่งรีบ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ควรจะพิจารณาเชิงลึกในรายละเอียดที่ซับซ้อนและได้ข้อยุติก่อนค่อยออกมาแถลง แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรจะออกมาตรการมาเป็น package ว่ากลุ่มไหนจะได้อะไรและอย่างไร ไม่ใช่แถลงแบบขยักขย่อน ทำให้กลุ่มอื่น ๆ ออกมาตั้งคำถามว่าพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ เช่น กลุ่มคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เกษตรกร หมอนวดแผนโบราณ แรงงานรับจ้างอิสระที่ไม่มีประกันสังคม เป็นต้น

ถอยกลับไปอีกหน่อยถึงวิธีการอธิบายมาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับเจ้าของเงินประกัน ในการแถลงมาตรการนี้ในตอนแรก คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้เสียค่าไฟทุกเดือนก็น่าจะได้รับเงินก้อนนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าต้องเป็นผู้วางเงินประกันถึงจะได้คืน ซึ่งกว่าประชาชนจะเข้าใจได้ก็ต้องรอจนกระทั่งผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงท่านหนึ่งออกมาอธิบายในรายละเอียดคุณสมบัติเชิงลึกถึงจะชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ก็โดนวิจารณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชนชั้นกลางในเมือง) ว่าไม่ค่อยจริงใจในการช่วยเหลือเท่าใดนักเพราะ ในสังคมปัจจุบันมีการซื้อขายบ้านมือสองมือสามมากมายและอาจไม่สามารถหาผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ ในขณะที่เจ้าของบ้านตัวจริงที่ซื้อบ้านมือสองในปัจจุบันก็ไม่มีสิทธิเพราะไม่ใช่ผู้วางเงินประกัน จึงทำให้รัฐประหยัดเงินไปได้อีกส่วนหนึ่ง...ใช่หรือเปล่า ท่านสมคิด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ