" ไม่เคยย่อท้อ จะสานต่อ เพื่อคนรุ่นหลัง พร้อมกายกำลัง จะหยัดยืนตราบสิ้นลมหายใจ คือ อาจารย์ไพบูลย์ เพิ่มพูนวิชาความรู้ มีจิตวิญญาณครู ถ่ายทอดจากประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ชาติไทย จารึกไว้ ให้ เป็นตำนาน นี่คือ อาจารย์ "ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ " " เพลงประกอบในตอนท้ายของบทความ
ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง " อาจารย์ไพบูลย์ นักสู้แห่งลูกหนัง" รายละเอียดในเนื้อหาของเพลงนี้ ที่ถ่ายทอดออกมา คือการบอกเล่า ถึงชีวิตของ " ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์" ในมุมมองของผู้ที่เป็นลูกศิษย์ ที่มีต่อครู กับการทำหน้าที่ เป็นครู ที่สร้างโอกาสทางด้านฟุตบอล ให้กับ โค้ชฟุตบอล ซึ่งต้องการยกระดับความรู้ตัวเอง สู่การเป็นโค้ชฟุตบอลที่มีมาตรฐาน เพื่อนำความรู้นั้นไปสร้างโอกาสให้กับเยาวชน หรือใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ เป็นโค้ชฟุตบอล
เพลง " อาจารย์ไพบูลย์ นักสู้แห่งลูกหนัง" ไม่ได้โด่งดัง เพราะนี่คือเพลง ที่บอกเล่าถึงความเป็นตัวตน ของบุคคลผู้นั้น ความรู้สึก หรือ ความประทับใจ จึงเป็นที่รับรู้กัน ระหว่างผู้แต่งเพลง ที่ประพันธ์เนื้อร้อง และบุคคลที่เนื้อหาเพลงนี้กล่าวถึง
เส้นทางของ " ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ " กับวงการฟุตบอล เมื่อครั้งวัยหนุ่ม คือ การเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลอาชีพ ทั้งสโมสรตำรวจ สโมสรการท่าเรือ เคยติดทีมชาติไทย ในยุคเดียวกันกับ สุทิน ไชยกิตติ , สุรัก ไชยกิตติ , พิชัย คงศรี ทั้งนี้ ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ หยุดบทบาทในเส้นทางนักฟุตบอล ตำแหน่งกองหน้า เมื่ออายุ 30 ปี โดยมีสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เป็นต้นสังกัดสุดท้าย ในการค้าแข้ง
30 ปีให้หลัง มาจนถึงปัจจุบัน จากนั้น คือการเดินทาง ของชีวิต โดยมี"ฟุตบอล" เป็นส่วนประกอบ ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ พื้นฐานดั้งเดิมจังหวัดสุโขทัย จบเอกพลศึกษา ปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( มศว. ) ประสานมิตร ด้วยพื้นฐานความรู้ทางด้านพลศึกษาโดยตรง สิ่งที่ ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ เลือกที่จะต่อยอดให้กับตัวเอง คืองานทางด้านฟุตบอล
ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ ใช้ประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ก้าวเข้ามาสู่งานทางด้านฟุตบอลอย่างเต็มตัว ผ่านบทบาทหัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรฟุตบอลในยุคนั้น อาทิ การคุมทีมให้กับ ลพบุรี เอฟซี , พิษณุโลก ทีเอสวาย, โอสถสภา เอ็ม 150 สระบุรี, กระบี่ เอฟซี , จีเอสอี สมุทรสงคราม เอฟซี และสโมสรการท่าเรือ โดยสโมสรการท่าเรือ ในยุคของ นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นสโมสรสุดท้าย ที่เข้าไปรับงานในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน คุมทีมระยะสั้น เมษายน 2558: ฤดูกาล 2015
หลังสิ้นสุดบทบาท หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรฟุตบอลอาชีพ เส้นทางชีวิต ที่ ไพบูลย์ เลือกเดินต่อมา คือ การพัฒนาตัวเองให้เชี่ยวชาญกับงานอบรมด้านฟุตบอล ถึงปัจุบันนี้ ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ เป็นวิทยากรฝึกอบรม ที่ผ่านการรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ( เอเอฟซี ) ตำแหน่งของหลักสูตร ที่ได้การรับรองคือ โค้ชฟุตบอลระดับ เอไลเซนส์ โดยการสนับสนุนของ ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน ซึ่งทำหน้าที่ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในยุค วรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฯ
ในโครงสร้างของการอบรมเพื่อสร้างความรู้ให้กับโค้ชฟุตบอล ถูกแบ่งออกเป็น Introductory หรือเทียบเท่าระดับพื้นฐาน พัฒนาไปสู่ ซี ไลเซนส์, บี ไลเซนส์, เอ ไลเซนส์ จนถึงระดับ โปร ไลเซนส์ ซึ่งถือเป็นหลักสูตรสูงสุดของผู้ฝึกสอน รองรับการคุมทีมฟุตบอลในแต่ละระดับของลีก การหันมาให้ความสำคัญ กับงานทางด้านการฝึกอบรม เพื่อสร้างความรู้ทางด้านฟุตบอลให้กับโค้ชฟุตบอล มาจากพื้นฐานความเป็น"ครู" ที่อยู่ในตัวเอง
ด้วยการตระหนักว่า ความรู้คือสิ่งที่สร้างโอกาส และความรู้ที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องคือ หัวใจสำคัญ ในการนำสิ่งนั้นไปใช้ประโยชน์ ทั้งต่อตัวผู้เรียน และการถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่น จึงเป็นเวลาร่วม 20 ปี กับการม่งมุั่น ทำหน้าที่วิทยากรอบรมความรู้ทางด้านฟุตบอล ด้วยการร่วมมือ กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ และเอกชน
อาทิ กรมพลศึกษา , สมาคม ,สถาบันการศึกษา ส่งให้ถึงปัจจุบัน ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ มีลูกศิษย์ อยู่ทั่วประเทศ ทั้งไทย และต่างชาติ รวมไปถึง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ( โค้ชซิโก้ ) , ธชตวัน ศรีปาน ( โค้ชแบน ) ซึ่งทั้งคู่ ปัจจุบัน คุมสโมสรฟุตบอลอาชีพ
ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ ใช้เวลาส่วนใหญ่ ในการรับเชิญไปเป็นวิทยากรอบรมฟุตบอล ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการนำเอาความรู้นั้นไปต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้เรียน ครอบคลุม ทั้งครูพลศึกษา ผู้ฝึกสอนอคาเดมี่ ที่ต้องการสร้างพื้นฐานความรู้ ที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องให้กับตัวเอง
สิ่งที่ ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ ตกผลึกให้กับตัวเอง ผ่านชีวิตในสองด้าน ก็คือ การทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอล ซึ่งตลอดชีวิตของการอยู่ในตำแหน่งนี้ กลายเป็นเหมือนทุกอย่างที่ไม่เข้าข้าง เพราะเป็นการเข้าไปทำหน้าที่ในแบบ ที่ไม่ต่างไปจากการเข้าไปเพื่อกู้วิกฤต มีระยะเวลาอันสั้นต่อการทำหน้าที่ และการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ ในสิ่งที่ไม่ได้ปูพื้นฐานเอาไว้ตั้งแต่ต้น จึงไม่ต่างไปจากการกดดันต่อตัวเอง ภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด
ในอดีต ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ เคยปลุกปั้นสโมสรฟุตบอลอีสเทิรน์เอเชีย ด้วยการร่วมนับหนึ่งตั้งแต่ต้น นั่นทำให้เขามั่นใจว่า การเริ่มนับหนึ่งไปด้วยกันในวันแรก คือการสร้างความสำเร็จ ที่สามารถจับต้องได้ เป็นความเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์ทางด้านฟุตบอลทั้งชีวิต จะพัฒนาทีมฟุตบอลทีมนั้น ๆ ได้ ภายใต้แนวทางคือได้มีส่วนร่วมในการวางรากฐาน
ขณะที่งานด้านการทำหน้าที่เป็นครู การได้เฝ้ามองเห็นผลงาน เห็นความสำเร็จ เห็นถึงสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกไปนั้น ผ่านผู้เข้าเรียน รุ่นแล้ว รุ่นเล่า ถูกนำไปใช้ประโยชน์ คือการร่วมสร้างเมล็ดพันธุ์ของระบบฟุตบอลให้เกิดขึ้น เป็นการทำหน้าที่ของครูผู้สอน อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้
เป็นความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง ที่ได้มีส่วนในการสร้างโอกาส หรือนำความรู้ไปส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจ ในการพัฒนาตัวเอง เป็นความภูมิใจในหน้าที่ของชาย วัย 63 ปี "ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-
"ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย" ลุยซ้อมรับมือปาเลสไตน์นัดสุดท้ายรอบคัดเลือก
-
"ฟุตซอลไทย" ถล่มหมู่เกาะโซโลมอน ลิ่ว 16 ทีม ฟุตซอลชิงแชมป์โลก ดวล คาซัคสถาน
ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์ ระหว่างทำหน้าที่เป็นวิทยากรฝึกอรมโค้ชฟุตบอล ที่จังหวัดปทุมธานี ( แฟ้มภาพ )
ขอขอบคุณภาพจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลเพื่อพัฒนาศักยภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง