ข่าว

'ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย' จัดพิธี 'ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์'

'ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย' จัดพิธี 'ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์'

28 ส.ค. 2566

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จัด "พิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์" ตามความเชื่อของทางภาคเหนือ หลังพ้นระยะกักตัว 30 วัน พร้อมเตรียมเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยม "พลายศักดิ์สุรินทร์" ในวันพรุ่งนี้

28 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)  เป็นประธานในพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์ โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ที่สนใจเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

 

 

รมว.ทส. ร่วมในพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์


 

ก่อนทำพิธี "ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์"  มีการแสดง "ฟ้อนขันดอก" เพื่อเฉลิมฉลองและเลี้ยงขันโตก พลายศักดิ์สุรินทร์เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการเรียกขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่รัฐบาลไทยมอบให้ประเทศศรีลังกาในฐานะทูตสันถวไมตรี ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจเป็นปกติและประสบความสำเร็จในระหว่างรักษาอาการป่วย ตามคติความเชื่อของวิถีการเลี้ยงช้าง

 

 

สถาบันคชบาลแห่งชาติ จัดพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์

 

 

สำหรับ พิธีฮ้องขวัญ เป็นความเชื่อของคนไทยในสังคมภาคเหนือที่มีมาช้านาน ทั้งชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชาวไทยภาคเหนือตอนล่างมีความเชื่อว่า "ขวัญ" เป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคนขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์ และสิ่งของ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญจะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ เมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม ชาวล้านนาเรียก "ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว"

 

 

สถาบันคชบาลแห่งชาติ จัดพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์

 
 

นอกจากนี้ชาวล้านนามีคำเรียกลักษณะขวัญที่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า "รู้คิง" หมายถึงอาการของคนที่รู้เรื่อง รู้สึกตัว มีความรู้สึกเข้าใจทุกอย่าง ทุกขณะพูดและทำการใดก็รู้สติ ขวัญเป็นพลังแฝงในจิตใจเป็นนามธรรม ดูแลควบคุมกายจิตใจและวิญญาณให้มีดุลยภาพ ขวัญของชาวล้านนาจัดแบ่งประเภทเหมือนกับคนไทยท้องถิ่นอื่น คือ มีขวัญคน ขวัญพืช ขวัญสัตว์ และขวัญสิ่งของ (บ้านเรือนและเครื่องใช้ในการเกษตร)

 

สถาบันคชบาลแห่งชาติ จัดพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์

 

 

ชาวล้านนา มีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า "พิธีฮ้องขวัญ"  หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติพิธีฮ้องขวัญ จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุหรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยจะมีปฏิบัติต่อเนื่องกัน

 

 

สถาบันคชบาลแห่งชาติ จัดพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์

 

 

โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจและขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค) เป็นต้น

 

 

สถาบันคชบาลแห่งชาติ จัดพิธีฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์

 

 

ด้านสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะนี้พ้นระยะกักโรคแล้วและรักษาอาการป่วยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลช้างลำปาง หลังพิธีฮ้องขวัญจะมีการจัดทำโปรแกรมการตรวจรักษาสุขภาพช้างฯ และเตรียมเปิดให้ประชาชนได้เยี่ยมชม ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2566 เป็นต้นไป