ข่าว

"บิ๊กตู่" สั่ง "ผู้ว่าฯ" คุมเข้มคนป่วย "โควิด-19" ลอบเข้าไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กตู่" สั่ง "ผู้ว่าฯ" คุมเข้ม คนป่วย "โควิด-19" ลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ รักษาตัว ส่ง ทหาร ช่วยคัดกรอง เผย พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังไม่ครอบคลุม เป็นโรคร้ายแรง ยกระดับไปขั้นที่ 3 เผยต้องเจรจา หลัง จีน ห้ามนำเข้าประเทศ

 

 

          เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมครม. ถึงกรณีชาวจีนที่ป่วยจากโรคโควิด-19 จ้างคนไทยพาลักลอบเข้ามาช่องทางธรรมชาติเพื่อมารักษาในโรงพยาบาลชายแดนไทย ว่า วันนี้ได้สั่งผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว หากใครเกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย อีกทั้งเรามีนโยบายที่รัดกุมตรวจสอบคัดกรองการเข้า-ออก ทุกด่าน อย่างที่ตนย้ำไปแล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ช่องทางธรรมชาติ ย้ำทุกกองกำลังจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองตรวจสอบ ผิดกฎหมายต้องส่งกลับ วันนี้กองทัพบกได้เสริมกำลังทหารไปช่วยคัดกรองด้วย ขณะนี้ได้รับรายงานจากระทรวงสาธารณสุขที่มีการตรวจผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่ก็ยังไม่พบการติดเชื้อ

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

สธ.ถกประเด็นร้อนจ่อประกาศโควิด-โรคติดต่อร้ายแรงที่ 14 

ทวีความรุนแรง จ่อประกาศ"โควิด-19"ระบาดระยะ 3

สาวไทยเล่าประสบการณ์เข้าข่ายป่วยโควิด19 ท่ามกลางความหวาดกลัว

 

          เมื่อถามว่า กรณีที่เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบก้าวกระโดด ในส่วนของไทยจะดำเนินการอย่างไรบ้าง จะถึงขั้นมีมาตรการห้ามคนไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราจึงมีมาตรการรองรับในระยะที่ 3 คำว่าก้าวกระโดดก็คือระยะที่ 1 เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดเกิดขึ้นมีมาตรการอย่างไร คัดกรองอย่างไร ระยะที่ 2 ติดเชื้อมาจากประเทศต้น ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด ตอนนี้เราดำเนินการในระยะที่ 1 และ2 ส่วนระยะที่ 3 มาตรการรองรับกรณีที่มีการแพร่ระบาดของคนในประเทศ วันนี้เราได้มีการประชุมไว้ล่วงหน้าแล้วจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง บางอย่างเข้มงวดมากขึ้น วันนี้มีการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไร โดยให้นำพ.ร.บ.โรคติดต่อ มาดูว่าดำเนินการครอบคลุมหรือยัง ซึ่งครอบคลุมโรคติดต่ออยู่ 13 ชนิด ก็ไม่มีอะไร ไม่ได้ทำให้ทุกคนตื่นตระหนก แต่ควรมีกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น ไม่ได้หมายความว่าให้ประเทศตื่นตระหนก เพราะยังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่กฎหมายต้องให้รัดกุม ทั้งเจ้าหน้าที่ องค์การอาหารและยา (อย.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับการดูแลเพื่อระมัดระวังการแพร่กระจายในประเทศ 
  

          นายกฯ กล่าวว่า หลายคนบอกว่าบิดเบือนจำนวนตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อหรือไม่ วันนี้ยังยืนยันตัวเลขเดิมอยู่ แต่ในส่วนที่ครอบคลุมก็ประมาณ 1,000 คน อยู่ในมาตรการต้องติดตาม ยังตรวจสอบไม่พบ จึงต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน เมื่อถึงระดับนั้น เราต้องมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไป วันนี้หากเราพูดดอะไรไปที่เกินเลยไปมากๆ จะมีผลเสียต่อการเดินทางไปมาหาสู่กัน มีผลต่อการท่องเที่ยว เราก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว แต่เมื่อมีความจำเป็นต่างๆ เราก็ต้องมาตรการรองรับก็ขอให้ทุกคนป้องกัน
  

          เมื่อถามว่า ที่มีข่าวออกมาว่ารัฐบาลเตรียมประกาศโควิด-19 เป็นโรคร้ายแรง จะเป็นการยกระดับไปในขั้นที่ 3 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงไม่ใช่ เป็นเรื่องของการจะประชุมหารือกัน ซึ่งการยกระดับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังมีไม่ครบ จึงต้องหารือว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้สิ่งสำคัญสุดเราต้องเตรียมมาตรการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีการดูแลได้มากยิ่งขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับการผลิตหรือทดลองยาเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็น ไม่ได้หมายความว่ามันมากขึ้น มันคนละประเด็น ขอชี้แจงด้วย อย่าไปบิดเบือนแล้วกัน หลายเรื่องๆบางทีคนไม่เข้าใจ แต่ตนก็ทราบเป็นความหวังดี ตนไม่ว่าหรอกท่านจะคิดอะไรก็ได้ แต่ท่านต้องกรุณาฟัง และหาข้อเท็จจริง หลักการ และเหตุผลมาเสริมด้วย คิดเองเออเองบางทีไม่ได้ ทำงานลำบาก เพราะเราทำงานกับคนหมู่มาก เราต้องคำนึงถึง 68 ล้านคน จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน เพราะไม่ได้ติดโรคกันทุกคน เราก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองดูแล คัดกรองคนที่มีข้อสงสัยว่าจะมีเชื้อ แต่วันนี้เราก็ได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศพอสมควร ในการควบคุม ในการดำเนินการมาตรการต่างๆได้รับการยอมรับจากต่างประเทศหลายประเทศเช่นเดียวกัน    
 

 

          เมื่อถามว่า การเตรียมการไว้เพื่อประกาศมาตรการระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถในการใช้กฎหมายได้เพิ่มมากขึ้นใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หมายถึงว่าให้มีรองรับ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมาในวันข้างหน้าแล้วจะทำอย่างไร ตนพูดถึงเพื่ออนาคตไม่ใช่เพราะวันนี้สถานการณ์รุนแรงขึ้น แต่เหมือนเป็นการป้องกันอย่างโรคซาร์ส โรคเมอร์
  

          เมื่อถามถึงผลกระทบกับผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนที่ส่งไปประเทศจีนไม่ได้ จะมีมาตรการรองรับอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาไม่ให้เอาเข้า แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องเจรจาหารือกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร มีมาตรการอย่างไรก็ต้องหารือร่วมกัน และต้องตรวจสอบว่าจะทำอย่างไรต่อไป ล็อตแรกหากเสียหายจะทำอย่างไร และล็อต 2 ทำอย่างไรจะให้ส่งได้ มันต้องใช้หลักการทางการแพทย์ด้วย ทุกอย่างต้องเจรจาเพราะมีหลายประเทศเกี่ยวข้องด้วยกัน 
  

          นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ปัญหานี้รัฐบาลทราบแต่ก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาและเยียวยาที่เหมาะสม ทุกเรื่องมันได้รับผลกระทบหมด วันนี้หากพ.ร.บ.งบประมาณฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว อะไรๆ ก็คงจะดีขึ้น ทั้งนี้ในการใช้มาตรการต่างๆ เรามีมาตรการเยอะแยะทั้งทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เรื่องฐานรากและเรื่องการดูแลเกษตรกรเกี่ยวกับภัยแล้งที่ต้องรอเงินทั้งหมด วันนี้แผนงานก็เตรียมไว้แล้ว ซึ่งหลังจากการอภิปรายไปแล้วก็คงจะหารือ และมีการประชุมใน ครม. 
 

          "ผมให้ทุกกระทรวงรวบรวมมาให้แล้ว เพื่อให้ตรงกับความต้องการของทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนเฉพาะกลุ่ม เหล่านี้มีหมด ซึ่งต้องใช้เงินมากพอสมควร ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก แต่ก็จำเป็นที่ต้องมีกติกามีกฎหมาย รองรับทั้งหมด ที่สำคัญต้องถึงมือประชาชนโดยตรงให้มากที่สุด" นายกฯ กล่าว

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ