ข่าว

’จุลพันธ์‘ เผย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ส่อเลื่อน ไม่ทันใช้ 1 ก.พ. 67

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

’จุลพันธ์‘ เผย ประชุมอนุกรรมการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เลื่อน จ่อนัดใหม่สัปดาห์หน้า ยันไม่เกี่ยวกับเสียงวิจารณ์ อาจไม่ทันใช้ 1 ก.พ. 2567

วันที่ 19 ต.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่าการประชุมคณะอนุกรรมการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ขอแจ้งเลื่อนออกไป เพราะส่วนงานที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อม หลังจากที่ฝ่ายเลขาฯได้สรุปการประชุมเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงไม่สามารถนำมาเสนอให้คณะอนุกรรมการได้ และกระบวนการทำใช้เวลา จึงต้องชะลอการประชุมออกไปก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่รัดกุม จะได้ข้อสรุปและนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ยืนยันว่าสาเหตุการเลื่อนประชุมนั้นไม่เกี่ยวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มี ในตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะข้อเสนอแนะเหล่านั้นก็ได้นำเอาไปถูก ในชั้นกรรมการ และมีความคืบหน้าเรื่องรัศมีที่ของการใช้เงิน ที่ขยายจากเดิม 4 กิโลเมตรเป็น ตำบล อำเภอ และจังหวัด 

ส่วนเสียงสะท้อนที่ระบุว่า ในบางอาชีพ โดยเฉพาะพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จะต้องลางานไปใช้เงินในภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน จุลพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็ยังรับฟังอยู่ แต่สิ่งที่คิดคือ รัฐบาลพยายามทำให้ทันในช่วงปีใหม่ จะได้มีโอกาสกลับไปใช้เงินยังภูมิลำเนา และ ถ้ามีความจำเป็นอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อาจต้อง "เปิดประตู" เป็นทางเลือกให้ แต่เฉพาะบางกรณีเท่านั้น อย่างเช่นกรณีของผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องสร้างกลไกมารองรับความแตกต่าง และความหลากหลายให้ได้ เป็นภาระของเราที่จะต้องนำกลับไปคิด

เมื่อถามถึงเรื่องการกู้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ ยืนยันว่าไม่ได้พูดคุยในประเด็นนี้ ส่วนที่ นส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.ไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่าประเด็นการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่นั้น รมช.คลัง ระบุว่า ก็เป็นสิทธิ์ที่แต่ละคนจะไปยื่นตรวจสอบ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ จะได้รับการตรวจสอบ และจะได้ดำเนินโครงการนี้อย่างรอบคอบ รัดกุม เพราะยืนยันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมาย และยืนยันว่านโยบายนี้ ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าไม่มีช่องทางทุจริต เพราะเงินทุกบาทถูกกำหนดด้วยบัตรประชาชนของทุกคน ไม่มีใครจะสามารถเอาเงินนี้ไปได้ และหากองค์กรอิสระจะเรียกไปชี้แจง ตนเองก็พร้อมจะไป เพื่อทำความเข้าใจและคลายข้อสงสัย รวมถึงไปฟังข้อเสนอแนะที่จะมีให้ หากส่วนไหนปรับได้ก็พร้อม

 

เมื่อถามว่าอาจมีการฮั้วกับร้านค้า เป็นการฟอกเงินเพื่อแลกเงินในระบบออกมาเป็นเงินสด โดยยอมได้เงินเพียง 7,000 - 8,000 บาทเท่านั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า ประเด็นแรกคือการเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าตังดิจิทัลให้ประชาชน โดยต้องใช้ตามเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ไม่ให้นำไปใช้หนี้ ซื้อสินค้าแอลกอฮอล์ ในระยะรัศมีที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเงินที่เท่ากับเงินบาท หากใครไปยอมแลกจาก 10,000 บาท เหลือ 8,000 บาท ก็ขาดทุนแค่นั้น ซึ่งเชื่อว่าการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกในระบบที่แก้ไขไม่ได้ แอพลิชั่นที่ของรัฐบาลก่อนก็มีกลไกการตรวจสอบเช่นเดียวกัน และเมื่อมีเรื่องทุจริตก็ฟ้องร้องกันไป เช่นเดียวกับเรื่องนี้ ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เรามีความเชื่อมั่น รัฐบาลเตรียมอุดรอยรั่วไว้แล้ว และมีข้อเสนอตั้งคณะอนุกรรมการอีกชุดให้ ติดตามตรวจสอบเรื่องการทุจริตเหล่านี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในนั้นทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอการประชุมก่อน

 

ส่วนแหล่งที่มาของเงินนั้น นายจุลพันธ์ ระบุ อาจไม่ใช่ทางเลือกเดียว ต้องรอดูข้อสรุปอีกครั้ง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีตัวเลือกเดียว อยากให้รอฟังข้อสรุปก่อน ไม่สามารถตอบได้ว่าการกู้ออมสินจะเป็นตัวเลือกหรือไม่

 

ส่วนข้อสงสัยที่มีการตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใช้แอพเป๋าตังที่มีอยู่แล้ว นายจุลพันธ์ ระบุว่า แอพเป๋าตังไม่ใช่ไม่ดี แอพที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ทุกอันก็ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว ซึ่งโครงการนี้มีรายละเอียดของตัวเอง และมีข้อจำกัดรายละเอียดที่ต่างกัน เรามองไปถึงการทำ Super App แต่ไม่ได้หมายความว่าต้นปีจะแล้วเสร็จ แต่มันคือก้าวถัดไป การพัฒนาต่อยอด แอพตัวนี้ต้องเป็นของรัฐบาล ข้อมูล บล็อกเชนก็ต้องเป็นของรัฐบาล เพื่อพิจารณาพัฒนาในมิติต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ไม่สามารถใช่แอพเป๋าตังได้ เพราะคนละธนาคารกับการกู้เงินยากธนาคารออมสิน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อันนี้คิดกันเอง ตนเองไม่รู้จะตอบยังไง มีหลายคำถามที่ยังตอบไม่ได้ เหมือนค่าทำแอพ 1 หมื่น 2 พันล้านบาท ก็ไม่จริง ผมฟังก็ยังตกใจตัวเลข ไม่รู้ที่มาจากไหน ยืนยันว่าเราทำแอพใหม่ ส่วนผู้รับผิดชอบแอพลิเคชั่น มอบหมายให้สมาคมธนาคารของรัฐให้ไปคุยกัน และการพัฒนาต่อยอด Super App เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยมีหลายหน่วยงานที่ถือข้อมูลอยู่คนละส่วน จึงต้องร่วมมือกันในอนาคต

 

ส่วนความมั่นใจในการเริ่มใช้โครงการนี้ยังเป็นกรอบระยะเวลาเดิมหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราตั้งเป้า 1 ก.พ. 67 และพยายามทำตามเป้าหมายเดิม สุดท้ายหากมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่เอาเรื่องความมั่นใจ ความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบ การทดสอบการป้องกันต่าง ๆ ที่ใช้เวลานาน คณะอนุกรรมการ นายกฯ ก็ไม่ไปแลกเรื่องนี้กับความเร็ว

 

“หากไม่ทันจริงๆ ก็เลื่อน ผมพร้อมไปบอกนายกฯ ว่ายังไม่พร้อมจริงๆ ยืนยันว่า เราได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ตั้งคณะอนุกรรมการ หาข้อสรุปให้คณะกรรมการ หรือถ้าหาข้อสรุปไม่ได้ก็เสนอตัวเลือกให้กับคณะกรรมการตัดสินใจ” นายจุลพันธ์ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ