ข่าว

สว.กิตติศักดิ์ ห่วง 'เศรษฐา' แห้วกระป๋อง แนะจับตา อนุทิน - พล.อ.ประวิตร

สว.สายเดือด กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ชี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทย "เศรษฐา" เจอมรสุมจากสุดยอดนักแฉ "ชูวิทย์   กมลวิศิษฎ์ " ร่วมด้วยนักร้อง "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ส่งผลให้การโหวตนายกรัฐมนตรีผ่านเสียงสว.ต้องคิดหลายตลบ เกรงท้ายที่สุด อนุทิน หรือ พล.อ.ประวิตร คั่วแทน

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา   (สว. )  เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา  ทวีสิน  ที่กำลังถูกตรวจสอบทางด้านจริยธรรม และความเหมาะสม  ทั้งจากนายชูวิทย์   กมลวิศิษฎ์   และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ   ทำให้เกรงว่าถึงที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทย  จะไม่ประสบความสำเร็จ ต่อการเสนอชื่อนายเศรษฐา โหวตนายกรัฐมนตรี      หากเป็นไปภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว 

 

 

 


เมื่อพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถนำจัดตั้งรัฐบาลได้  ต่อการเสนอชื่อนายเศรษฐา ก็จะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองลำดับที่ 3 และลำดับที่ 4 ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ   ที่จะมีการเสนอชื่อเข้ามาอย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเสนอชื่อบุคคลใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องผ่านการตรวจสอบจาก สว.ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด 

"กระแสข่าวที่สว. อาจไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี รู้สึกหนักใจแทน   เพราะทั้งนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ   ต่างออกมาเปิดเผย และร้องเรียนนายเศรษฐา ในหลายกรณี ดังนั้น สว.จึงต้องมีการพิจารณาถึงคุณสมบัติ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างรอบคอบ แม้จะดีที่สุดไม่ครบ 100% แต่ก็จะต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง "

 

 

 


เขา  กล่าวว่า    คาดการณ์แนวทางการในลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ว่า ในการลงมติครั้งนี้ น่าจะมีผู้ที่ลงมติเห็นชอบ และไม่เห็นชอบเท่านั้น สว.ที่จะลงมติงดออกเสียงน่าจะน้อย  ส่วนแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยยังคงไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลนั้น มองว่า ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองจะไปหารือกัน แต่เชื่อว่า การปฏิบัติหน้าที่ไม่น่าจะถึงครบ 4 ปี และมีหน้าที่หลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็จะยุบสภาไปในที่สุด