ข่าว

5 จังหวัดติดเชื้อ "โควิด-19" ภายในโรงงานมากที่สุด งัด 4 มาตรการเข้มประเมิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนะสถานประกอบกิจการประเภทโรงงานใช้ 4 มาตรการหลักคุมเข้ม "โควิด-19" ย้ำ ทุกโรงงานประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus ส่วนพนักงานประเมินผ่าน ไทยเซฟไทย

17 มิถุนายน 2564 เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน เมื่อเวลา 12.30 น. (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,129 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,991 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 658 ราย จากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 457 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 23 ราย ขณะที่ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 178,861 ราย หายป่วยแล้ว 144,890 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,461 ราย

โควิด-19, โรงงาน, ติดเชื้อ

นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานยังคงพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลายพื้นที่ ซึ่งข้อมูลการแพร่ระบาดในโรงงานขนาดใหญ่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน พบว่า 5 จังหวัดอันดับที่มีรายงานติดเชื้อภายในโรงงานมากที่สุด คือ 1. จังหวัดสมุทรสาคร 91 โรงงาน 2. จังหวัดสมุทรปราการ 41 โรงงาน 3. จังหวัดปทุมธานี 32 โรงงาน 4. จังหวัดชลบุรี 30 โรงงาน และ 5. จังหวัดนครศรีอยุธยา 29 โรงงาน ตามลำดับ

จึงขอความร่วมมือพนักงานทุกคนคุมเข้มการระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการประเภทโรงงาน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม , กระทรวงแรงงาน , กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนด 4 มาตรการหลัก คือ

 

1) มาตรการด้านการป้องกันโรค มีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ ลดความแออัด การเว้นระยะห่าง ติดตามข้อมูลของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการให้ผู้ที่อยู่ในโรงงานปฏิบัติตามมาตรการ

2) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การจัดการขยะมูลฝอย จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม หอพักสำหรับผู้ปฏิบัติงานต้องสะอาด ไม่แออัด และหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม หากมีรถรับ-ส่ง ต้องมีการทำความสะอาด สำหรับการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในโรงอาหาร โดยกำหนดเส้นทางการเดิน จุดนั่ง เดิน ยืนหรือที่พักรอให้ชัดเจน แยกสำรับอาหาร และไม่ใช้แก้วน้ำ จาน ชาม ร่วมกัน

3) มาตรการเสริมสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต้องมีกลไกการจัดการและแผนเมื่อเกิดเหตุ กรณีพบพนักงานติดเชื้อต้องมีการซักซ้อมแผน หากมีแรงงานต่างด้าวต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ต้องเข้มเรื่องการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อ โดยใช้ระบบประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงรายบุคคล กรณีมีรถรับ-ส่ง ให้พนักงานสวมหน้ากากตลอดเวลาเว้นระยะห่างวัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถ และเช็ดฆ่าเชื้อรถหลังใช้งาน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลาง และจุดสัมผัสร่วมให้เปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ เช่น ประตู ก๊อกน้ำ เป็นต้น

4) มาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สั่งการและคำแนะนำ หลังจากนั้นให้พิจารณาปิดพื้นที่หรือสถานที่และทำความสะอาดพื้นผิวทันที ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้ส่งตรวจเชื้อและกักตนเองทันที ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ให้ใช้ Bubble and seal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และให้กระบวนการผลิตสามารถดำเนินการต่อไปได้

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า กรมอนามัยขอความร่วมมือทุกโรงงานประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus (GOOD FACTORY PRACTICE) ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบด้วยมาตรการ และแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงานและแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ โดยให้ผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ สำหรับพนักงานทุกคนยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด คือ D : Distancing เว้นระยะระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น M : Mask wearing สวมหน้ากากตลอดเวลา H : Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมือ อย่างทั่วถึง เพียงพอ T : Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย T : Testing COVID-19 ตรวจเชื้อโควิด-19 และ A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ

อ่านข่าว - ตัวเลขยังสูง "มหาสารคาม" +9 ราย รร.อนุบาล - ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อายุ 6 - 10 ขวบ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ