น้ำประปา เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนกรุงเทพฯ ปัจจุบันเราใช้น้ำอยู่ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เมื่อใช้เสร็จก็กลายเป็นน้ำเสีย บางส่วนเอกชนก็จะบำบัดเอง บางส่วนก็ส่งไปบำบัดรวมที่ส่วนกลาง หรือที่โรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่ได้จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่มี "ค่าบำบัดน้ำเสีย" และมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการถึงปีละ 800 ล้านบาท ขีดความสามารถในการบำบัดคือ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้ง 100% ทำได้เพียง 37%
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ การประปานครหลวง โดยมีนายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมลงนาม
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า การเก็บ "ค่าบำบัดน้ำเสีย" ครั้งนี้ไม่ได้รบกวนประชาชน แต่เป็นการเก็บจากผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ โดยคิดคำนวณจากน้ำดีที่ใช้ ประมาณ 80% ที่นำมาคำนวณ โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลน้ำมาจากการประปานครหลวง การนำมาตรวัดน้ำดีมาใช้เป็นไปตามหลักสากล ฝากถึงประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะการจัดเก็บจากที่พักอาศัยของประชาชนยังไม่มีอยู่ในแผน เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ระยะแรกคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 200 ล้านบาท ยังมีส่วนต่างอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามหัวใจคือ PPP หรือ Polluters Pay Principle ผู้สร้างมลภาวะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่ให้เกิดนำภาษีของประชาชนส่วนรวมมาจ่าย และเป็นกระตุ้นให้คนใช้น้ำน้อยลง
ด้านผู้ว่าฯ กปน. กล่าวว่า การประปานครหลวงเห็นด้วยกับกรุงเทพมหานครตามหลักการที่ว่าผู้ที่ก่อไห้เกิดมลภาวะต้องมีส่วนร่วม ความร่วมมือในครั้งนี้การประปาพร้อมสนับสนุนข้อมูลให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อให้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอนาคตอาจจะมีความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสียอื่นๆ เพิ่มเติมอีก
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดเก็บ "ค่าบำบัดน้ำเสีย" ของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บได้ในต้นปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยการจัดเก็บแยกเป็น 2 กลุ่ม คือสำนักงาน และสถานประกอบการที่ใช้น้ำจำนวนไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.จะเก็บในอัตรา 4 บาท ต่อลบ.ม. แต่สถานประกอบการ โรงแรมขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำเกิน 2,000 ลบ.ม. จะเก็บในอัตรา 8 บาท ต่อลบ.ม. สำหรับวิธีการจัดเก็บกทม.จะเป็นผู้ออกใบแจ้งหนี้เอง โดยในอนาคตจะหารือการประปาเพื่อให้การออกใบแจ้งหนี้เป็นใบเดียวกัน ในส่วนของสถานประกอบการหรือโรงแรมที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเองแล้วอาจจะไม่ต้องจ่ายค่าบำบัดนี้ และในส่วนของสถานประกอบการที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่บริการของโรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 8 แห่ง ก็ยังไม่จ่ายค่าบำบัดเช่นกัน
ทั้งนี้กรุงเทพหมานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยที่ผ่านมาผู้แทนของกรุงเทพมหานครและการประปาได้หารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างทั้ง 2 หน่วยงานเป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
• แลกเปลี่ยนข้อมูลรหัสประจำบ้าน และข้อมูลการใช้น้ำรายเดือนสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน
สำหรับรายละเอียดความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลง มีดังต่อไปนี้
1.กทม. สนับสนุนข้อมูลรหัสประจำบ้าน (House ID) แก่ กปน. เพื่อการให้บริการของ กปน. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตาม พ.ร.บ. การประปานครหลวง พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. กปน. ตกลง ให้ความร่วมมือกับ กทม. ในการสนับสนุนข้อมูลการใช้น้ำรายเดือน ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ที่กรุงเทพมหานครประกาศจัดเก็บ เพื่อเป็นฐานข้อมูลใช้ประกอบในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เช่น ข้อมูล ปีอ่านน้ำ เดือนอ่านน้ำ รหัสประจำบ้าน รหัสประเภทบุคคล ทะเบียนผู้ใช้น้ำ รหัสสถานะผู้ใช้น้ำ รหัสประเภทผู้ใช้น้ำ ชื่อผู้ใช้น้ำ สถานที่ใช้น้ำ ปริมาณการใช้น้ำ ประจำเดือน หรือข้อมูลอื่นตามที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงร่วมกัน
3. กทม. และ กปน. จะสนับสนุนในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และตรวจสอบ ความถูกต้องของข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงเก็บรักษาข้อมูลทั้งหมดตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ให้เป็นความลับ
• 22 เขต เตรียมนำร่องเป็นพื้นที่บริการ เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย
พื้นที่บริการ จัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางซื่อ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ 22 เขต ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หลักสี่ หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และหลักสี่
• หลักวิธีคำนวณ เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แบบง่ายๆ
การคิดค่าบริการ คิดปริมาณน้ำเสียที่ร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้น้ำประปาคูณด้วยอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภทของแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ซึ่งจะเริ่มเก็บในต้นปีหน้า แบ่งประเภทและอัตรา ดังนี้
1.แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 อัตราไม่เกิน 4 บาท/ลูกบาศก์เมตร ได้แก่ หน่วยงานของรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กร ระหว่างประเทศ มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล โรงเรียนหรือสถานศึกษา สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลังหนึ่งปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน
2. แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 อัตราไม่เกิน 8 บาท/ลูกบาศก์เมตร ได้แก่ โรงแรม โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลังหนึ่งปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เกินกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน
• ชำระ "ค่าบำบัดน้ำเสีย" ง่ายๆ ผ่าน 3 ช่องทาง
สถานที่รับชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย มี 3 ช่องทาง ประกอบด้วย
1.จุดบริการรับชำระเงินของกรุงเทพมหานคร 1.จุดบริการรับชำระเงิน ณ ฝ่ายการคลัง สำนักงานเลขานุการ สำนักการระบายน้ำศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง 2.จุดบริการรับชำระเงิน ณ สำนักงานเขตทุกเขต
2.จุดบริการรับชำระเงินของธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ
3.ธนาคารที่ให้บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (Cross-bank Bill Payment) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ บริการธนาคารบนอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) บริการธนาคารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) และเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติโดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการชำระบิลข้ามธนาคารได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งค่าธรรมเนียมเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละธนาคารหรือผู้ให้บริการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง