ข่าว

เปิดปมเตียงผู้ป่วยโควิด-19 สรุปพอหรือไม่พอกันแน่ เปิดปัญหาทำไมโทรเบอร์ฉุกเฉินไม่ติด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(20 เม.ย.2564) รายการ "โหนกระแส" ทางช่อง 3 HD เปิดปมเตียงผู้ป่วยโควิด-19 สรุปพอหรือไม่พอกันแน่ เปิดปัญหาทำไมโทรเบอร์ฉุกเฉินไม่ติด

(20 เม.ย.2564) รายการ "โหนกระแส" ทางช่อง 3 HD โดยผู้ดำเนินรายการหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย พูดคุยกับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รวมถึง ร้อยตำรวจเอก พงศกร  ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับประเด็นโควิด-19 เรื่องของเตียงผู้ป่วยสรุปแล้วพอ หรือ ไม่พอ หลังประชาชนประสบกับปัญหาเรื่องการจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วย และเบอร์โทรสายด่วนนั้นโทรไม่ติด สายไม่ว่าง

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ ได้ชี้แจงเรื่องเตียงผู้ป่วยโควิด-19 หลังผู้ป่วยหลายคนร้องเรียนมาเยอะมากๆ และประสบกับปัญหาการจัดหาเตียง ซึ่งอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ยกสไลด์ประกอบ ระบุว่า สำหรับการบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับปัญหาเตียงไม่พอ 

 

จริงๆ แล้วผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้นอน รพ. ไม่ได้หมายความว่าเตียงไม่พอ ปัญหาคือ การตรวจแลปเอกชน ไม่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล , โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ขยายเตียง , การค้นหาเชิงรุกพบผู้ป่วยจำนวนมาก , ผู้ป่วยรอฟังผลที่บ้าน ใช้เวลาประสานจัดการเตียง

 

ส่วนแนวทางการบริหารจัดการเตียงรอรับผู้ป่วยโควิด-19

 

1.ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

 

2. รพ.และ แลป เอกชน ที่ตรวจพบโควิด-19 ควรประสานการดำเนินการในเครือข่ายเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกราย

 

อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ขอโทษเรื่องของประชาชนที่โทรเบอร์ฉุกเฉินอย่าง 1668 1669 1330 หลายคนเจอปัญหาสายไม่เคยว่างเลย เรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ บอกว่าเรื่องนี้ต้องกราบขอโทษจริงๆ คู่สายมีจำกัดจริงๆ 

 

เบอร์ 1330 เข้าใจว่ามีประมาณร้อยกว่าคู่สาย ส่วน 1668 ตั้งมาเฉพาะกิจเรามี 20 กว่าคู่สายเปิดมา 10 วัน รับสายไปประมาณ 2-3 พัน ซึ่ง 1 รายไม่ใช่แค่ 5 นาทีกว่าจะถามทั้งหมดใช้เวลา 10-15 นาที และเรามีแบ่งทีมด้วย อันนี้คือหลักการว่าเราให้ท่านโทรเข้ามา 

 

ตอนนี้เราเลยเปิดแอปพลิเคชั่นไลน์ สบายดีบอต โทรไม่ติด เอาข้อมูลไปลงสบายดีบอตก่อน แล้วจะมีคนโทรติดต่อท่านกลับไป ยอมรับคนโทรเยอะจริงๆ อันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหา

 

ส่วนเรื่องเตียง วันนั้นตนบอกมีประมาณ 4,000 เตียงใน กทม. ตอนนี้แถวหน้ามีหมื่นเตียง ธงสีแดงคือเตียงว่าง ข้างหลังมีไอซียู ว่างเกือบทุกอย่าง แต่ประเด็นก็อย่างที่บอกพอคนไข้กลับไปบ้านกว่าจะโทรกว่าจะได้ข้อมูล เราก็ทยอยแก้ปัญหานี่คือหลักการที่เราทำ

 

เปิดปมเตียงผู้ป่วยโควิด-19 สรุปพอหรือไม่พอกันแน่ เปิดปัญหาทำไมโทรเบอร์ฉุกเฉินไม่ติด

 

ทางฝั่งของ ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. ได้ตอบประเด็นคำถาม เกี่ยวกับคนได้รับเชื้อทั้งที่ไปตรวจของทางภาครัฐสุดท้ายบอกรอรถกลับไปรับ และเขารอ 4-5 วันไม่มีใครรับจนเขาต้องนอนเชื้อลงปอดที่บ้านเกิดอะไรขึ้น

 

เรื่องนี้ โฆษก กทม. ก็ได้ลงรายละเอียดเฉพาะพื้นที่ กทม. ยืนยันว่า คนมาตรวจใน รพ.กทม. หรือตรวจเชิงรุกใน กทม. เราจัดหาเตียงให้อย่างช้า 48 ชม. แต่ปัญหาคืออะไร ในเมื่อเตียงก็ว่างคนก็โทรได้ ปัญหามีทั้งหมด 3 ข้อ 

 

1.เรื่องศักยภาพการขนคน ซึ่งในอดีตเวลาเราขนผู้ป่วยฉุกเฉินที่โทรมา 1669 เป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ เราขนได้ 100 คนต่อวัน เฉพาะศักยภาพศูนย์เอราวัณ แต่เนื่องจากปัจจุบันเราเจอผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นทุกวันนี้วันละ 300 กว่าๆราย ทำให้เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการขนคนให้ได้ 300 ราย

 

ตอนนี้เราพยายามเร่งให้สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้านมา รพ.ได้ ซึ่งผู้ป่วยโควิดจะแตกต่างจากผู้ป่วยธรรมดา สมมติเป็นโรคอื่นเรายังขนโดยใช้มูลนิธิได้บ้าง แต่ผู้ป่วยโรคโควิดต้องมีการแบ่งสัดส่วน มีการช่วยเหลือโดยไม่ให้ติดเชื้อ ตอนนี้ท่านผู้ว่าฯ สั่งการ 50 เขต ให้จัดหารถไปรับคนไม่รุนแรง คิดว่าในส่วนโทรมา 1669 หรือตรวจรพ.กทม. หรือส่วนที่เกี่ยวกับ กทม. จะจัดการได้หมด

 

2. ปัญหาใบแล็บ บางคนพอตรวจแล้ว โทรมาแจ้งว่าติดเชื้อ ทางเราต้องขอเอกสารเขาเพื่อดูว่าเขาติดเชื้่อวันไหน รายละเอียดยังไง ซึ่งเขาไม่มีใบแล็บ บางทีเขาไปตรวจแล็บเอกชน บางทีไม่ได้ใช้วิธีการที่รัฐแนะนำ ความแม่นยำคือการแหย่จมูก ถ้ามีคนโทรมาแจ้งว่าติดเชื้อแล้ว ขอให้เขาส่งอีเมล์มาให้ท่าน ตัวนี้่จะช่วยจัดหาเตียงได้

 

3. การปฏิเสธเตียง เป็นปัญหาส่วนน้อยแต่มีบางคนไม่อยากไป เช่น รพ.สนามของ กทม. เพราะบางคนไปดูภาพ รพ.สนามตามต่างจังหวัด เหมือนเข้าค่ายลูกเสือ แต่ กทม. รพ.สนาม ภาพที่เห็นเราเตรียมพร้อมไว้ มีสัดส่วน ยังไม่ได้เริ่มใช้ เราเตรียมไว้สำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด อยากกเรียนว่า รพ.กทม. เราพร้อมรับผู้ป่วย ก็ไม่ได้ลำบากขนาดนั้น เพียงแต่อนาคตถ้ามีแผน สมมติว่า รพ.เหล่านี้เต็ม เราต้องไป รพ.สนาม

 

 

เมื่อถูกถามว่า พูดอย่างนี้จะกลายเป็นว่า รพ.สนามต่างจังหวัดจะดูลำบากหรือไม่ โฆษก กทม. บอกว่า เราจะบอกว่า กทม. แบ่งการรักษาเป็น 3 ขั้น ขั้นแรก เพิ่มศักยภาพโรงพยบาลของเราทุกโรงพยาบาลพร้อมรับผู้ป่วยอยู่แล้ว อุปกรณ์ก็พร้อมทีนี้เราพยายามเพิ่มเตียงใน รพ. ทำให้เตียงใน กทม. ที่เป็น รพ. เหล่านี้สังกัด กทม. มี 1,300 กว่าเตียง รวมถึง รพ.เครือข่ายอีกประมาณ 9,000 กว่าเตียง รวมกันประมาณหมื่น ทั้งหมดสามารถรักษาได้สบาย 

 

ถ้าอนาคตคนเต็ม เราก็ให้คนบางส่วนไปเข้า รพ.สนาม นั่นคืออีกขั้นที่เราเตรียมไว้ และอีกขั้นคือเรื่อง Hospitel ถ้าอนาคตผู้ป่วยมากขึ้น เราต้องเอาคนอยู่ใน รพ.อาการไม่รุนแรง หรือคนอยู่ใน รพ.และรพ.สนาม อาการไม่รุนแรงไปเข้า Hospitel  

 

ตอนนี้ รพ.เอกชน ก็เตรียม Hospitel  พันกว่าๆ แล้ว เฉพาะกทม.อย่างเดียวก็มีพร้อม 400 ถ้าเราเพิ่มศักยภาพ Hospitel  โดยเอาโรงแรมที่พร้อมมาช่วยซึ่งจะช่วยได้มาก อย่าง รพ.สนามภาพที่เห็นมีศักยภาพในกการรับผู้ป่วยประมาณ 400 แต่ถ้าเราเอาโรงแรมที่มี 600 ห้อง ห้องนึงพักได้ 2 คน ก็เท่ารพ.สนาม 3 สนาม สำหรับคนอาการไม่รุนแรง นี่คือการเตรียมการใน กทม. แต่ยืนยันว่าตอนนี้เราอยู่ในขั้นแรก พร้อมอยู่คือการรักษาใน รพ.

 

อ่านข่าว : ดราม่า กรมควบคุมโรคโพสต์คาถาป้องกันโควิด โซเชียลไม่ขำด้วยถามตลกมากเหรอ

 

 
ขอบคุณรายการ โหนกระแส

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ