ข่าว

คปต.จี้ 'นายกสภาจุฬาฯ' ตรวจสอบ 'อธิการบดีจุฬาฯ' เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 157

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระอุ ปม รักษาการอธิการบดี มสธ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คปต.จี้นายกสภาจุฬาฯ ตรวจสอบ 'อธิการบดีจุฬาฯ' เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 157 การยืมตัวข้าราชการจุฬาฯ ไปรักษาการอธิการบดี มสธ. นานกว่า 2 ปี รับเงิน 2 ทาง ส่อผลประโยชน์ขัดกัน ไร้ธรรมาภิบาล หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ได้ยืนหนังสือถึง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ขอให้ตรวจสอบกรณีเชื่อว่า อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามกฎหมายอื่น สรุปสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

 

คปต.จี้ \'นายกสภาจุฬาฯ\' ตรวจสอบ \'อธิการบดีจุฬาฯ\' เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 157

 

ประการที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

 

 

ประการที่ 2 ตามหนังสือ ที่ นร ๐๒๐๕/ว ๗๓ คณะรัฐมนตรีลงมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ต่อไปหากมีความจำเป็นต้องขอยืมตัวข้าราชการผู้ใดไปช่วยราชการที่ใด ก็ให้เสนอขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เป็นการเฉพาะราย

 

 

ประการที่ 3 หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง ซักซ้อมแนวปฏิบัติในการขอยืมตัวข้าราชการไปช่วยราชการ ลงวันที่ 22 กันยายน 2559 ถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ 30 เมษายน 2545 ขอซักซ้อมแนวปฏิบัติในเรื่องการยืมตัวข้าราชการไปช่วยราชการเพื่อให้เป็นไปในแนวเดียวกันและเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติราชการ ดังนี้

1.การขอยืมตัวข้าราชการให้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก โดยกำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

 

2.สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการขอยืมตัวข้าราชการไปช่วยราชการ จะต้องพิจารณาผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของต้นสังกัดและแนวทางการบริหารจัดการ หากยินยอมให้ข้าราชการไปช่วยราชการ โดยต้องไม่เป็นผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังหรือมีผลกระทบต่อนักศึกษาและงบประมาณ

 

3.ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความประสงค์จะขอยืมตัวข้าราชการจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นไปช่วยราชการ ทำหนังสือขออนุมัติต่อเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขอยืมตัวพร้อมหนังสือให้ความยินยอมจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดของผู้ที่จะไปช่วยราชการ ซึ่งมีรายละเอียดการพิจารณาตามข้อ2

 

4.การส่งตัวข้าราชการไปช่วยราชการ ให้มีคำสั่งให้ไปช่วยราชการได้ ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาแล้ว และเมื่อครบกำหนดเวลาการยืมตัวหรือเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ให้ข้าราชการที่ไปช่วยราชการรายงานตัวต่อสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดโดยทันที และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบด้วย (เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันคือ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

 

 

ประการที่ 4 ประเด็นแห่งเรื่องคือ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีคำสั่งที่ 28/2564 แต่งตั้ง รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา กรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยราชการเป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบันนานกว่า 2 ปี แล้ว 

 

 

ทั้งที่ นายกสภามสธ.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการทำหนังสือขอยืมตัว เพราะไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการ โดยปรากฏข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและหนังสือซักซ้อมการยืมตัวข้าราชการราย รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ดังนี้

 

1. อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิได้กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้นตามที่ระบุไว้ในหนังสือซักซ้อมแนวปฏิบัติ กล่าวคือ มิได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้แน่นอนว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้ยืมตัว รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา เป็นเวลาที่จำกัดและตามที่จำเป็นเท่าใด

 

 

2. อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อจุฬาฯเมื่อรศ.ดร.มานิตย์ ต้องมีภาระงานและได้รับมอบหมายงาน ทั้งต้องอุทิศตัวต่อการทำงานให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีที่ไปดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)อีกตำแหน่งในคราวเดียวกัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี โดยเฉพาะการเป็นผู้บริหารของมสธ. ย่อมทำให้ไม่สามารถรับภาระงานและรับมอบหมายงานจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อย่างเต็มที่ ในทางกลับกัน หากรศ.ดร.มานิตย์ จุมปา เอาเวลาของการเป็นผู้บริหารมสธ.ไปปฏิบัติหน้าที่ให้กับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา อาจบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(อธิการบดี มสธ.) และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดผลประโยชน์กัน

 

 

3. ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มสธ.มิได้ทำหนังสือขออนุมัติปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการยืมตัว พร้อมหนังสือความยินยอมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้นสังกัด

 

 

4. ตามหนังสือซักซ้อมแนวปฏิบัติการยืมตัวข้าราชการ การส่งตัว รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ไปช่วยราชการมสธ.จะกระทำได้ ต่อเมื่อรับอนุมัติจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แล้วเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงกรณีนี้ การส่งตัว รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา นั้น อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กระทำไป โดยยังไม่ได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่อย่างใด

 

 

5. ดังนั้น การที่อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามอนุมัติให้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ไปช่วยราชการมสธ. ไม่กำหนดระยะเวลาของการยืมตัว ให้เหมาะสมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยยังไม่ขาดจากอัตราเดิมและยังสามารถรับเงินเดือนตามเดิม ทั้งที่รู้ดีว่าการไปทำหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต้องทำงานประจำเต็มเวลา และยังไม่สามารถรับภาระงานและได้รับมอบหมายงานจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานต้นสังกัด คือ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อย่างเต็มที่เหมือนที่เคยทำอยู่ก่อนในช่วงที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างเดียว จึงเชื่อว่าอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

6. มีหลักฐานที่เชื่อว่าอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกระทำการในทางที่ส่อต่อการขัดหลักธรรมาภิบาล ตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 เพราะการที่รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา รับเงินเดือนตอบแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกเดือนจำนวนไม่น้อย เวลาเดียวกันนั้นก็ยังได้รับค่าตอบแทนจากมสธ.อีกเดือนละ 221,800 บาท จึงเป็นการรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนสองทางพร้อมกัน ซึ่งเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

 

 

ทั้งหมดนี้ จึงเชื่อว่า “อธิการบดีจุฬาฯ” เข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความผิดวินัยข้าราชการ ฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้ยืมตัวข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีและหนังสือซักซ้อมแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งน่าจะเข้าข่ายกระทำความผิด มาตรา 9 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และมาตรา 3/1 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ฐานไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลข้อป้องกันผลประโยชน์ขัดกัน โดยการยอมให้รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ได้รับค่าตอบแทนจากทั้งจุฬาฯและมสธ.พร้อมๆกัน ซึ่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ต้องควบคุมและตรวจสอบตามกฎหมาย

 

ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬ่าฯ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์  อธิการบดีจุฬาฯ

 

อนึ่ง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์  ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสมัยที่ 2 และจะครบวาระกลางเดือนพฤษภาคม 2567 ส่วน ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ดำรงตำแหน่งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น 2 สมัย เช่นกัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ