คอลัมนิสต์

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  สมัชชา หุ่นสาระ


 

          “ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีมาต่อเนื่องจากหลากปัจจัยที่หลายคนไม่รู้สาเหตุและคำตอบที่แน่ชัด


          แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามจะยุติปัญหาเหล่านี้ลงให้เร็วและเรียบร้อยที่สุด เพราะความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินนับมิถ้วนนั้น ควรบังเกิดขึ้นในพื้นที่แบบนี้หรือ...

 

 

 

 

          แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า "พวกแนวคิดสุดโต่ง” ที่ไม่เปิดตัวเองและไม่รับฟังสิ่งใดๆ เลยนอกจากแนวคิดตัวเอง หากใครไม่ยินยอม คนเหล่านี้จะมองว่า “ผิดและควรกำจัดโดยหลากวิธี”

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 


          คนเหล่านี้มิลงมือเองแต่พยายามครอบงำคนในยุคนี้และคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมอุดมการณ์โดยใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นเครื่องมือซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกับการดำเนินการเช่นนี้


          “ยาเสพติด” คือหนึ่งในเครื่องมือที่แกนนำก่อเหตุในพื้นที่นำมาใช้ระดมมวลชนและเป็นต้นทุนปลุกเชื้อไฟความขัดแย้งให้ต่อเนื่องโดยมิคำนึงว่าหนึ่งชีวิตที่เลือกเส้นทางที่ผิดไปนั้น สร้างผลกระทบต่อครอบครัว สังคมและตัวผู้หลงผิดอย่างไร.....


          ถามว่าแกนนำร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่สูญไปของหนึ่งชีวิตที่หลงทางหรือไม่นั้น...คนในพื้นที่และสังคมส่วนใหญ่ย่อมมองออกว่าคำตอบที่จะได้มาเป็นเยี่ยงใด....

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 

 

 

 

 

          ฉะนั้นภารกิจหนึ่งของ “พล.ท.พรศักดิ์ ชุมสวัสดิ์” แม่ทัพภาคที่ 4 แจ้งไว้กับสังคมคือ "ยาเสพติดคือทุกข์ของชาวบ้าน ทำลายลูกหลาน ผิดหลักศาสนา” โดยนำมาใช้รณรงค์ในการเเก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการพบว่ายาเสพติดนั้น แกนนำผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่นำยาเสพติดมาใช้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้เสพ และนำพลังของคนกลุ่มนี้ไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการก่อความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง



          แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการรวมพลังแก้ไขปัญหายาเสพติด คืนความสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้เป็นหนึ่งในภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือเพื่อขจัดเหตุดังกล่าวที่เรื้อรังกว่าสิบห้าปีให้ยุติโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทุกฝ่ายจะร่วมดำเนินการ


          “พ.อ.(พิเศษ) ปราโมทย์ พรหมอินทร์” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า "ยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่กว่าสิบห้าปีที่ผ่านมาเพราะโยงกับขบวนการที่ก่อเหตุ ถือเป็นภัยแทรกซ้อนที่กระทำโดยตรงและเอื้อต่อกันและกันที่ไปปลุกระดมเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มาตุภูมิของคนในพื้นที่ให้มาร่วมขบวนการนี้

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

ไกรศร วิศิษฏ์วงศ์” 

 


          การจับกุมพบว่ามีการทำเป็นขบวนการเพื่อนำยาเสพติดไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูง และบางส่วนนำมาใช้ในพื้นที่ ตรงนี้แม่ทัพภาคที่ 4 วางแนวทางแก้ไขไว้หลายด้าน หนึ่งในนั้นคือคัดแยกผู้ที่ใช้ยาเสพติดออกมาจากขบวนการให้มากที่สุด และตรวจว่านโยบายที่แม่ทัพภาคที่ 4 ให้ไว้คือหากพบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปลดออกและบังคับใช้กฎหมายคือคำตอบ ตอนนี้เราเร่งจัดการกับผู้ค้ารายย่อย เราให้ชาวบ้านแจ้งเบาะแสโดยไม่ต้องเปิดชื่อมาที่ตู้ปณ.41 ปัตตานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ”


          “วันนี้หากนำเยาวชนสิบคนมาตรวจพบว่าแปดคนมีสารเสพติดในร่างกาย วันนี้หากแก้ไขได้ไว จะสร้างศรัทธาการแก้ปัญหาความไม่สงบได้เร็วและดีขึ้นเพราะชาวบ้านร่วมมือ และพบว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือดีเพราะไม่อยากให้ลูกหลานเดินผิดทาง”

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 


          “ไกรศร วิศิษฏ์วงศ์” ผู้ว่าฯ ปัตตานี ระบุว่า วันนี้ภาครัฐต้องกวาดบ้านตัวเองคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจร่างกายว่าไม่มีสารเสพติดก่อนที่จะไปดำเนินการ ค่ายพักพิงเพื่อการบำบัดจังหวัดปัตตานี (แคมป์ 35) คือนำผู้หลงผิดใช้ยาเสพติดมาเข้าค่ายนี้ โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดปัตตานี ร่วมมือกับทุกฝ่าย และมอบให้โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานีเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแนวทางและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือ "ปัตตานีโมเดล” และเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการ 


          ยาเสพติดที่แพร่ระบาดในพื้นที่นั้นคือ ยาบ้า น้ำมันกระท่อม(สี่คูณร้อย) ไอซ์ เฮโรอีน กัญชา โดยมีแนวทางบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหายาเสพติดห้าขั้นตอนดังนี้

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

“นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์” 

 

 

          ค้นหาและสำรวจผู้ป่วยยาเสพติดทั้งในอดีตและปัจจุบันผ่านการสำรวจข้อมูลจากทุกหน่วยงานจากทุกหมู่บ้านและชุมชน


          คัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยออกเป็นระดับผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ป่วยมีอาการทางจิต ผู้ป่วยยาเสพติดประเภทก้าวร้าว


          กระบวนการบำบัดรักษา แบ่งเป็น ผู้ป่วยระดับผู้ใช้ ผู้เสพ เข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลและโรงพยาบาลชุมชน ผู้ติดเข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี โดยส่งตามระบบหรือค่ายพักพิง เพื่อการบำบัดจังหวัดปัตตานี (แคมป์ 35) ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนหรือส่งตามระบบในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจิตเวช ผู้ป่วยที่มีอาการก้าวร้าว บำบัดรักษาที่ศูนย์แก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 


          การติดตามดูแลต่อเนื่องในชุมชนจะมีการให้ชุดปฏิบัติการจากทุกหน่วยงานมาร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำตำบาล (เทก แคร์ ทีม ) ทุกตำบลทำหน้าที่ค้นหาและติดตามผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว (สมัครใจ บังคับบำบัด ต้องโทษบำบัด) มิให้กลับไปเสพซ้ำ เข้าพื้นที่เป็นระยะตามวงรอบการตรวจ


          การพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อผู้ป่วยกลับสู่หมู่บ้านหรือชุมชน เทก แคร์ ทีม จะติดตามผู้ป่วยเพื่อมิให้กลับไปเสพซ้ำเป็นเวลาสามเดือนแล้วคัดเลือกนำไปฝึกอบรมอาชีพ มอบอุปกรณ์ เพื่อการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีอาชีพและรายได้ในอนาคต

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 


          ส่วนแคมป์ 35 จัดทำขึ้นในหลักสูตรค่ายพักพิงเพื่อการบำบัดในหลักคิดนำผู้ป่วยออกมาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดมากักกันโรคในระบบค่ายจำนวน 35 วัน เพื่อให้ฝ่ายปราบปรามเข้ากวาดล้างหมู่บ้านหรือชุมชนให้ปลอดยาเสพติดในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในค่าย โดยข้อมูลการปราบปรามนั้นจะได้จากผู้ป่วย (โดยเฉพาะข้อมูลผู้ค้ารายย่อย) เมื่อผู้ป่วยออกจากค่ายนี้แล้ว เทก แคร์ ทีม จะติดตามผู้ป่วยเพื่อมิให้กลับไปเสพซ้ำเป็นเวลา 3 เดือน


          “นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์” ผอ.โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ระบุว่า ผู้ป่วยยาเสพติดถือเป็นโรคไม่ติดต่อ แต่เป็นโรคระบาดที่อาจแพร่เชื้อระบาดไปได้ วันนี้แคมป์ 35 ดำเนินการมาแล้วหนึ่งรุ่น ถือว่าก้าวไปได้ดี แคมป์ 35 รุ่นที่หนึ่งซึ่งดำเนินการไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีผู้มาร่วมบำบัด 235 ราย จากเป้า 240 ราย ตอนนี้อยู่ในขั้น เทก แคร์ ทีม ที่จะติดตามผลต่อไปและนำมาใช้กับรุ่นต่อๆ มาเพื่อให้ปัญหาสิ้นสุดในเร็ววันนี้

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 


          “เราหวังว่าเมื่อคนกลุ่มนี้ออกจากค่ายแล้วสังคมควรเปิดโอกาสให้พวกเขาในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตแบบคนทั่วไป ตัวอย่างที่เราใช้แล้วได้ผลคือเราใช้คนที่เคยเสพยามาเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่ได้รับค่าตอบแทน เพราะคนกลุ่มนี้เข้าใจชีวิตคนที่เสพยาในช่วงบำบัดเป็นอย่างดี เพราะพวกเขาไม่อยากให้คนในรุ่นหลังต้องผิดพลาดในชีวิต ตรงนี้คือจุดที่ดีของการเริ่มต้นไม่ให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตแบบที่ผ่านมาและสังคมต้องช่วยกันดูแลพวกเขาไม่ให้กลับไปเส้นทางชีวิตแบบเดิมๆ ตรงนี้คือการบ้านที่อยากฝากทุกส่วนช่วยกันมองว่าพวกเขาคือคนปกติแล้ว ฉะนั้นเราจะให้พื้นที่พวกเขาอย่างไร”


          ส่วนการดูเเลในช่วงหลังเข้าค่ายนั้นจะใช้ระบบ FAST ของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่ไปด้วยกัน


          “สินารัน” คือคำในภาษาพื้นถิ่นที่แปลว่า “แสงสว่าง” คำคำนี้คือชื่อบ้านพักหลังหนึ่งในแคมป์ 35 โดยที่ผู้หลงผิดไปใช้เส้นทางยาเสพติดและต้องการเดินออกมาร่วมกันตั้งชื่อบ้านหลังนี้ เพราะทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมานั้น มันไม่ใช่วิถีที่ดีต่อชีวิตตัวเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมที่พวกเขาร่วมดำเนินชีวิต

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

“พล.ท.พรศักดิ์ ชุมสวัสดิ์”

 


          ฉะนั้น “บ้านแสงสว่าง” ที่พวกเขามาร่วมกันค้นพบและเลือกที่จะเดินออกจากโลกมืดไปนั้น ต้องส่องแสงนำทางที่ดีให้พวกเขาไม่หลงเข้าเส้นทางมืด และพวกเขาจะนำแสงสว่างนี้ไปชี้ทางให้คนอื่นๆ ที่เริ่มจะเดินผิดให้หวนคิดและเลือกทางใหม่


          เจ้าหน้าที่แคมป์ 35 คนหนึ่ง ระบุว่า เยาวชนในพื้นที่ที่มาร่วมแคมป์ 35 พบว่าบางส่วนผู้ปกครองเต็มใจพามาที่นี่ บางส่วนโดนจับกุมแล้วคัดกรองส่งมา แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่าผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานกลับเพราะอยากให้ยุติเส้นทางชีวิตในด้านผิดแบบถาวรเพราะกลัวว่ากลับสู่ถิ่นฐานจะพบสิ่งแวดล้อมเดิมๆ
“เบื้องต้นพบว่าคนใช้ยาเสพติดอายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี มากสุดคือ5 0 กว่าปี เราใช้วิธีการดูแลแบบเข้าค่ายให้สลายพฤติกรรม ให้ความรู้ความเข้าใจทุกด้านเพื่อให้พวกเขาได้คิดและมีมุมมองใหม่ในชีวิต เพราะเท่าที่สัมผัสหลายคนเริ่มตื่นรู้และอยากออกจากวิถีแบบเดิมๆ ตรงนี้ทุกฝ่ายต้องช่วย เพราะผู้ปกครองคนกลุ่มนี้ยืนยันมาหลายครั้งว่าหากกลับไปเจอวิถีเดิมๆพวกเขาจะโดนชักจูงกลับไปแบบเดิมๆ อีก ดังนั้นการป้องกันและปราบปรามจากพื้นที่นั้นทุกฝ่ายต้องช่วยเพื่อมิให้คนเหล่านี้และคนรุ่นใหม่ไปเข้าวงจร"

 

 

 

แคมป์ 35 คำตอบของแสงสว่าง

 


          หวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันดำเนินการให้ยาเสพติดเเละความรุนเเรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานทองนี้ยุติเพื่อคืนความสันติให้แก่ทุกคนในเเผ่นดินนี้

 


          Fast Model การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในแบบเข้มข้นทางสายใหม่ กระทรวงสาธารณสุข
          F : Family การที่ครอบครัวมีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา
          A : Alternative Treatment Activity การใช้กิจกรรมทางเลือกให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และความต้องการของผู้ป่วย
          S : Self - Help กระบวนการให้ผู้ป่วยมีการเรียนรู้
          T : Therapeutic Community แนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าทางสังคม โดยใช้กระบวนการกลุ่มชุมชนบำบัด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ