คอลัมนิสต์

แฟลชม็อบ ต้องมีเหตุผล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แฟลชม็อบ ต้องมีเหตุผล โดย...  ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 


          การที่นิสิตนักศึกษาจัดกิจกรรมแฟลชม็อบรวมถึงติดแฮชแท็กเพื่อต่อต้านรัฐบาล หลังจากผลการตัดสินวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนว่าจะเป็นประเด็นร้อนไม่แพ้การระบาดของไวรัสโควิด-19

 

อ่านข่าว...  นศ.-ผู้สูงวัย ร่วมแฟลชม็อบ ม.เกษตรฯ ไม่หวั่นโควิด-19
 

 

 

          นักวิชาการ นักการเมืองและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเริ่มมีความกังวลว่าการจัดแฟลชม็อบของนักศึกษาจะบานปลายกลายเป็นความรุนแรงแบบที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ในขณะที่บางกลุ่มบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่านักศึกษาจะออกมาด้วยใจบริสุทธิ์หรือแค่ตามกระแสหรือหลงเชื่อในคำยุยงก็ตาม


          โพลล์ของนิด้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ แต่ก็มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ โดยมีคำถามหลักที่อาจจะเป็นคำตอบต่อความกังวลของทุกๆ กลุ่มในสังคมแต่ในที่นี้จะขอนำเสนอเพียงแค่สองข้อ


          คำถามแรกถามถึงสิ่งที่แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ ควรทำหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 33.41 ระบุว่า ยอมรับคไตัดสินของศาล รองลงมาร้อยละ 25.32 ระบุว่าใช้สิทธิวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ร้อยละ 11.35 ระบุว่า แกนนำอดีตพรรค ควรรณรงค์ทางการเมืองทั่วประเทศ และให้ ส.ส. ที่เหลืออยู่ของอดีตพรรค แสดงบทบาททางการเมืองแทนในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 8.65 ระบุว่าให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่ ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ มีอิสระย้ายไปสังกัดพรรคไหนก็ได้ ร้อยละ 8.33 ระบุว่า แกนนำอดีตพรรค ควรหยุดบทบาททางการเมือง ร้อยละ 5.71 ระบุว่า ให้ ส.ส. ที่เหลืออยู่ของอดีตพรรคย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่เตรียมไว้ แต่ร้อยละ 4.29 ระบุว่า แกนนำอดีตพรรคควรเป็นผู้นำชุมนุมทางการเมืองบนถนน และร้อยละ 10.71 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 



          จากการวิเคราะห์ผลในข้อแรกอย่างน้อยก็สบายใจเกี่ยวกับทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังคงให้ความเคารพอย่างเต็มที่ต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีเพียงหนึ่งในสามของประชากรในประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่เหลือจะไม่ให้ความเคารพในคำตัดสิน พวกเขายังคงเคารพในคำตัดสินแต่ก็ขอสงวนสิทธิในการไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน จึงคิดว่าผู้คนรวมทั้งแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ควรสามารถใช้สิทธิวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยสุจริต (ไม่ใช่บิดเบือนคำตัดสิน ใส่ร้ายและยุยงให้ผู้คนออกมาต่อต้าน) รวมความคิดเห็นในสองข้อนี้มีประมาณ 58% ในขณะที่คำตอบที่สำคัญอีกข้อที่อาจตีความได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยให้ความเคารพในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเท่าไรนัก คือการแนะนำให้


          แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้นำชุมนุมทางการเมืองบนถนน อย่างไรก็ตามผลคือมีผู้เห็นด้วยเพียงประมาณ 4% ซึ่งไม่แตกต่างกับผลโพลล์เมื่อสองอาทิตย์ก่อนที่มีเพียง 4% ที่สนใจชุมนุมทางการเมืองบนถนนหากมีผู้ชักชวน


          เมื่อแตกข้อมูลในข้อหนึ่งออกดูในรายละเอียดก็พบสิ่งที่น่าสนใจคือคนส่วนใหญ่ในช่วงอายุตั้งแต่ 36 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี จะอยู่ในกลุ่มที่แนะนำให้อดีตแกนนาพรรคอนาคตใหม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในช่วงอายุ 18–35 แนะนาให้วิจารณ์คำตัดสินอย่างสุจริต นอกเหนือจากนั้นแล้วเมื่อดูว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มอายุเท่าไรที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองบนถนน พบว่าเป็นกลุ่มช่วงอายุ 18-25 ประมาณ 7% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่กลุ่มช่วงอายุอื่นๆ ให้การสนับสนุนต่ำกว่า 4% และเมื่อวิเคราะห์จากกลุ่มอาชีพ พบว่าเฉพาะพนักงานบริษัทเอกชนและนักเรียนนักศึกษาแนะนำให้แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่วิจารณ์คำตัดสินของศาลอย่างสุจริต แต่อีกหกกลุ่มอาชีพที่เหลือส่วนใหญ่บอกให้เคารพในคำตัดสินของศาล


          ในส่วนของคำแนะนาให้ลงไปชุมนุมบนถนนนั้นพบว่ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาคือกลุ่มใหญ่สุดที่พอใจในวิธีนี้ แต่ก็มีเพียง 10% ส่วนกลุ่มอาชีพอื่นๆ มีไม่ถึง 4% ที่สนับสนุนแนวทางความวุ่นวายนี้ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงเกิดแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยและมีผู้พยายามยุยงให้ลงไปชุมนุมบนถนน แต่ที่เราเห็นการชุมนุมของนักศึกษานั้นไม่ได้หมายถึงนักศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการชุมนุมนะครับ เพราะอีก 90% ไม่สนับสนุนการชุมนุมบนท้องถนน


          อย่างไรก็ตามเมื่อมาพิจารณาในคำถามข้อสอง พบว่าคนไทยส่วนใหญ่เคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หากเป็นไปตามกฎหมาย แต่ประมาณหนึ่งในห้าของประชากรกังวลว่าประเทศกำลังจะเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง


          ในข้อสองถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ติดแฮชแท็กเพื่อต่อต้านรัฐบาลของนิสิตนักศึกษา หลังจากผลการตัดสินวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 61.03 ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย รองลงมาร้อยละ 21.11 ระบุว่า เป็นสัญญาณว่าสังคมไทยจะเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอีกครั้ง ร้อยละ 12.70 ระบุว่า กังวลว่านิสิตนักศึกษาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ร้อยละ 7.78 ระบุว่า กังวลว่าจะมีการยกระดับการชุมนุมจนกลายเป็นการจลาจลแบบในฮ่องกง ร้อยละ 6.35 ระบุว่า เป็นแค่กระแสชั่วคราว และร้อยละ 2.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


          ที่น่าแปลกใจคือประมาณครึ่งหนึ่ง (50%–52% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ 61%) ของกลุ่มผู้มีอายุ 18–25 และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา มองว่าแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย ประเด็นคือกลุ่มคนรุ่นใหม่และนักเรียนนักศึกษาอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ คิดอย่างไรเกี่ยวกับแฟลชม็อบใน


          มหาวิทยาลัย พวกเขากำลังไม่เห็นด้วยหรือไม่สนใจในคำชวนเชิญของแกนนาแฟลชม็อบ ในขณะที่กลุ่มผู้มีอายุ 18–25 (ประมาณ 26%) และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา (ประมาณ 21%) เป็นกลุ่มที่มองเห็นสัญญาณว่าประเทศจะเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอีกครั้ง โดยมีค่าร้อยละที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 21%


          จากผลโพลล์ในข้อนี้และการแตกดูข้อมูลเชิงลึกทำให้สบายใจในระดับหนึ่งว่า คนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนการดำเนินการตามแบบประชาธิปไตยภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ใช่แบบบางพวกที่ไม่เคารพกฎหมาย รวมถึงความพยายามก่อให้เกิดอนาธิปไตยในสังคมไทยเพื่อฉวยโอกาสทางการเมือง ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา น้องๆ เยาวชน ส่วนใหญ่ (ฐานคะแนนเสียงที่สำคัญของอดีตพรรคอนาคตใหม่) ก็ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามกฎหมาย รวมถึงประมาณหนึ่งในสี่แสดงออกถึงความกังวลว่าประเทศจะบอบช้ำหากมีความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง


          การแสดงออกทางการเมืองด้วยแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิเสรีภาพที่กระทำได้ตราบใดที่ยังคงอยู่ในกรอบของกฎหมายและที่สำคัญต้องไม่ละเมิดสถาบัน อย่างไรก็ตามอยากให้นักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่ลองถามตัวเองว่ากิจกรรมทางการเมืองที่กำลังดาเนินการอยู่ทำไปเพื่ออะไร ได้วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนหรือยังว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่สมเหตุสมผลแล้ว ได้เคยอ่านคำพิพากษาคดีอดีตพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินหรือยัง เคยลองเปิดใจกว้างมองเหรียญสองด้านแล้วพิจารณาอย่างไม่มีอคติ ว่าการกระทำของอดีตพรรคอนาคตใหม่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่


          พวกท่านคนรุ่นใหม่ทั้งหลายเคยได้ก่ายหน้าผากคิดอย่างจริงจังหรือยังว่าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาในการเข้าร่วมแฟลชม็อบหรือการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ (ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำโดยเจตนาของเราเองหรือถูกใครยุยงปลุกปั่นให้ทำ) ตัวเรา เพื่อนๆ ครอบครัว มหาวิทยาลัยและประเทศไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงอะไรบ้าง อย่างไรและแค่ไหน และแน่ใจแค่ไหนว่าพวกต้นตอของการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองจะยืนหยัดเคียงข้างเราตลอดไป ไม่ใช่พอเกิดเรื่องก็หนีหายเป็นกลุ่มแรกเลย อย่าลืมนะพวกนี้ยังคงพูดอยู่เสมอว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยหรือการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ฉะนั้นถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาพวกนี้ก็จะตีกรรเชียงหนีทันทีโดยอ้างว่าพูดมาตลอดว่าไม่เกี่ยวด้วย เป็นเรื่องของนักเรียนนักศึกษาเขาทำกันเอง


          แน่นอนทุกๆ คน รวมถึงคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาไม่ชอบให้ใครมองว่ากำลังเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มเพราะการมองเช่นนั้นเหมือนกับการดูถูกดูหมิ่นสติปัญญาและขวางอิสรภาพของพวกเขา แต่ในสังคมไทยเรามีความเชื่ออยู่สองอย่างว่าที่อยากจะนำมาเตือนสติคนรุ่นใหม่ นั่นคือ “เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” และ “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”


          อนึ่ง พระสมชาย ฐานวุฑโฒ ให้ความหมายของคนพาลไว้ว่า คือคนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิดๆ และมีวินิจฉัยเสีย คือไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร...ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้ความสามารถก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถที่ถูกที่ควร...เพราะเขาแสลงต่อความดี เหมือนคนไข้แสลงต่อน้ำเย็น ชนชั้นปัญญาชนกันแล้วทั้งนั้น น่าจะเข้าใจนะครับ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ