ชีวิตดีสังคมดี

เคาะวัน 'เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย' เก็บราคาแสนถูก พร้อมบอกวิธีคำนวณล่วงหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เคาะวัน 'เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย' รอบนี้ กทม. เก็บจริง ใน 22 เขตที่โรงบำบัดน้ำเสียครอบคลุม ราคาแสนถูก พร้อมบอกวิธีคำนวณ ค่าบำบัดน้ำเสีย ล่วงหน้า

เป็นที่แน่ชัดแล้วสำหรับการ "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะกลับมาเก็บอีกครั้งในรอบ 20 ปี ความคืบหน้าล่าสุดกทม. อยู่ระหว่างการออกร่างประกาศกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับการบริหารจัดเก็บค่าน้ำเสีย ให้ครอบคลุมทุกด้าน และลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการของเอกชน

 

 

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล

 

 

 

 

สำหรับการ  "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย"  ที่ผ่านมาแม้จะเคยมีการศึกษามานานแล้ว แต่ กทม.ยังไม่ได้ลงมือเก็บเสียที และไม่รู้ว่าต้นเหตุที่ไม่จัดเก็บคืออะไรกันแน่ แต่ในยุคที่ ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดว่า"ผู้สร้างมลภาวะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่ให้เกิดนำภาษีของประชาชนส่วนรวมมาจ่าย หรือที่เรียกว่าหลักการ PPP หรือ Polluters Pay Principle 

 

 

ล่าสุด รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผว.กทม.) กล่าวถึงการ "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า แนวคิดการ เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย และมีเคยมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มานานแล้วแต่ว่า กทม. ยังไม่เคยดำเนินการจัด "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" มานานกว่า 20 ปี ตนเข้าใจว่าเพราะ กทม. ยังไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้นสิ่งที่จะต้องดำเนินหลังจากนี้คือการศึกษาต่อให้ กทม. สามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้จริง เพราะที่ผ่านมา กทม.จะต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียประมาณ 700-800 ล้านบาทซึ่งค่าใช้จ่ายหลักๆ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพลังงานเชื้อเพลิง หากจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้ในช่วงแรกคาดการณ์ว่า กทม.จะมีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท/ปี 
 

จากผลการศึกษาการปล่อยน้ำเสียและการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า  ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งมาตรการใช้และไม่ใช้สิ่งก่อสร้างสำหรับมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างนั้น ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางชื่อ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่รวม 192 ตารางกิโลเมตร ใน 22 เขตการปกครอง ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และ หลักสี่ มีขีดความสามารถบำบัดน้ำเสียได้รวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปี 2561-2565 ปริมาณน้ำเสียที่บำบัดได้จริง ประมาณ 840,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของการใช้น้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 2.5  ล้านลูกบากศ์เมตรต่อวัน

 

 

 

  • แนวทางการจัด "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" 


รศ.ดร. วิศณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครได้ตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 และ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค .2563 โดยได้มีแนวทางการดำเนินการ คือการเริ่มจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในพื้นที่บริการโรงบำบัดน้ำเสียทั้ง 8 แห่ง 22 เขตข้างต้นก่อน สำหรับรูปแบบการเก็บในช่วงแรก กทม. จะต้องขอข้อมูลการใช้น้ำจากน้ำประปาโดยจะคิดปริมาณน้ำเสียในจำนวน 80% ของน้ำประปาที่ใช้งานจริง หลังจากนั้นกทม.จะทำการบริหารจัดการการ "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" ด้วยการออกบิลเองไปก่อนในช่วงแรก ตั้งเป้าว่าจะเริ่ม "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" ได้ประมาณปลายเดือนมกราคม 2567 แน่นอน 

 

 

ตัวอย่างรูปแบบใบเสร็จ

 

 

  • เริ่ม "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" กับใครเป็นกลุ่มแรก  

ตามนโยบายของผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร กำหนดให้ระยะแรก เก็บค่าธรรมเนียมกับแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เป็น สถานประกอบการขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก รวมทั้งอาคารสำนักงานของรัฐและเอกชน และให้ครอบคลุมถึงแหล่งกำเนิด น้ำเสียประเภทอื่น ๆ ที่สมัครใจขอรับบริการบำบัดน้ำเสีย โดยแหล่งกำเนิดน้ำเสียดังกล่าวมีกฎหมายควบคุมคุณภาพน้ำทิ้ง และกฎหมายให้ทางเลือกเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย สามารถเดินระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองจนได้มาตรฐานน้ำทิ้ง แล้วมายื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย หรือเลือกที่จะส่งน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดขั้นต้น แล้วเข้าระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานคร และชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย มีรายละเอียด ดังนี้ 

 

แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมในระยะแรก ประกอบด้วย  
1.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2  หน่วยงานรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเกินกว่า 2,000 ลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.)/เดือน 

2.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 โรงแรม  โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรง สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อหลังหนึ่งปีก่อนการจัดเก็บค่าทำเนียบบำบัดน้ำเสียเกินกว่า 2,000 ลบ.ม./เดือน 

3.แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มีความต้องการจะขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ซึ่งขณะนี้กทม. มีการแก้ไขร่างกฎหมายควบคุมอาคาร โดยหากคอนโดมิเนียมที่ต้องการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียของ กทม. ก็ไม่ต้องสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในโครงการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และลดความซ้ำซ้อนของเอกชน  

 

 

แหล่งน้ำเสียที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในระยะแรก ประกอบด้วย 
1.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 1 ได้แก่ บ้านเรือนที่พักอาศัย อาคารชุด หอพัก และที่อยู่อาศัยรวมเนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยพื้นฐาน ประกอบกับขณะนี้อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กทม. จึงยังไม่ควรเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

2.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล โรงพยาบาล สถานพยาบาล โรงเรียน สถานศึกษา เพราะสถานที่ดังหล่าวเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ และเป็นสถานที่ที่ให้บริการแก่ประชาชน 

 

 

ตัวอย่างรูปแบบใบเสร็จ

 

 

  • อัตราค่าบำบัดน้ำเสียและตัวอย่างวิธีการคำนวณการ "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" 

รศ.ดร.วิศณุ ระบุว่า การ "เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย" จะคิดจากปริมาณน้ำเสียซึ่งเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้น้ำประปาคูณด้วยอัตราค่าธรรมเนียม ตามประเภทของแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ซึ่งได้แบ่งประเภทและอัตรา ดังนี้

 

1.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 1 อัตรา 2 บาท/ลูกบาศก์เมตร ได้แก่

-บ้านเรือนที่พักอาศัย
-อาคารชุด คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ หอพัก รวมทั้งที่อยู่อาศัยรวม

2.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 อัตรา 4 บาท/ลูกบาศก์เมตร ได้แก่

-หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ
-มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล
-โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
-โรงเรียนหรือสถานศึกษา
-สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำ ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

3.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 อัตรา 8 บาท/ลูกบาศก์เมตร ได้แก่

-โรงแรม
-โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
-สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำ เกินกว่า ๒,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

 

ตัวอย่าง การคำนวณค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
อาคารสำนักงานแห่งหนึ่งมีปริมาณการใช้น้ำประปา100 กบาศก์เมตรต่อเดือน
ค่าธรรมเนียม 100 X 80/100 = 8 ลูกบาศก์เมตร/เดือน x อัตรา 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
= 320 บาท/เดือน

 

 

หลายคนอาจสงสัยว่าน้ำเสียที่บำบัดแล้วกทม.นำไปทำอะไรบ้าง โดย รศ.ดร.วิศณุ อธิบายทิ้งท้ายว่า น้ำเสียที่ไหลเข้าท่อดักน้ำเสียจะถูกส่งเข้าไปที่โรงบำบัดน้ำเสียตามพื้นที่ต่างๆ  จากนั้นจะทำการบำบัดตามขั้นตอน โดยน้ำที่บำบัดแล้วเสร็จแล้วจะนำไปลดน้ำต้นไม้บางส่วน บางส่วนจะถูกผลันลงคลอง เพื่อไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสีย กทม.กำลังพยายามศึกษาแนวทางที่จะบำบัดน้ำเสียให้สะอาด 100% ให้ได้ เพื่อรองรับปัญหาการคาดแคลนน้ำในอนาคต


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ