ข่าว

นัก ก.ม. เห็นต่างชี้ ต้องเลิกตรวจร่างคำพิพากษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักกฏหมาย​ เห็นต่าง ปมตรวจร่างคำพิพากษาคดี ชี้ต้องเลิกเพื่อความโปร่งใส

สำนักข่าวเนชั่น - ขนิษฐา เทพจร

มธ.ท่าพระจันทร์ - 11 ตุลาคม 2562 - "นักกฏหมาย"​ เห็นต่าง ปมตรวจร่างคำพิพากษาคดี ชี้ต้องเลิกเพราะไม่โปร่งใส หวั่นกระทบสิทธิมนุษยชน ด้าน "สมลักษณ์" ยันต้องตรวจ เหตุอาศัยความอาวุโสในการทำงาน ระบุกรณี "คณากร"​สร้างความสะเทือนใจ แต่งง ทำไมไม่หาวิธีประณีประนอม ด้าน "ทนายคนใต้" แนะให้ทบทวนใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนเอาผิด "จนท.รัฐ" หากพบการกระทำความผิด 

 

 

    ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์​ เครือข่ายนักกฎหมาย ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ จัดเสวนา เรื่อง คืนคำพิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน โดยมีนักกฎหมาย ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมเวที

        โดยนางสมลักษณ์​ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกา และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวต่อประเด็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กับระเบียบการส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ กล่าวว่า   กรณีนายคณากร ถือว่าเป็นเรื่องสะเทือนใจ ที่ตนสงสัยว่าเกิดเรื่องอะไรกับวงการศาลยุติธรรม ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นมีระบบและระเบียบที่บังคับใช้ รวมถึงให้ความเคารพในหลักการอาวุโส กรณีที่สื่อมวลชนกล่าวถึงศาล ตนขอตักเตือน ว่าหากไม่ทราบข้อเท็จจริงในระบบศาล เช่น องค์คณะ, ระดับศาล, ผู้บังคับบัญชา, การแทรกแซงความอิสระของศาล ซึ่งเป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมควรศึกษารายละเอียด ทั้งนี้การส่งร่างคำพิพากษาไปยังอธิบดีศาล เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 และมาตรา 13 กำหนดให้หน้าที่ ผู้บังคับบัญชาในศาลแต่ละชั้น สามารถตรวจสำนวนและให้ความเห็นแย้งได้

นัก ก.ม. เห็นต่างชี้ ต้องเลิกตรวจร่างคำพิพากษา

       "แม้อธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่ถือเป็นองค์คณะในสำนวนหากประสงค์เห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญ พยานหลักฐานมาก และเป็นที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมได้แม้ไม่เป็นองค์คณะ หรือแม้ไม่เห็นด้วย สามารถทำความเห็นแย้งได้ ทั้งนี้งงอยู่เหมือนกันว่าเกิดได้อย่างไร แต่ทราบอยู่ว่ามีความขัดแย้งระหว่างเจ้าของสำนวน และอธิบดีผู้พิพากษาภาค ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับที่หลายคนบอกว่าไม่ควรให้ตรวจร่างสำนวน เนื่องจากผู้พิพากษาบางคนไม่รอบรู้ทุกเรื่อง ส่วนผู้พิพากษาระดับอธิบดีผู้พิพากษาภาค ถือเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่มีประสบการณ์มาก ดังนั้นคนที่ทำงานน้อยกว่า ความรอบรู้และรอบคอบ อาจจะมีน้อยกว่าคนที่ทำงานมานาน อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นต้องมีผู้อาวุโส แต่ไม่ทราบว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค9 พูดหรือเขียนแย้งอะไร ที่บีบบังคับ แต่เชื่อว่าผู้พิพากษาผู้ใหญ่ทุกคนรู้ดีในหลักการปฏิบัติที่ต้องไม่ก้าวก่ายในการใช้ดุลยพินิจและความอิสระของผู้พิพากษา ตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 118 กำหนดไว้" นางสมลักษณ์ กล่าว

       ส่วน นายรณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อประเด็นหลักการรับฟังพยานหลักฐานของผู้พิพากษาในคดีอาญา ตอนหนึ่งว่า ในการโต้แย้งร่างคำพิพากษาของนายคณากร เป็นเอกสารทางการที่เป็นความลับภายใน ซึ่งลงนาม โดย อธิบดีผู้พิพากษาภาค, รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค และหัวหน้าคณะ ดังนั้นไม่ใช่เป็นการแอบส่งจดหมาย ดังนั้นในประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา คือ นิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหาร แต่ปัจจุบันเทรนด์โลกมองประเด็นความอิสระของผู้พิพากษาภายในองค์กรร่วมด้วย

นัก ก.ม. เห็นต่างชี้ ต้องเลิกตรวจร่างคำพิพากษา

      "กรณีที่ผู้พิพากษาผู้ใหญ่แทรกแซง เท่ากับการละเมิดสิทธิ ผมไม่ได้บอกว่า การที่ระบบพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไทย ให้มีการรีวิวคำพิพากษา ไม่ได้บอกว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับระบบปัจจุบันที่มีการรีวิวคำพิพากษา เพราะแสดงความไม่ไว้ใจผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกว่า โดยนายคณากรทำงานมาถึง 17 ปี หากไม่สามารถไว้ใจได้ แสดงว่าระบบศาลยุติธรรมมีปัญหา ทั้งนี้ผมสนับสนุนให้ยกเลิกระบบรีวิว เพราะไม่โปร่งใสในหลักการทั่วไป แต่หากยกเลิกไม่ได้ ต้องไม่รีวิวข้อเท็จจริงและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะโต้แย้งประเด็นใดบ้าง" นายรณกรณ์ กล่าว

       ขณะที่ นายอับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวต่อประเด็นภาพรวมสถานการณ์กฎหมายพิเศษ กับกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า คดีความมั่นคงจะใช้วิธีการซักถาม กรณีผู้ที่ต้องสงสัยตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ในค่ายทหารและทำรูปแบบผลการซักถาม เหมือนกับการให้การชั้นสอบสวน ขณะที่อำนาจการควบคุมตัวสามารถควบคุมได้ 7 วันตามกฎหมายกฎอัยการศึก แต่หากจะควบคุมตัวต่อต้องร้องขอจากศาล ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามในข้อสังเกตเฉพาะตัวเมื่อมีการก่อเหตุจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่จับจ้อง ฐานะผู้ต้องสงสัย และเมื่อซักถามจนพบข้อเท็จจริง จึงขอหมายศาลเพื่อควบคุมตัวต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยใช้เวลาเต็มจำนวน คือ 30 วัน และไม่ให้ญาติผู้ต้องสงสัยเข้าเยี่ยม ฐานะตนเป็นนักกฎหมายไม่ใช่กระบวนการของการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา ที่ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน โดยมีนักปกครองร่วมด้วย แต่กรณีที่ตนพบคือเป็นการดำเนินการโดยฝ่ายทหาร โดยไม่มีหลักเกณฑ์การควบคุมตัวที่ชัดเจน และยังพบข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีการซ้อมทรมาณเมื่อถูกคุมตัวอยู่ภายในด้วย

      "ส่วนใหญ่แทบทุกคดีใช้กฎหมายพิเศษ ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า คดีใดควรใช้หรือไม่ควรใช้ เช่น เหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีคนนบอกว่า ไม่รู้ว่าใครทำ ใครเป็นผู้ร้าย อาจจะใช่หรือไม่ใช่กระบวนการก็ได้ หรือไม่ใช่คดีความมั่นคง เป็นเพียงคดีอาญาเท่านั้น แต่พบว่าการตรวจสอบใช้กฎหมายพิเศษนำหน้าไปแล้ว ผมมองว่าหากไม่ใช่คดีความมั่นคง และนำบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องคดีความมั่นคงไปดำเนินคดี เท่ากับประชาชนต้องรับกรรม ขณะที่การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีที่มีผู้ตายในค่ายทหาร ไม่พบการชนะคดีแม้แต่คดีเดียว" นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว

      นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวด้วยว่า ในมุมมองของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีนั้น เชื่อว่าไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รับสิทธิพิเศษ เมื่อทำผิดต้องถูกลงโทษเหมือนบุคคลทั่วไปเช่นเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ