ข่าว

ธีระชัย อดีตรมว.คลัง ถามก๊าซล้นตลาด ใครต้องรับผิดชอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" อดีตรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กถาม "ก๊าซล้นตลาด ใครต้องรับผิดชอบ"

 

 

 

              20 ธ.ค.2562-นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของน.ส.งสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala โดยมีเนื้อหาระบุว่า "ก๊าซล้นตลาด ใครต้องรับผิดชอบ"

           มีใครสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมข้าราชการมักจะเอื้อประโยชน์แก่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่? เป็นเพราะมีข้าราชการระดับสูงไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเหล่านี้ หรือไม่?

            กพช.ที่ลุงตู่เป็นประธาน ได้กลับมติ ให้ กฟผ. ยกเลิกการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี อ้างว่า จะทำให้ก๊าซล้นตลาด
 

 

 

 

ธีระชัย อดีตรมว.คลัง ถามก๊าซล้นตลาด ใครต้องรับผิดชอบ

 

 

ถามว่า ทำไมก๊าซจึงล้นตลาด?

สมมุติว่า ผมเป็นบริษัทเอกชนที่ผูกขาดเป็นตัวกลางนำเข้าก๊าซอยู่คนเดียว ในเมื่อผมทราบว่าทางการจะเปิดเสรี ผมก็จะไม่ซื้อโดยทำสัญญาระยะยาวเกินไป เพราะต่อไปโรงไฟฟ้ารายใหญ่ก็ย่อมจะนำเข้าเอง
ผมจึงจะต้องระมัดระวังไว้ก่อน และจะซื้อในตลาดจร หรือทำสัญญาเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ถ้าหากผมรู้ว่าข้าราชการจะช่วยหนุน ผมจะทำสัญญาซื้อระยะยาวยาวถึง 15 ปี แม้จะมีเงื่อนไข Take or Pay (กำหนดว่า ถ้าผมซื้อไม่ถึงปริมาณขั้นต่ำ ผมก็จะต้องจ่ายตามขั้นต่ำ) เพื่อผมจะอ้างต่อรัฐบาลว่า การที่ผู้ใช้นำเข้าเอง จะทำให้ก๊าซล้นตลาด และผมจะได้รับความเสียหาย ซึ่งถ้ารัฐบาลเห็นด้วย ก็จะทำให้ผมครองอำนาจผูกขาดก๊าซนำเข้าไปอีก 15 ปี


ถามว่า สภาวะก๊าซล้นตลาด กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องทำอย่างไร?
ตอบว่า รัฐบาลจะต้องไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ถ้ารัฐบาลปกป้องอำนาจผูกขาดให้แก่ผม จะทำให้รัฐเสียหาย และเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ


ถามว่า ถ้าหากผมไม่ใช่บริษัทเอกชน 100% แต่มีรัฐถือหุ้นอยู่ 51% รัฐบาลจะยังมีความผิดหรือไม่?
ตอบว่า ยังผิด เพราะทำให้เอกชน 49% ได้รับประโยชน์ ส่วน กฟผ. ซึ่งรัฐถือหุ้น 100% เสียประโยชน์
อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 มีข่าวประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวต่อสื่อ แนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซจะให้แบ่งเป็น 2 ส่วน ก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้าหลัก(หมายถึง กฟผ.) จะให้ ปตท. คงหน้าที่เป็นผู้จัดหา อ้างว่าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ส่วนถ้าจะยังมีความต้องการเพิ่มเติมจากนั้น จึงค่อยเปิดแข่งขันเสรี

 

ถามว่า การอ้างเช่นนี้ ถูกกฎหมายหรือไม่?
ตอบว่า เป็นการเลือกปฏิบัติฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 และไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดตามมาตรา 164(1) เช่นกัน เพราะการที่ กฟผ. ทำสัญญาซื้อจากต่างประเทศโดยไม่ผ่าน ปตท. ไม่ได้ทำให้ความมั่นคงทางพลังงานลดลง แต่ กฟผ. ซื้อได้ถูกลง เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนต่างให้แก่ตัวกลาง ก็จะประหยัดแก่รัฐอีกด้วย

 

ส่วนข้ออ้างหากเกิดภาวะสงคราม ก็ไม่ถูกต้อง เพราะการขนส่งจากมาเลเซียมีความเสี่ยงน้อยกว่าจากตะวันออกกลางเสียอีก และข้อกังวลว่าที่ กฟผ. นำเข้า จะทำให้ ปตท. ลดการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ก็ไม่จริง
เพราะต้นทุนก๊าซอ่าวไทยต่ำกว่านำเข้า ดังนั้น ในสภาวะล้นตลาด ปตท. ก็ย่อมจะเจรจายกเลิกสัญญา 15 ปี หรือวิ่งขายก๊าซที่จองไว้ให้แก่ผู้อื่นในตลาดสากล ก่อนที่จะลดการผลิตในอ่าวไทย
เหตุผลที่อ้าง จึงฟังไม่ขึ้น

และขอให้ท่านนายกฯ ที่มีประชาชานั่งอยู่ในหัวใจ ควรพิจารณาว่า เป็นหมากกลของข้าราชการ ที่มีผู้ถือหุ้นนั่งอยู่ในหัวใจ หรือไม่?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ