ข่าว

'จตุพร' เชื่อ การตาย 'บุ้ง' ไม่สูญเปล่า จุดประกายปฏิรูปความยุติธรรม

'จตุพร' ร่วมงานฌาปนกิจ 'บุ้ง ทะลุวัง' เชื่อไม่สูญเปล่า แต่จุดประกายปฏิรูปความยุติธรรม เรียกร้องนายกฯรับผิดชอบ พร้อมปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง

นายจุตพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางร่วมงานฌาปนกิจ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ที่วัดสุธาโภชน์ ลาดกระบัง พร้อมเปิดเผยว่า ส่วนตัว ตนกับพ่อของ น.ส.เนติพรเป็นเพื่อนกัน เรียนมาด้วยกัน และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ฉะนั้นเราต่างมีความเข้าใจในการต่อสู้ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

 

นายจุตพร เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์พฤษภาคมปี 35 ที่มีการอดอหารประท้วงของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ รวมถึงพ่อของบุ้งก็ถูกยิงในเหตุการณ์นั้น ในตอนที่ตนอยู่บนเวที โดยเราก็ต่างเห็นร่วมกันว่า บ้านเมืองควรจะเดินไปในแนวทางที่ถูกต้อง ก่อนจะแยกไปใช้ชีวิตตามวิถีของตัวเอง

สำหรับการเสียชีวิตของบุ้ง เรียกร้องให้ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีลงมารับผิดชอบ เพราะบุ้งเสียชีวิตขณะอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม นายกรัฐมนตรีควรจะแสดงออกเรื่องความรับผิดชอบมากกว่าการแสดงความเสียใจผ่านคำพูด ต้องดำเนินการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อป้องกันเหตุในอนาคต เพราะเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ได้รับความยุติธรรม เพื่อเป็นบรรทัดฐานในวันข้างหน้า

 

และเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะคนอาจจะติดเพียงแค่ท่วงทำนอง แต่ข้อเรียกร้องไม่ใช่เพื่อตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มีหลากหลายกระบวนการ ตั้งแต่ ตำรวจ, ดีเอสไอ, อัยการ, ศาล, ราชทัณฑ์ ไปจนถึงกรมควบคุมประพฤติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกี่ยวกับการยกเครื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับพี่น้องประชาชนได้ ฉะนั้นการตายของบุ้งจะไม่ใช่การตายที่สูญเปล่า แต่จะเป็นคุณูปการของประเทศในวันข้างหน้า เพราะข้อเรียกร้องไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนรวมที่ทุกคนตระหนักแล้วว่า ความยุติธรรมไม่บังเกิด เราจะหาความสามัคคีขึ้นมาไม่ได้ภายในชาติ จึงวาดหวังว่า ข้อเรียกร้องของบุ้งจะสัมฤทธิ์ในวันข้างหน้า เพราะเขาเป็นผู้จุดประกาย

นายจตุพร ระบุว่า คนไทยจำนวนหนึ่งอาจจะไม่เข้าใจและไม่ได้ดูในข้อเรียกร้อง ซึ่งเราเห็นการปราบปรามประชาชน และนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น เทียบไม่ได้กับท่วงทำนองในการแสดงออก แต่ข้อเรียกร้องที่เป็นแกนยังเป็นหลัก และมีความหวังอยู่ เราควรมองปรากฏการณ์นี้ อย่าปล่อยให้มันผ่านไปอย่างไม่มีค่า เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นการจุดประกายอย่างมีความหวังในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

"เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า แต่ชั้นพนักงานสอบสวนตำรวจวันนี้พังพินาศย่อยยับ จะเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ยังไง ก็ควรที่จะต้องมีการปฏิรูป อัยการปฏิรูปไปบ้างแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ ศาลก็ปฏิรูปไปไกลแล้วเพียงแต่กระบวนการต่างๆ ต้องสอดคล้องกัน แม้กระทั่งราชทัณฑ์ ต่างก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น" นายจตุพร กล่าว

 

นายจตุพร กล่าวว่า การดูแลนักโทษเด็ดขาดกับคนที่ไม่ได้เป็นนักโทษ การอำนวยความยุติธรรมมันแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว และความอยุติธรรมมีมากขึ้นเท่าไหร่ ความสงบสุขก็มีน้อยมากขึ้นเท่านั้น และมองว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ควรจะตราเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ปล่อยผู้ต้องขังที่มีแนวความคิดต่างทางการเมืองทุกคน ซึ่งเวลานี้มีอยู่ทุกฝ่าย ทุกคดีความควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะแม้แต่คดีกบฏก่อการร้ายก็ยังนิรโทษกรรมกันได้ เพราะฉะนั้นมาตรา 112 ก็ต้องไปได้พร้อมๆ เช่นกัน เห็นชัดอยู่แล้วว่านักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นยังได้รับการดูแลเหนือกว่าผู้ต้องหาที่ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนเป็นนักโทษ ซึ่งมาตรฐานเป็นคนละเรื่อง แค่จุดสตาร์ทก็เป็นปัญหา “ถ้าเรามีผู้นำที่จิตใจใหญ่ ปลดปล่อยทุกคนออกมาได้ นั้นจะเป็นวันที่เริ่มต้นนับหนึ่งประเทศไทยกันใหม่”

ข่าวยอดนิยม