คอลัมนิสต์

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข. โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          “สมคิด พุ่มพวง” อดีตนักโทษผู้มีพฤติกรรมเป็น "ฆาตกรต่อเนื่อง" (serial killer) ได้ก่อคดีสะเทือนขวัญอีกครั้งหลังถูกปล่อยออกมาจากคุกเพียงไม่กี่เดือน สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนสำคัญของ “กรมราชทัณฑ์” เกี่ยวกับกระบวนการปล่อยตัวนักโทษออกสู่สังคม โดยเฉพาะการขาดหายไปของขั้นตอนเยียวยา “ปมอันตราย” ที่ฝังลึกในจิตใจ ส่งผลให้เกิด “ปัญหานักโทษติดคุกซ้ำ” จำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี..

 

 

          ปี 2548 ศาลตัดสินให้ “สมคิด” รับโทษจำคุกตลอดชีวิต หลังก่อเหตุสะเทือนขวัญฆ่าบีบคอผู้หญิงไป 5 ศพ แต่ระหว่างอยู่ในเรือนจำได้รับลดหย่อนเหลือเพียง 14 ปี วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ได้รับการปล่อยตัว ผ่านไปเพียง 6 เดือนกว่า วันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้ก่อคดีอุกฉกรรจ์ฆ่ารัดคอหญิงวัย 51 ปี ที่ จ.ขอนแก่น กลายเป็นศพที่ 6


          ทำให้เกิดคำถามมากมายที่กดดัน “กรมราชทัณฑ์” ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้? โดยเฉพาะกระบวนการคัดกรองก่อนปล่อยตัวนักโทษคดีสะเทือนขวัญ

 

 

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข.

 


          ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านักโทษที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำนั้นในแต่ละปีไม่ได้มีแค่นักโทษใหม่เท่านั้น แต่ยังมีนักโทษที่เคยติดคุก หรือผู้ถูกปล่อยตัวออกไปแต่ไปก่อคดีใหม่ต้องถูกจับเข้ามาคุมขังไว้อีก “นักโทษติดซ้ำ” เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานักโทษล้นคุก  


          เรือนจำทั่วประเทศไทย 143 แห่ง สามารถรับผู้ต้องขังสูงสุด 1.2 แสนคน แต่จำนวนผู้ที่ถูกขังอยู่ในนั้นมีมากถึง 3.7 แสนคนเกินไปถึง 2 เท่า ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มนักโทษที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญที่พ้นโทษที่ต้องกลับออกไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไป


          ล่าสุด พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมายอมรับว่าไม่สามารถดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 3.7 แสนคนได้ทั้งหมด พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและขอโทษสังคมที่กรมราชทัณฑ์ไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟู "พฤตินิสัย" ของนายสมคิดให้กลับมาเป็นคนดีได้
  

 

 

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข.

 


          ทั้งนี้ การฟื้นฟูพัฒนา “พฤตินิสัย” หมายถึง การปรับเปลี่ยน พฤติกรรมและ นิสัย ของผู้กระทำผิดคดีอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆ่า ข่มขืน ก่อการร้าย ฯลฯเนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สะสมพฤติกรรมความคิดและจิตสำนึกผิดทำนองคลองธรรมมาเป็นระยะเวลายาวนาน หลักกฎหมายสากลจึงระบุให้ต้อง “สงเคราะห์ผู้ต้องขัง” Pre-release Prisoner (PRP) ด้วยการช่วยพัฒนาพฤตินิสัยเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้ต้องขังให้เป็นปกติก่อนปล่อยตัว


          ทุกเรือนจำทั่วโลกจึงมีกิจกรรมหรือ โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังพ้นโทษ คนไทยเรียกกันสั้นๆ ว่า “คืนคนดีสู่สังคม” เช่น การอบรมด้านคุณธรรม อบรมจริยธรรม ฝึกอาชีพ จัดหาแหล่งงาน ฯลฯ โดยเป้าหมายสำคัญคือ “ไม่ให้หวนกลับไปทำผิดกฎหมายซ้ำอีก”


          ตัวอย่างเช่น 8 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังเสพยาเสพติดในรูปแบบวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ 2.โครงการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบชุมชนบำบัด 3.การบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิกใครติดยายกมือขึ้นตามแนวทางพระราชดำริโครงการ “ทูบีนัมเบอร์วัน” 4.โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ 5.โครงการเสริมสร้างสมรรถนะทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ต้องขังด้วยการอบรมศีลธรรมจริยธรรมทางศาสนา กิจกรรม ดนตรี กีฬา นันทนาการ 6.โครงการแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมให้เรือนจำดำเนินการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง 7.โครงการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังในลักษณะการจ้างแรงงาน และ 8.โครงการการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง

 

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข.

 


          ข้อมูลจาก “ทีดีเจ” (TDJ) หรือทีมอาสาสมัครชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย ซึ่งนำข้อมูลตัวเลขผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์มาวิเคราะห์ ระบุว่า จากข้อมูลปี 2559 พบนักโทษทั้งหมดทั่วประเทศ 317,513 คนได้รับการปล่อยตัว 115,161 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 12,422 คน หรือร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอบรมเตรียมความฯ


          นอกจากนี้ “ทีดีเจ” ได้วิเคราะห์สถิติย้อนหลัง 3 ปี พบว่าจำนวนผู้ติดคุกซ้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 1.2 หมื่นคน โดยปี 2556 มีนักโทษติดคุกซ้ ำ13,442 คน ปี 2557 เพิ่มเป็น ​24,225 คน หมายถึงเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 10,783 คน หรือร้อยละ 80 ส่วนปี 2558 มีผู้ติดคุกซ้ำ 35,335 คนเพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 11,110 คน หรือร้อยละ 46 ขณะที่ข้อมูลปี 2559 มีผู้ติดคุกซ้ำ 49,481 คน


          ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดังที่ร่วมก่อตั้งศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ให้ “คม ชัด ลึก” ฟังเกี่ยวกับปัญหานักโทษถูกปล่อยออกไปแล้วยังก่อคดีร้ายแรงว่า

 

 

 

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข.

 


          ที่ผ่านมาเรือนจำส่วนใหญ่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยยังใช้วิธีไม่ถูกต้องในการคุมขังนักโทษ เพราะเป็นรูปแบบ “ลงโทษด้วยความรุนแรง” บังคับคุมขัง ให้กินอยู่หลับนอนด้วยความทรมาน หรือทำให้เกิดความยากลำบาก ซึ่งวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผลแล้ว ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์ว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น


          “ผมศึกษางานวิจัยเป็นร้อยๆ ชิ้น ผลสรุปคล้ายกันว่า การลงโทษจับไปคุมขังเพื่อให้เกิดความทรมานยิ่งจะทำให้นักโทษรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ กลายเป็นความรุนแรงที่เก็บกดสะสมอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจ มีโอกาสเมื่อไรก็จะหาทางระบายออกมาด้วยการทำร้ายคนอื่น หรือทำผิดกฎหมายอื่น ยิ่งติดคุกนาน ยิ่งสะสมความเจ็บปวดไว้มาก สุดท้ายก็ถูกจับมาติดคุกซ้ำ เพราะเรือนจำไม่ได้เยียวยาพวกเขาอย่างถูกวิธี”


          ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาข้างต้นอธิบายต่อว่า การปรับเปลี่ยนพฤตินิสัย “ผู้ต้องขัง” ต้องใช้หลายวิธีการควบคู่กันไป เช่น ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีโอกาสได้ทำคุณความดีต่อสังคม เพื่อทำให้ “จิตใจ” รู้สึกดีขึ้น ทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ใช่สั่งให้นั่งๆ นอนๆ ในห้องขังคับแคบแออัดตลอดทั้งวัน และที่สำคัญคือการเยียวยาฟื้นฟูแก้จุดอ่อนใน “จิตใต้สำนึก” 

 

 

 

ปมอันตราย สมคิด...จิตใต้สำนึก นักโทษ 5 ข.

 


          "สำหรับนักโทษที่มีพฤติกรรมทำร้ายคนอื่นอย่างรุนแรง ที่เรียกกันว่า 5 ข. คือ ข่มขวัญ ข่มขี่ ข่มเหง ข่มขู่ และข่มขืน ต้องใช้เทคนิคพิเศษ ฝรั่งเรียกว่า Healing Trauma หรือ การฟื้นฟูความสะเทือนขวัญ เหมือนที่คนโบราณเรียกว่าขวัญหาย ต้องให้ขวัญนั้นกลับมาให้ได้ หมายถึงการไปเรียกเซลล์ที่ดีๆ ในตัวพวกเขาออกมา เป็นกระบวนการปรับความคิดที่อยู่ในจิตใต้สำนึก นักโทษต้องฟื้นฟูเยียวยาจุดอ่อนนี้ให้ได้ ไม่ใช่แค่ฝึกอาชีพหรือหางานใหม่ให้ทำเท่านั้น"


          ดร.วัลลภ กล่าวแนะนำเพิ่มว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนให้กรมราชทัณฑ์จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงโดยเฉพาะการรักษานักโทษกลุ่มพฤติกรรมรุนแรง 5 ข. ต้องใช้วิธีการรักษาจิตใต้สำนึก เพื่อให้เชื่อใจได้ว่าจะไม่กลับมาก่อคดีซ้ำอีก


          ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์มักอ้างว่าไม่มีงบประมาณทำโครงการคืนคนดีสู่สังคม แต่จากคดีตัวอย่าง “สมคิด ฆาตกรต่อเนื่อง”


          คนไทยคงต้องช่วยกันจุดประกายให้รัฐบาลเร่งรีบทำ “โครงการฟื้นฟูจิตใต้สำนึก” และควรจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพียงพอด้วย ก่อนที่จะมี “สมคิด” คนที่ 2 3 4 5 ...

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ