คอลัมนิสต์

ไม่ไว้วางใจ-ยึดโยงประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562

 

 


          การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป มีไทม์ไลนให้ได้ลุ้นระทึกกันหลายวาระกับนานาญัตติที่มีเป้าหมายซักถามตรวจสอบไปจนถึงซักฟอก หรือไล่รัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นญัตติศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ญัตติศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับทราบรายงานการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือน แต่ที่น่าจะสะเทือนถึงรัฐบาลมากที่สุดก็คือญัตติอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมากและอยู่ในสภาพเสียงปริ่มน้ำ ก็ยังคงจะรักษารัฐนาวาให้ส.ส.อยู่ในแถวได้ หากแต่การอภิปรายเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือนั้นย่อมจะสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลเสียมากกว่าตัวเลขการลงมติไว้ใจหรือไม่ไว้วางใจ

 

 

 

 

          มีรายงานว่าพรรคฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจช่วงหลังวันที่ 12 ธันวาคม และไม่เกินวันที่ 20 ธันวาคม โดยวางเป้าหมายการอภิปรายไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้านบอกว่าการอภิปรายหลายครั้งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ให้ชัดเจน จึงจำเป็นต้องใช้ช่องทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจในหลายประเด็น เช่น การบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการปล่อยปละละเลยในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน่ การใช้อำนาจมิชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารรัฐสาหกิจ ฯลฯ

 


          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ เมื่อมีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีหลีกหนีการถูกอภิปราย มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (โดยทั่วไปคือเท่ากับหรือเกินกว่า 251 เสียง) หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งในทันทีตามมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีมีสถานภาพเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่หากถูกลงมติไม่ไว้วางใจย่อมทำให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วย

 

 



          การยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยื่นข้อหาร้ายแรงเพื่อไล่ออก โดยทั่วไปส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลนอกเหนือจากงานนิติบัญญัติจะยื่นก็ต่อเมื่อต้องการสอบสวนรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะเมื่อเห็นว่ารัฐมนตรีไม่สมควรได้รับความไว้วางใจให้ทำงานต่อไป ซึ่งอาจเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาด ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ ทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยรัฐสภาที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่กระนั้น ส.ส.เอง ก็ยึดโยงอยู่กับประชาชน การยื่นญัตติไล่รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแน่ใจว่ามีหลักฐาน มีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอ จนแน่ใจว่าประชาชนก็เห็นพ้องไม่ให้รัฐบาลหรือรัฐมนตรีบริหารงานต่อไป มิเช่นนั้นแล้วการไล่กันแบบพร่ำเพรื่อย่อมรังแต่จะทำให้ความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านถดถอยด้อยค่า สุดท้ายก็จะถูกตีตราว่าเป็นแค่ฝ่ายแค้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-วิษณุ ชี้ หากโหวตพ.ร.บ.งบไม่ผ่านรัฐบาลควรยุบสภา-ลาออก
-ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ชี้ชะตา รบ.เสียงปริ่มน้ำ
-ธรรมนัส มั่นใจ เสียงในสภาโหวตผ่านงบ
-ช่างกล้า ขยี้งบกองทัพ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ